backup og meta

เด็กแพ้แลคโตส สาเหตุ และวิธีการรับมือ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 16/03/2022

    เด็กแพ้แลคโตส สาเหตุ และวิธีการรับมือ

    เด็กแพ้แลคโตส (Lactose Intolerance) คือภาวะที่ร่างกายของเด็กไม่สามารถย่อยแลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่อยู่ในนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ต เนย ทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเสีย ปวดท้อง และอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ เมื่อรับประทานนมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมเข้าไป หากเด็กมีอาการแพ้แลคโตส ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีการรับมือที่เหมาะสม

    เด็กแพ้แลคโตส คืออะไร

    แพ้แลคโตส เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถย่อยแลคโตสได้ เนื่องจากร่างกายขาดเอนไซม์แลคเตส (Lactase) ที่จะย่อยแลคโตสในลำไส้เล็ก โดยแลคโตส คือ น้ำตาลที่พบในนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว ถ้าเด็กแพ้แลคโตส พวกเขาอาจมีอาการบางอย่างหลังจากดื่มนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว โดยอาการเหล่านี้ ได้แก่ ท้องอืด ท้องเสีย มีแก๊สในกระเพาะ ปวดท้อง วิงเวียนศีรษะ ร่วมด้วยอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารที่สามารถปรากฏขึ้นได้

    นอกจากนี้การแพ้แลคโตสจะแตกต่างกับการแพ้นม และต่างจากการแพ้โปรตีนในนมวัวด้วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูกๆและติดตามพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอาการแพ้แลคโทสที่สามารถเกิดขึ้นได้

    เด็กแพ้แลคโตส เกิดจากสาเหตุใด

    การแพ้แลคโตสสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยสามารถเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

    • การเป็นโรคหรือการติดเชื้อระบบย่อยอาหาร
    • บาดเจ็บที่ลำไส้เล็ก
    • คนในครอบครัวมีประวัติการแพ้แลคโตส กรณีนี้เมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้ร่างกายสร้างเอนไซม์ย่อยแลคโตสน้อยลง โดยอาการจะเกิดขึ้น ในช่วงที่เป็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่
    • เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ซึ่งการแพ้แลคโตสจะเกิดขึ้นในเวลาสั้น ๆ และจะหายไปในที่สุด

    ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะแพ้แลคโตส

    การแพ้แลคโตสเป็นอาการที่พบบ่อยในชาวเอเชีย ชาวพื้นเมืองอเมริกัน ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และชาวลาตินอเมริกา โดยคนส่วนใหญ่ที่แพ้แลคโตสจะเป็นไปตลอดชีวิต

    แต่สำหรับเด็กบางคนการแพ้แลคโตสเป็นอาการชั่วคราว ที่เกิดขึ้นหลังจากกินยาปฏิชีวนะบางชนิด หรือตอนที่เกิดการติดเชื้อทางเดินอาหาร แต่อาการก็จะหายไปในภายหลัง

    การวินิจฉัยและการรักษาอาการแพ้แลคโตส

    การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการของเด็ก อายุ และสุขภาพทั่วไป นอกจากนี้การรักษายังขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการแพ้ และยังไม่มีการรักษาใดที่จะช่วยให้ร่างกายสร้างแลคเตสมากขึ้น

    คุณพ่อคุณแม่สามารถจัดการกับอาการของเด็ก ๆ ได้ด้วยการให้เด็กกินอาหารที่ไม่มีแลคโตส อย่างไรก็ตามอาจไม่จำเป็นต้องเลิกกินอาหารทุกอย่างที่มีแลคโตส และบางกรณีคุณหมออาจแนะนำให้กินเอนไซม์แลคเตสเพิ่มขึ้น

    เด็กแพ้แลคโตส คุณพ่อคุณแม่ดูแลอย่างไรดี

    ลองกินผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมบางอย่าง

    แทนที่จะไม่ให้เด็กที่แพ้แลคโตสกินผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัวเลย คุณพ่อคุณแม่อาจลองให้ลูกกินผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัวในปริมาณน้อยก่อน

    เนื่องจากเด็กบางคนสามารถดื่มนมได้ 1 แก้ว แต่จะมีอาการแพ้แลคโตสเมื่อดื่มนมแก้วที่ 2 หรือเด็กบางคนไม่สามารถดื่มนมได้เลย แต่สามารถกินโยเกิร์ตหรือชีสได้ มากไปกว่านั้นคุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกกินผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแลคโตส ที่หาซื้อได้ง่ายในปัจจุบัน

    เพิ่มแคลเซียมและวิตามินดี

    เด็กที่แพ้แลคโตส ควรได้รับแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ เช่น การรับประทานอาหารที่อุดมด้วย แคลเซียม และวิตามินดี

    แคลเซียม

    เด็กและวัยรุ่นที่แพ้แลคโตสอาจไม่ดื่มนม แต่อย่างไรก็ตามนมเป็นแหล่งแคลเซียม (Calcium) ที่เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและการซ่อมแซมกระดูก นอกจากนี้แคลเซียมยังช่วยป้องกันโรคบางโรค และปริมาณแคลเซียมที่เด็ก ๆ ควรได้รับต่อวัน มีดังต่อไปนี้

    • อายุ 0-6 เดือน ควรได้รับแคลเซียม 200 มิลลิกรัมต่อวัน
    • อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี ควรได้รับแคลเซียม 260 มิลลิกรัมต่อวัน
    • อายุ 1-3 ปี ควรได้รับแคลเซียม 700 มิลลิกรัมต่อวัน
    • อายุ 4-8 ปี ควรได้รับแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
    • อายุ 9-18 ปี ควรได้รับแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน

    อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ที่เหมาะกับเด็กที่แพ้แลคโตส ได้แก่

    • ผักใบเขียว เช่น บล็อกโคลี และผักคะน้า
    • ปลา เช่น ปลาแซลมอน และปลาซาดีน
    • เต้าหู้
    • น้ำส้มที่เพิ่มแคลเซียม
    • นมถั่วเหลืองที่เพิ่มแคลเซียม
    • อาหารเช้าซีเรียลที่เพิ่มแคลเซียม

    คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง ถ้าเด็กๆต้องกินอาหารเสริมแคลเซียมเพิ่ม ในกรณีที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ จากอาหารที่รับประทานเข้าไป เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายและเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กระดูกและฟัน

    วิตามินดี

    ร่างกายต้องการวิตามินดีเพื่อดูดซึมแคลเซียม เด็ก ๆ จึงควรได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ ซึ่งแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ได้แก่ ไข่ และตับ คุณพ่อคุณแม่จึงควรหาแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์ของร่างกาย และพัฒนาการทางด้านการเจริญเติบโตของเด็กอย่างสมวัย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 16/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา