backup og meta

คุยกับเด็กเรื่องเซ็กส์ เริ่มต้นอย่างไร ควรพูดอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/08/2022

    คุยกับเด็กเรื่องเซ็กส์ เริ่มต้นอย่างไร ควรพูดอะไรบ้าง

    คุยกับเด็กเรื่องเซ็กส์ อาจไม่ใช่หัวข้อที่ผู้ปกครองต้องการคุย ทั้งที่จริงแล้ว หากเด็กรู้สึกว่าพ่อกับแม่ไม่เปิดใจที่จะพูดคุยหรือรับฟังเวลาที่เขาต้องการใครสักคน อาจทำให้เด็กไม่กล้าที่จะคุยเรื่องนี้กับพ่อแม่ จนต้องหันหน้าไปพึ่งคนนอกครอบครัว หรือหาข้อมูลด้วยตนเองซึ่งอาจไม่น่าเชื่อถือหรือทำให้มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์ หากพ่อแม่ช่วยให้คำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมในการดูแลสุขภาพทางเพศและการมีเซ็กส์อย่างปลอดภัย อาจช่วยลดปัญหาเรื่องเพศในสังคมได้

    ทำไมต้องคุยกับเด็กเรื่องเซ็กส์  

    พ่อกับแม่คือคนที่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด คำแนะนำที่ดีสามารถกระตุ้นให้ลูกรู้จักดูแลร่างกายของตนเอง และกระตุ้นจิตสำนึกที่จะเกิดความนับถือตัวเอง หากไม่มั่นใจว่าจะสามารถให้คำแนะนำที่ดีเกี่ยวกับเซ็กส์แก่ลูกได้หรือไม่ อาจหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ หรือปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ การสอนลูกและพูดคุยกับลูกให้มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเพศ และแสดงถึงความเข้าใจในตัวของลูก จะช่วยให้ลูกเข้าใจเรื่องเซ็กส์ มีสุขภาพทางเพศที่ดี รู้จักดูแลและป้องกันตนเอง หรือหากมีปัญหา ลูกรู้สึกอุ่นใจว่ามีพ่อกับแม่พร้อมรับฟังและเป็นที่พึ่ง

    คุยกับเด็กเรื่องเซ็กส์เวลาไหนดีที่สุด

    ในช่วงอายุ 8 – 12 ปี เด็ก ๆ มักจะเริ่มสงสัยในการเปลี่ยนแปลงของร่างกายว่าปกติหรือเปล่า และอาจเริ่มถามคำถาม ที่อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกอึดอัดที่จะพูดคุยเรื่องนี้กับลูก และพยายามหลีกเลี่ยง แต่จริง ๆ แล้ว การพูดคุยกับลูกอย่างเปิดใจ และตรงไปตรงมา จะช่วยให้ลูกจะเข้าใจเรื่องเพศ และสามารถตัดสินใจเรื่องเพศได้อย่างเหมาะสม โดยวิธีที่ดีทีสุดคือการรับฟังและตอบข้อสงสัยของลูก แทนการสั่งสอนหรืออบรมเพียงฝ่ายเดียว

    ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการคุยเรื่องเซ็กส์นั้นไม่มีขอบเขตหรือกำหนดเวลาที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น หากคุณแม่หรือคนในครอบครัวตั้งครรภ์ และเด็กสงสัยว่าทารกเข้าไปอยู่ในท้องของผู้หญิงได้อย่างไร หรือหากมีโฆษณาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ๋อนเร้นผู้หญิง หรือผ้าอนามัย อาจชวนคุยเรื่องการมีประจำเดือน และการดูแลความสะอาดช่องคลอด หรือโฆษณาถุงยางอนามัย อาจชวนคุยเรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สถานการณ์เหล่านี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าการพูดคุยเรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องปกติ ทำให้กล้าปรึกษากับพ่อแม่ได้โดยไม่เขินอาย 

    คุยกับเด็กเรื่องเซ็กส์ ควรคุยเรื่องอะไรบ้าง

    เมื่อลูกมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์ พ่อแม่ควรรับฟัง ให้คำปรึกษา และตอบข้อสงสัย ไม่ใช่เลี่ยงที่จะตอบคำถาม หรือดุว่าเด็ก เพราะนั่นจะทำให้เด็กเกิดความไม่มั่นใจ และคิดว่าเรื่องเซ็กส์คือสิ่งที่ผิด และหันไปหาคำตอบด้วยตัวเองจากแหล่งอื่น อย่างเช่น อินเทอร์เน็ต หรือโทรทัศน์ หรือพูดคุยกับคนแปลกหน้าแทน การพูดคุยกับลูกจะทำให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการดูแลเรื่องเพศของลูก ตัวอย่างคำแนะนำในการตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น

    • การแข็งตัวของอวัยวะเพศคืออะไร อาจตอบว่า อวัยวะเพศบางครั้งก็อ่อนตัว แต่บางครั้งก็ตั้งขึ้น เรียกว่าการแข็งตัว และการแข็งตัวอาจเกิดขึ้นตอนนอนหลับ หรือตอนที่อวัยวะเพศถูกสัมผัส 
    • ประจำเดือนคืออะไร อาจตอบว่า การมีประจำเดือนเป็นหนึ่งในกระบวนการสืบพันธุ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในวัยรุ่นเพศหญิง และเสริมด้วยผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลสุขอนามัยในระหว่างมีประจำเดือนด้วย หรืออาจจะบอกว่าการมีประจำเดือนเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าร่างกายพร้อมตั้งครรภ์แล้ว
    • คนเรามีเซ็กส์กันอย่างไร อาจตอบว่า เป็นกิจกรรมทางเพศ โดยที่ผู้ชายเอาอวัยะเพศสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศหญิง และสามารถให้กำเนิดทารกได้ บางครั้งอาจหาหนังสือที่มีภาพประกอบ เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจสอนเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อให้รู้จักการมีเซ็กส์อย่างปลอดภัย
    • ผู้หญิงสองคนสามารถมีอะไรกันได้ไหม แล้วผู้ชายล่ะ อาจตอบว่า ใช่ ผู้ชายสองคนหรือผู้หญิงสองคนสามารถมีเซ็กส์กันได้ พร้อมสอนให้เขาเคารพผู้อื่น และแสดงว่าความรักไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการแบ่งแยก ความรักหรือเซ็กส์เกิดขึ้นจากพอใจ
    • การช่วยตัวเองคืออะไร อาจตอบว่า เป็นการสำรวจและสัมผัสร่างกายตนเองเพื่อสร้างความรู้สึกพึงพอใจซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยอาจใช้มือถูไถบริเวณอวัยวะเพศตัวเองจนถึงจุดสุดยอด และอาจอธิบายว่าเป็นกิจกรรมที่ควรทำในพื้นที่ส่วนตัว

    ความรับผิดชอบและผลกระทบของเซ็กส์

    การคุยกับเด็กเรื่องเซ็กส์ นอกเหนือจากการตอบคำถามต่าง ๆ ควรอธิบายถึงความรับผิดชอบในการมีเซ็กส์และผลกระทบที่อาจจะเกิดตามมา เช่น การตั้งครรภ์ โรคติดต่อเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยลดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร แต่ในขณะเดียวกัน อาจอธิบายให้เห็นอีกด้านของการมีเซ็กส์ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรัก ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหากทำความเข้าใจอย่างถูกต้องและรู้จักป้องกันตัวเอง และการมีเซ็กส์เมื่อพร้อมจะทำให้มีความสุขมากกว่าการมีเซ็กส์โดยที่ไม่ยินยอมหรือเพียงเพราะต้องการอยากรู้อยากเห็น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา