backup og meta

อาการคนท้อง สัญญาณแปลก ๆ ที่ไม่บอกก็ไม่รู้ว่าคุณ ตั้งครรภ์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 01/04/2023

    อาการคนท้อง สัญญาณแปลก ๆ ที่ไม่บอกก็ไม่รู้ว่าคุณ ตั้งครรภ์

    ประจำเดือนไม่มา เต้านมคัด หรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา เป็น อาการคนท้อง ที่สาวๆ หลายคนรู้ แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีสัญญาณการตั้งครรภ์แปลกๆ อีกมากมาย ที่คุณอาจคาดไม่ถึงและไม่รู้ว่าหากมีอาการเหล่านี้ อาจหมายถึงคุณกำลังตั้งครรภ์ อยู่ก็เป็นได้

    อาการคนท้อง ที่คุณอาจคาดไม่ถึง

    1. มีของเหลวไหลออกมาจากช่องคลอด

    หากมีเมือกลักษณะคล้ายตกขาวไหลออกมาจากช่องคลอด เช่น เมือกสีเหลืองอ่อน เมือกเหนียว ๆ สีขาว อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังตั้งครรภ์อยู่ก็ได้ เนื่องจากเวลาตั้งครรภ์ฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลง ทำให้มดลูกเปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงอาจมีเมือกที่คล้ายตกขาวไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติไม่ใช่อาการรุนแรงแต่อย่างใด แต่หากมีอาการติดเชื้อในช่องคลอด หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

  • อวัยวะเพศมีกลิ่น
  • รู้สึกแสบที่อวัยวะเพศ
  • คันอวัยวะเพศ
  • ตกขาวเป็นสีเขียวอมเหลือง
  • 2. ตัวร้อน

    เวลาที่ผู้หญิงเกิดภาวะตกไข่ อุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้น และจะเป็นแบบนี้จนกระทั่งมีประจำเดือนในครั้งถัดไป แต่ถ้าอุณหภูมิในร่างกายสูงนานกว่า 2 สัปดาห์ อาจหมายความว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ วิธีสังเกตอาการคือ คุณอาจรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ ตัวรุม ๆ อาการเหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เนื่องจากการตั้งครรภ์

    3. ปัสสาวะบ่อย

    ถ้าพบว่าตัวเองเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ นี่อาจเป็นสัญญาณของอาการคนท้องก็เป็นได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะบ่อย อาจเป็นเพราะฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (HCG Hormone) ที่กระตุ้นให้คุณปัสสาวะบ่อยขึ้น นอกจากนี้ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัสสาวะบ่อย คือ เมื่อเวลาผ่านไปมดลูกจะขยายตัวเพื่อการตั้งครรภ์ ทำให้มดลูกกดเบียดกระเพาะปัสสาวะส่งผลให้ต้องปัสสาวะบ่อยขึ้นได้

    4. วิงเวียน อาเจียน คลื่นไส้

    ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ผู้หญิงมากกว่า 50% จะรู้สึกวิงเวียน คลื่นไส้ และอาเจียน แต่บางคนก็ไม่มีอาการคนท้องจนกระทั่งถึงอายุครรภ์ 2 สัปดาห์ หรือ 2 เดือน ถึงจะมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ เพราะร่างกายมีฮอร์โมนแห่งการตั้งครรภ์สูง อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การตั้งครรภ์จะทำให้ความดันเลือดต่ำลง จึงทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ ข้อควรระวังคือ หากมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด และมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย นี่อาจเป็นอาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) หรือภาวะที่ไข่ที่ปฏิสนธิกับอสุจิแล้ว ไปฝังตัวนอกมดลูก ซึ่งควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อให้วินิจฉัยและรักษาอาการต่อไป

    5. ท้องผูก หรือมีปัญหากับการขับถ่าย

    เวลาตั้งครรภ์กระบวนการย่อยอาหารจะช้าลง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิงตั้งครรภ์นั้นจึงอาจเป็นเหตุให้เกิดอาการท้องผูก ถ่ายลำบากมากขึ้น การกินอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์ อย่างผัก ผลไม้ และการดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ก็จะช่วยแก้ปัญหาท้องผูก และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น

    6. มีเลือดออกจาง ๆ

    ประมาณ 25%-40% ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ จะมีเลือดออกเล็กน้อย หรืออาจสังเกตเห็นเลือดเป็นจุดๆ บนกางเกงชั้นใน เลือดออกอาจเกิดขึ้นได้เมื่อตัวอ่อนฝังตัวในผนังมดลูก หรือที่มักจะเรียกกันว่าเลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation Bleeding) หมายถึงภาวะที่มีเลือดออกมาจากช่องคลอด เนื่องจากตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูก โดยอาจเกิดขึ้น 2 สัปดาห์หลังจากตั้งครรภ์

    7. เป็นหวัด

    การตั้งครรภ์ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง นั่นหมายความว่า คุณมีแนวโน้มที่จะไอ เป็นไข้หวัด หรือเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้หญิงตั้งครรภ์จะมีอาการไข้หรือเป็นไข้หวัดใหญ่ก่อนตั้งครรภ์ ให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อรักษาอาการป่วย นอกจากนี้ ผู้หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงมากจากการเป็นไข้หวัดใหญ่ เทียบกับก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ทุกรายจึงมีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี

    8. มีอาการกรดไหลย้อน

    ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงตั้งครรภ์ ส่งผลกระทบกับอวัยวะในร่างกายหลายส่วน รวมถึงทำให้กล้ามเนื้อหูรูด (Valve) ที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารจะคลายตัว ในช่วงตั้งครรภ์ ร่วมกับการตั้งครรภ์ที่ทำให้มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นและกดเบียดไปที่กระเพาะอาหารมากขึ้น ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนมาที่หลอดอาหาร เป็นเหตุให้เกิดอาการกรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก แต่คุณก็สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการกินอาหารมื้อเล็ก ๆ แต่กินหลายมื้อ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีฟองแก๊ส น้ำผลไม้ และอาหารรสเผ็ด รวมทั้งไม่นอนทันทีภายหลังจากรับประทานอาหาร หรือการนอนยกหัวสูงมากขึ้นในขณะตั้งครรภ์ไตรมาสที่สามเป็นต้นไป เหล่านี้ก็จะช่วยทำให้ลดโอกาสการเกิดหรือลดความรุนแรงของอาการกรดไหลย้อนได้

    9. อารมณ์แปรปรวน

    ขณะตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก โดยคุณอาจจะรู้สึกว่าอารมณ์อ่อนไหวผิดปกติ รวมถึงอารมณ์ทางเพศก็จะเปลี่ยนแปลงไปมา จากร้อนเป็นเย็นจากนั้นกลับมาร้อนอีกครั้ง คุณอาจจะมีอารมณ์แปรปรวน ขึ้น ๆ ลง ๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ซึ่งเป็นอาการปกติเนื่องจากการตั้งครรภ์

    10. มีรสชาติของโลหะในปาก

    การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้หญิงตั้งครรภ์หลายคนรับรู้รสชาติได้ไม่เหมือนเดิม มักมีอาการที่เรียกว่า “Dysegusia หรือการที่ผู้หญิงตั้งครรภ์รับรู้รสของโลหะในปาก โดยคุณจะรู้สึกเหมือนกำลังเคี้ยวเหรียญเก่า ๆ วิธีบรรเทาอาการ คือ ให้เคี้ยวเกลือ หรือเคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาล รวมถึงดื่มน้ำเย็น หรือกินอาหารรสเผ็ดก็จะช่วยได้

    11. เต้านมเกิดการเปลี่ยนแปลง

    เต้านมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงสัปดาห์ที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ หากคุณตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้หน้าอกของคุณนุ่มและบวมขึ้น ซึ่งเมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง อาการเหล่านี้ก็จะหายไปภายในเวลาสองสามสัปดาห์หลังจากนั้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของหัวนมและเต้านมอาจเกิดขึ้นประมาณช่วงสัปดาห์ที่ 11 ฮอร์โมนจะทำให้หน้าอกใหญ่ขึ้น บริเวณหัวนมมีสีเข้มขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้น

    12. จมูกไวต่อกลิ่น

    หนึ่งในสัญญาณของการตั้งครรภ์คือ คุณจะไวต่อกลิ่นอาหาร และอาจรู้สึกเหม็นกลิ่นอาหารจนไม่สามารถกินได้ โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอาการไวต่อกลิ่นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ได้แก่ รายงานในปี 1922 ถึงปี 2014 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการได้กลิ่นกับการตั้งครรภ์ ผลการศึกษาพบว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ในช่วงแรกจะรับกลิ่นได้ชัดเจนและรุนแรงขึ้น ซึ่งการไวต่อกลิ่นอาจส่งผลทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและอาเจียน รวมถึงอาการเหม็นกลิ่นอาหารจนไม่สามารถกินอาหารได้ แม้จะไม่เคยเป็นมาก่อนก็ตาม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 01/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา