backup og meta

ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ ปลอดภัยหรือไม่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/03/2022

    ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ ปลอดภัยหรือไม่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

    ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ คือ การที่ให้ทารกนอนหลับในอ้อมกอด หรือให้นอนเตียงเดียวกันกับพ่อแม่ เนื่องจากต้องการทำให้ทารกรู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลาย ทั้งยังสะดวกกับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องดูแลเมื่อทารกตื่นขึ้นมากลางดึก แต่เมื่อคำนึงถึงความปลอดภัยแล้ว การจะให้ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ อาจไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ทารกถึงแก่ชีวิตได้

    เหตุใดบางครอบครัวจึงให้ ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่

    บางครอบครัวหรือในบางวัฒนธรรมนิยมให้ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ เพราะสาเหตุเหล่านี้

    • สะดวกเวลาให้นมในตอนกลางคืน
    • ช่วยให้คุณแม่และทารกหลับและตื่นพร้อม ๆ กัน จึงดูแลลูกได้สะดวกขึ้น
    • ช่วยให้ทารกนอนหลับได้ง่ายขึ้นและนานขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนแรก
    • ทำให้ได้ใกล้ชิดกับทารกและอยู่พร้อมหน้าครอบครัว หลังจากที่ต้องแยกจากกันในเวลากลางวัน

    ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่เสี่ยงอันตรายอย่างไร

    การให้เด็กทารกนอนบนเตียงผู้ใหญ่อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นกับทารกได้ เช่น การขาดอากาศหายใจ โรคไหลตายในทารก หรือ SIDS (Sudden Infants Death Syndrome) โดยจากการศึกษาวิจัยหลายชิ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การให้ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ ถือเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของเด็กทารก โดยเฉพาะทารกแรกเกิดถึง 3 เดือน

    เทคนิคให้ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่อย่างปลอดภัย

    หากคุณพ่อคุณแม่มีความจำเป็น หรือต้องการให้ทารกนอนร่วมเตียงด้วย ควรทำตามคำแนะนำเหล่านี้ เพื่อลดโอกาสเกิดอันตราย

    • สำหรับเด็กทารกอายุ 0-12 เดือน ควรให้นอนแยกในเปลหรือเตียงทารกที่วางอยู่ข้าง ๆ เตียงของคุณพ่อคุณแม่ หรือจะใช้เป็นเตียงนอนเด็กแบบ side-car crib ที่ออกแบบมาให้วางชิดกับเตียงนอนคุณพ่อคุณแม่ก็ได้
    • พยายามให้ทารกนอนหงาย ห้ามให้นอนตะแคงหรือนอนคว่ำเด็ดขาด
    • ต้องแน่ใจว่าไม่มีอะไรทับหน้าหรืออุดตันการหายใจของทารกระหว่างนอนหลับ
    • ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ได้ก็ต่อเมื่อฟูกหรือที่นอนแน่นพอ ไม่ยวบหรือยุบง่ายๆ และห้ามใช้เตียงน้ำเด็ดขาด
    • ใช้ผ้าห่มน้ำหนักเบา แทนผ้านวมผืนหนาหนักสำหรับห่มให้ทารก หรือให้ทารกนอนในถุงนอนหรือเบาะเฉพาะ
    • ควรให้ทารกนอนข้างคุณพ่อคุณแม่คนใดคนหนึ่ง อย่าให้นอนตรงกลาง เพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุคุณพ่อหรือคุณแม่พลิกตัวมาทับ หรือโดนผ้าห่มทับ
    • อย่าให้ทารกนอนในตำแหน่งที่เสี่ยงตกเตียง และไม่ควรให้นอนชิดผนังหรือมีหมอนกั้น เพราะอาจโดนทับหรืออึดอัดจนหายใจไม่ออก ทางที่ดีควรใช้เตียงนอนขนาดใหญ่ที่กว้างพอจะให้ทารกนอนข้างๆ ได้แบบไม่ชิดขอบเตียงเกินไปเพราะอาจตกหล่นได้
    • ไม่ปล่อยให้ทารกคนอื่นหรือสัตว์เลี้ยงนอนร่วมเตียงด้วย รวมถึงห้ามให้สัตว์เลี้ยงกระโดดขึ้นเตียงตอนมีทารกอยู่บนเตียงเด็ดขาด
    • ห้ามสูบบุหรี่ในห้องนอนโดยเด็ดขาด

    สาเหตุที่ควรหลีกเลี่ยงการให้ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่

    • คุณพ่อหรือคุณแม่สูบบุหรี่ แม้จะไม่ใช่ในห้องนอนก็ตาม เพราะลมหายใจอาจส่งกลิ่นเหม็นระหว่างนอนหลับ
    • คุณพ่อหรือคุณแม่ดื่มเหล้าหรือใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่ทำให้ง่วงซึม เพราะอาจทำให้หลับลึกจนไม่รู้สึกตัวหากเผลอมานอนทับทารก
    • ทารกมีอายุต่ำกว่า 3 เดือน รวมถึงทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ (น้อยกว่า 2,500 กรัม) เพราะทารกยังอ่อนแออยู่มาก
    • คุณพ่อหรือคุณแม่ทำงานหนักและรู้สึกเหนื่อยล้ามาก เมื่อหลับลึกและพลิกท่านอนอาจนอนทับทารกเกิดอันตรายได้
    • ทารกมีไข้ หรือมีสัญญาณความเจ็บป่วย เพราะหากนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

    นอกจากนั้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ห้ามงีบหลับบนโซฟาพร้อมทารกโดยเด็ดขาด เพราะสามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการไหลตายในทารกหรือ SIDS ได้ถึง 50 เท่า ทางที่ดีควรให้ทารกนอนเตียงเดี่ยวหรือเปลที่มีขอบสูงเพื่อป้องกันทารกนอนตกเตียง โดยเฉพาะทารกแรกเกิดถึงสามเดือน ทั้งนี้ อาจวางเตียงไว้ในห้องนอนเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการตื่นมาให้นมกลางดึก หรือหากอยู่อีกห้องหนึ่ง ควรมีอุปกรณ์รับสัญญาณวางไว้เพื่อจะได้ยินเสียงหากทารกร้องในตอนกลางคืน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 15/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา