backup og meta

ทารกไม่ชอบนอนเปล เป็นเพราะอะไร แก้ไขอย่างไรดี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 10/06/2022

    ทารกไม่ชอบนอนเปล เป็นเพราะอะไร แก้ไขอย่างไรดี

    ทารกไม่ชอบนอนเปล เป็นปัญหาที่หลายครอบครัวกำลังเผชิญอยู่ แท้จริงแล้วถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับครอบครัวส่วนใหญ่ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ทารกต้องการความอบอุ่นจึงชอบที่จะอยู่ใกล้ ๆ หรือได้สัมผัสร่างกายคุณพ่อหรือคุณแม่ และทำให้พวกเขาหลับสบายเพราะรู้สึกถึงความปลอดภัย การที่ทารกต้องนอนเปล ทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวและแสดงออกด้วยการร้องไห้ หรือไม่ยอมนอน นอกจากนั้นแล้ว อาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไปในทารกแต่ละคน

    ทำไม ทารกไม่ชอบนอนเปล

    เหตุผลที่ ทารกไม่ชอบนอนเปล นอกจากเป็นเพราะพวกเขาต้องการอยู่ใกล้ ๆ ได้รับความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่แล้ว อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

    ไม่คุ้นเคยกับห้องนอน

    หากก่อนหน้านี้ทารกนอนอยู่กับคุณพ่อคุณแม่อยู่เสมอ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงย้ายให้ทารกไปนอนในห้องของตัวเอง ทารกอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับห้อง และอาจจะรู้สึกไม่อบอุ่นหรือปลอดภัยเท่ากับการนอนกับคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น อาจจะต้องใช้ความพยายามที่จะทำให้ทารกคุ้นเคยกับห้องนอนใหม่ โดยพยายามใช้เวลาในช่วงกลางวันให้ทารกคุ้นเคยที่จะอยู่ในห้องนอน เช่น การเล่น อ่านหนังสือ ร้องเพลง กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้ทารกรู้สึกว่าห้องนอนนั้นเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและอยากใช้เวลาอย่างมีความสุขในห้องนั้น

    ไม่รู้วิธีนอนในเปล

    บ่อยครั้งที่ทารกมักจะหลับในอ้อมกอดของคุณแม่ในขณะที่ดูดนม ก่อนคุณแม่จะพาอุ้มไปนอนบนเตียงเมื่อทารกเขาหลับไปแล้ว พฤติกรรมเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังคลอด แต่นิสัยการนอนของทารกจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปโดยเฉพาะเมื่อทารกโตขึ้นและไม่จำเป็นต้องกินนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงอีกต่อไป

    อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนพฤติกรรมมักเป็นเรื่องยาก คุณพ่อคุณแม่ต้องค่อย ๆ พยายามทำให้ทารกคุ้นเคยกับเปลให้มากที่สุด อาจจะป้อนนมตอนที่ทารกนอนอยู่ในเปล หรือปล่อยให้ทารก นอนเล่นอยู่ในเปลบ้าง โดยมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ใกล้ ๆ

    ปวดท้อง

    เด็กทารกบางคนอาจจะมีแนวโน้มที่จะเป็นกรดไหลย้อนและอาการจุกเสียดโดยเฉพาะเมื่อนอนหงาย หากทารกร้องไห้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกให้ว่ามีบางอย่างที่ผิดปกติอยู่ ควรอุ้มกอดและปลอบโยนจนทารกสงบลง และอาจลองเปลี่ยนท่านอนให้อยู่ในท่าที่สบายมากขึ้น

    เปลทำให้เด็กทารกมีความคิดเชิงลบ

    ถ้าทารกเคยมีประสบการณ์ถูกทิ้งให้อยู่ในเปลตามลำพัง มักทำให้ทารกรู้สึกไม่ชอบเปล และไม่อยากนอนในเปลอีกต่อไป  หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ต้องค่อยๆ ปรับทัศนคติที่ทารกมีต่อเปล โดยร้องเพลงกล่อม อ่านนิทาน หรือเล่นกับทารกในขณะที่ทารกอยู่ในเปล เพื่อให้ทารกรู้สึกดีขึ้นเมื่ออยู่ในเปล

    เปลกว้างเกินไป

    แม้ว่าขนาดของเปลอาจจะดูไม่ใหญ่ในสายตาของคุณพ่อคุณแม่ แต่เปลก็มีโครงสร้างที่ใหญ่สำหรับทารกตัวเล็กๆ และโดยปกติทารกมักจะชินกับการนอนหลับในอ้อมแขนของคุณพ่อหรือคุณแม่ การถูกวางเอาไว้ในเปลที่ดูใหญ่เหมือนไม่มีที่สิ้นสุดและเป็นพื้นที่เปิดโลก่ง จะทำให้ทารกรู้สึกงุนงงและกลัวได้

    ทารกไม่ชอบนอนเปล แก้ปัญหาด้วยวิธีไหนได้บ้าง

    การที่จะทำให้ทารกสามารถนอนในเปลได้ ขั้นตอนแรกควรสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการนอนหลับมากที่สุด สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่ทารก สำหรับตัวเปลควรตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มั่นคง ไม่มีชิ้นส่วนไหนหลวมหรือหลุดได้ ในช่วง 6 เดือนแรก ควรจะต้องตั้งเปลเอาไว้ในห้องนอนเดี่ยวกับคุณพ่อคุณแม่เสียก่อน นอกจากนั้นยังต้องมีองค์ประกอบต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ ดังต่อไปนี้

    • อุณหภูมิ

    การทำให้อุณหภูมิห้องเย็นเป็นกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กอยากนอนในเปล ความร้อนที่สูงเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับ โรคการเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็กทารก หรือ โรคไหลตายในเด็กทารก (SIDS) ได้ บางครั้งการใช้พัดลมเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของอากาศให้ดีขึ้นก็อาจช่วยได้

    เพื่อให้ลูกน้อยนอนหลับได้อย่างสบายในห้องที่เย็นพอเหมาะ คุณพ่อคุณแม่ควรแต่งตัวให้ทารกด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่มีเชือกผูกที่อาจไปรบกวนการนอนหลับของทารก น้ำหนักและความหนาของเสื้อผ้าควรเหมาะสมกับอุณหภูมิของห้องด้วย

  • ถุงนอน
  • คุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มถุงนอนให้กับลูกน้อยในเปลได้ เพื่อเพิ่มความอบอุ่นหรือความรูู้สึกปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ไม่ควรห่อตัว เพื่อให้ทารกได้เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ

    • สัญญาณรบกวน

    ตอนที่ทารกอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ มักจะได้ยินเสียงจากภายในตัวของคุณแม่เสมอ เพื่อช่วยใหัลูกน้อยปรับตัวได้เร็วขึ้น ควรเปิดเพลงกล่อมเด็กนอนหรือร้องเพลงกล่อมทารกในช่วงแรก ๆ ที่ฝึกให้ทารกนอนเปล

    • โคมไฟ

    เตรียมโคมไฟเอาไว้เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมให้กับทารกระหว่างคืน โดยพยายามใช้โคมไฟที่มีวัตต์ต่ำ จะได้ไม่เป็นการรบกวนการนอนของทารก

    • กลิ่น

    กลิ่นของคุณพ่อคุณแม่คือกลิ่นที่ทารกคุ้นเคย ดังนั้น คุณแม่อาจลองนอนลงบนแผ่นนอนหรือบนผ้าห่มที่ทารกใช้เพื่อให้กลิ่นของคุณแม่ยังคงติดอยู่

  • ความหิว
  • โดยปกติ ทารกแรกเกิดมักจะหิวทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หรือ 8-12 ครั้งต่อวัน ดังนั้น หากทารกร้องไห้ มักแสดงว่าทารกกำลังหิวอยู่ ควรป้อนนมทารกเพื่อให้ท้องอิ่มและสามารถหลับสนิทได้นานขึ้น

    • นอนให้เป็นกิจวัตรประจำวัน

    การจัดทำตารางหรือกิจวัตรประจำวันจะช่วยให้ทารกเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันได้ ควรสร้างตารางกิจวัตรประจำวันโดยเฉพาะเวลานอน  เมื่อถึงเวลาทารกจะได้นอนหลับสนิทและมีคุณภาพ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 10/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา