backup og meta

ลูกน้อยวัย 23 เดือน มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 10/06/2022

    ลูกน้อยวัย 23 เดือน มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

    ลูกน้อยวัย 23 เดือน เป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งด้านร่างกาย ตัวอาจจะเริ่มยืดขึ้น แลดูผอมลง และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น การพูดคุย การใช้มือ เด็กในวัยนี้สามารถจดจำและเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งสามารถสื่อสารได้เป็นคำหรือประโยคสั้น ๆ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมว่าเด็กแต่ละคนต่างมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน หากลูกน้อยมีพัฒนาการที่เร็วหรือช้ากว่าปกติ ไม่ควรกังวลใจมากเกินไป ค่อย ๆ ส่งเสริมและหาทางสนับสนุนพร้อมเรียนรู้ไปกับลูกน้อย 

    การเจริญเติบโตและพฤติกรรมของลูกน้อยวัย 23 เดือน

    ลูกน้อยวัย 23 เดือน อาจจะเรียนรู้คำใหม่ ๆ ได้มากถึงวันละสิบคำ โดยเฉพาะเมื่อเมื่อมีอายุครบ 2 ขวบ จะสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้น ได้แก่

    • สร้างประโยคที่ใช้คำ 2-4 คำได้
    • ร้องเพลงง่าย ๆ ได้
    • ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้
    • ใช้สรรพนามได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ถูกต้องเสมอไป
    • พูดซ้ำคำที่ได้ยินจากบทสนทนา
    • จำชื่อคน สิ่งของ และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้

    ถ้าการเติบโตของลูกน้อยดูช้าลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปีแรก ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเด็กที่มีอายุ 1 ขวบจะมีน้ำหนักมากกว่าตอนแรกเกิดสามเท่า แต่มีน้ำหนักพิ่มขึ้นเพียง 1.4 – 2.2 กิโลกรัมในปีที่สอง ตอนนี้ลูกน้อยจะตัวตั้งตรง เคลื่อนไหว และกระตือรือร้น อาจทำให้ดูผอมลง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกังวลใจมากเกินไป เพียงแต่คอยดูแลอาหารให้ลูกน้อยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเพียงพอหลากหลายครบถ้วนในทุกมื้อ

    นอกจากนั้น การทรงตัวและการเคลื่อนไหวย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากที่เคยเดินแบบไม่ค่อยมั่นคง จะเปลี่ยนเป็นท่าเดินที่มั่นคงขึ้น เด็กที่มีอายุใกล้ 2 ขวบส่วนใหญ่สามารถดึงของเล่นที่อยู่ข้างหลังได้ และสามารถถือข้าวของในขณะเดินได้ และเริ่มจะวิ่ง ลูกน้อยจะเข้าไปในที่ ๆ คาดไม่ถึง เช่น อาจปีนขึ้นไปบนม้านั่ง โต๊ะ และเปิดภาชนะ หรือทำกิจกรรมที่ไม่เคยสนใจทำมาก่อน รวมถึงเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น สระว่ายน้ำ  ถังน้ำ ได้เร็วกว่าที่คาดคิด ควรเฝ้าสังเกตลูกน้อยวัย 23 เดือน ให้ดี พยายามอย่าให้คลาดสายตา

    นอกจากนี้ เพื่อกระตุ้นให้ลูกน้อยพูดหรือใช้คำได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็อาจช่วยลูกน้อยได้ด้วยวิธี ต่อไปนี้

  • อ่านหนังสือที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้ลูกน้อยรู้จักคำศัพท์ได้มากขึ้น
  • เปลี่ยนคำหรือวลีที่ลูกน้อยพูดให้เป็นประโยค เช่น เวลาที่ลูกน้อยบอกว่า “เอานม” อาจตอบกลับว่า “ลูกจะขอนมเพิ่มในถ้วยใช่ไหมจ๊ะ”
  • เมื่ออ่านหนังสือด้วยกันกับลูกน้อย สามารถกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยด้วยการถามคำถามเกี่ยวกับหนังสือที่อ่าน ชี้ไปที่รูปในหนังสือ แล้วให้ลูกน้อยพยายามบอกว่ารูปนั้นเรียกว่าอะไร
  • เมื่อพาลูกน้อยไปเดินเล่น หรือนั่งรถเล่น อาจลองชี้ไปที่ข้าวของต่าง ๆ แล้วอธิบายให้ลูกฟังว่าข้าวของพวกนั้นคืออะไร
  • หาก ลูกน้อยวัย 23 เดือน พัฒนาการช้า ควรทำอย่างไร

    เด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการแตกต่างกัน หากลูกน้อยมีพัฒนาการที่ช้าหรือเร็วเกินไป ไม่ควรเป็นกังวล แต่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูก และหากลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการกินหรือการนอน อาจปรึกษาคุณหมอและขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัวและดูแลลูกน้อยที่เหมาะสม

    บางราย ลูกน้อยวัย 23 เดือนอาจมีอาการติดแม่มากกว่าปกติ สถานการณ์แบบนี้อาจจะเป็น ๆ หาย ๆ  ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ สาเหตุที่มักทำให้ลูกน้อยมีอาการเช่นนี้ อาจเป็นเพราะครอบครัวกำลังมีสมาชิกคนใหม่ หรือพี่เลี้ยงคนใหม่ วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับเรื่องนี้ก็คือ พูดกับลูกน้อยอย่างอ่อนโยน และไม่ควรทิ้งเขาไปโดยไม่กล่าวลา เพราะการไม่กล่าวลาอาจทำให้ลูกน้อยรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง อย่างไรก็ตาม ลูกน้อยจะเลิกมีอาการแบบนี้เมื่อโตขึ้น แต่หากลูกน้อยยังมีอาการติดแม่หรือหวงแม่มากกว่าปกติจนกระทบกับชีวิตประจำวัน ไม่สามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ อาจหาทางแก้ไขด้วยการปรึกษากับคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็ก เพื่อร่วมกันหาสาเหตุและวิธีแก้ไขที่เหมาะสมกับวัยและลักษณะนิสัยของลูกน้อย

    พฤติกรรมลูกน้อยวัย 23 เดือน ที่ควรเตรียมรับมือ

    ลูกน้อยวัย 23 เดือน เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อออกนอกบ้าน หรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า บนเครื่องบิน หรือในร้านอาหาร ลูกน้อยวัยนี้อาจอาละวาดขึ้นมาหรืออยู่ในภาวะที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยอย่างใจและให้เหตุผลว่าพฤติกรรมที่ลูกน้อยกำลังทำอยู่นั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในช่วงแรก ๆ ลูกน้อยอาจไม่สนใจหรือเข้าใจสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่อธิบาย แต่เมื่อพูดอธิบายอย่างใจเย็นอยู่เรื่อย ๆ ลูกน้อยจะเข้าใจและค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น

    นอกจากนั้น ความรู้สึกเหนื่อยหรือหิวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยแสดงอารมณ์โกรธออกมา ปัญหานี้แก้ไขได้โดยการเตรียมขนมและน้ำดื่มใส่ไว้ในกระเป๋า และคอยสังเกตพฤติกรรมลูกน้อยว่านอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และหากมีอาการง่วงระหว่างวันเมื่ออยู่นอกบ้าน ควรหาสถานที่ให้ลูกน้อยได้นอนหลับ หรือควรพากลับบ้าน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 10/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา