backup og meta

ภาวะผิวลายในทารก สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย สุนันทา สุนันธภักดี · แก้ไขล่าสุด 10/11/2022

    ภาวะผิวลายในทารก สาเหตุ อาการ และการรักษา

    ภาวะผิวลายในทารก (Cuties Marmorata) คืออาการทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่ทำให้ผิวของทารกมีลายและมีสีแดงอมม่วงคล้ายตาข่าย เมื่อสัมผัสอากาศเย็นหรืออาบน้ำ มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ และอาจหายไปได้เองเมื่อเจออากาศอุ่น อย่างไรก็ตาม หากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผื่นแดง ระคายเคือง ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาอย่างรวดเร็ว

    ภาวะผิวลายในทารก คืออะไร

    ภาวะผิวลาย ในทารกแรกเกิด คือภาวะที่ผิวหนังของเด็กทารกมีลักษณะลายคล้ายร่างแหตาข่าย สีแดงอมม่วง เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 50  สามารถพบได้ในเด็กทารกแรกเกิด เมื่อสัมผัสอากาศเย็นหรือตอนอาบน้ำ ส่วนมากพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง อย่างไรก็ตาม มีผลการศึกษาของชาวบราซิลในปี 2011 รายงานว่าในบรรดาทารกแรกเกิดจำนวน 203 คน พบทารกที่เกิดภาวะผิวลายต่ำมาก เพียงร้อยละ 5.91  ของทารกที่มีผิวสีอ่อน

    ภาวะผิวลายนี้สามารถเกิดในผู้ใหญ่ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในนักดำน้ำ หากดำน้ำซ้ำกันนาน ๆ หลายรอบ อาจเกิดภาวะผิวลายจากโรคจากการลดความกดอากาศ (Decompression Sickness) ได้

    โรคจากการลดความกดอากาศหรือโรคลดความกด เป็นโรคที่เกิดจากฟองก๊าซก่อตัวขึ้นในระบบหลอดเลือดหรือในเนื้อเยื่อ มักเกิดจากการดำน้ำและลอยตัวขึ้นเร็ว ก๊าซไนโตรเจนอยู่ในภาวะเกินความอิ่มตัว เมื่อความดันอากาศลดลง กลายสภาพเป็นฟองอากาศ ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกายทั้งส่วนที่เป็นของแข็งหรือของเหลว เช่น เกิดฟองอากาศที่กล้ามเนื้อข้อต่อจะมีอาการปวด ถ้าเข้าสู่กระแสเลือดไปอุดเส้นเลือดที่ไขสันหลังหรือสมอง จะทำให้สลบหรือเป็นอัมพาต

    สาเหตุของภาวะผิวลายในทารก

    เนื่องจากระบบประสาทและเส้นเลือดในทารกแรกคลอด ยังไม่มีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ เมื่อสัมผัสความเย็น จึงเกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางสรีรวิทยาตามธรรมชาติต่ออุณหภูมิที่เย็น

    ปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดภาวะผิวลายในทารกแรกเกิด ได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด และเด็กที่เป็นโรคบางชนิด เช่น ภาวะขาดไทรอยด์แต่กำเนิด โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคดาวน์ซินโดรม โรคเอ็ดเวิร์ดซินโดรม โรคMenkes โรคระบบประสาทอัตโนมัติ เสียการทำงาน (dysautonomia) โรค Lange syndrome

    อาการของภาวะผิวลายในทารก

    เมื่อทารกสัมผัสกับน้ำหรืออากาศเย็น ผิวจะเกิดสีแดงอมม่วง ลาย คล้ายร่างแหตาข่าย มักเกิดขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาการดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่จัดว่าปกติ ของเด็กทารกแรกเกิด (ทารกอายุ 4 สัปดาห์หลังคลอด) ไม่ใช่ความผิดปกติหรือเป็นโรค เกิดจากการตอบสนองต่อความเย็นของระบบสรีระวิทยาที่ยังไม่สมบูรณ์ของเด็กแรกเกิด คือ เกิดการหดตัวและขยายตัวสลับกันของหลอดเลือดฝอยและหลอดเลือดดำเล็ก ๆ ที่ผิวหนังของเด็ก

    ภาวะผิวลายในทารกแรกเกิด ไม่เป็นอันตรายต่อทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ แต่ถ้ามีอาการนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมา เช่น มีผื่นแดงขึ้นตามตัวอย่างต่อเนื่อง อาจมีเป็นสัญญาณเริ่มต้นของภาวะติดเชื้อในทารก หรือภาวะขาดไทรอยด์ หากเกิดอาการเหล่านี้ ควรพาลูกน้อยไปพบหมอเพื่อวินิจฉัย

    แนวทางการรักษาอาการ ทารกผิวลาย

    ภาวะผิวลายในทารกไม่จำเป็นต้องรักษา เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดขึ้นปกติในทารกแรกเกิด มักเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วหายไปเองเมื่อร่างกายได้รับความอบอุ่น และจะหายขาดเมื่อทารกอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป แต่คุณแม่ต้องลองสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะหากเกิดการระคายเคืองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นโรคทางด้านผิวหนังตามมา เนื่องจากผิวทารกละเอียดอ่อน คุณแม่จะได้รีบพาลูกไปปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย สุนันทา สุนันธภักดี · แก้ไขล่าสุด 10/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา