backup og meta

โรคในทารกแรกเกิด ที่พบได้บ่อย มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

    โรคในทารกแรกเกิด ที่พบได้บ่อย มีอะไรบ้าง

    โรคในทารกแรกเกิด อาจเป็นอาการเจ็บป่วยเช่นเดียวกับเด็กในวัยอื่น ๆ  แต่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งกว่า เพราะร่างกายของทารกแรกเกิดนั้นยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง ดังนั้น จำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัว ควรให้ความใส่ใจและสังเกตทารกแรกเกิดเพื่อจะได้ดูแลและรักษาอย่างทันท่วงที

    โรคในทารกแรกเกิด ที่พบได้บ่อย

    ภาวะท้องอืด

    ภาวะท้องอืด เป็นโรคในทารกแรกเกิด ที่พบได้บ่อยมากเป็นอันดับต้น ๆ เด็กทารกมักมีอาการท้องอืด แน่นท้อง และท้องป่องเป็นประจำ โดยเฉพาะขณะกินนมแม่ และหลังกินนมเสร็จ เมื่อเกิดภาวะท้องอืด จะทำให้ทารกน้อยรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว หายใจลำบาก เป็นต้น

    สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังเมื่อลูกท้องอืด ก็คือ หากเป็นอาการท้องอืดที่ไม่เป็นอันตราย ท้องมักนิ่ม หากทารกท้องแข็ง บวม แน่น รวมทั้งมีอาการอาเจียน หรือท้องเสียนานเกิน 2 วันร่วมด้วย ควรพาไปพบคุณหมอทันที เพราะอาการที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เป็นเพราะมีแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือท้องผูกตามปกติ แต่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ที่เป็นอันตรายได้

    โรคดีซ่าน

    โรคดีซ่าน ทำให้ผิวหนัง ดวงตา และปากของทารกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เนื่องจากในร่างกายมีระดับบิลิรูบิน (Bilirubin) สูงผิดปกติ โดยบิลิรูบินเป็นสารประกอบที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการสลายเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าและสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่ของร่างกาย

    ปกติแล้ว ร่างกายของคนเราจะกำจัดบิลิรูบินออกทางตับ แต่ในช่วง 2-3 วันหลังลืมตาดูโลก ตับของทารกแรกเกิดจะยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายทารกแรกเกิดบางคนไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินออกได้ตามปกติ ในร่างกายเลยมีบิลิรูบินมากเกินไป ทำให้เกิดเป็นโรคดีซ่านหรือตัวเหลืองนั่นเอง

    แม้โรคดีซ่านจะเป็นโรคในทารกแรกเกิดที่พบบ่อย แต่ในบางกรณี ระดับบิลิรูบินที่สูงเกินไปก็อาจทำให้สมองของทารกแรกเกิดบาดเจ็บได้ ฉะนั้น หากพบว่า ลูกมีอาการของโรคดีซ่าน ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที

    อาการไอ

    อาการไอเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทารกได้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อดูดนมเร็วเกินไป ทั้งนี้ เมื่อทารกเริ่มคุ้นชินกับการดูดนมแล้วอาการไอมักหายไปเอง แต่หากทารกไอเรื้อรัง แหวะนม หรือสำรอกเวลากินนมเป็นประจำ ควรปรึกษาคุณหมอเพราะปัญหานี้อาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับปอด หรือระบบย่อยอาหารก็ได้

    ผื่นผ้าอ้อม

    ผื่นผ้าอ้อมกับเด็กทารกแรกเกิดนั้นถือเป็นของคู่กัน ส่วนใหญ่แล้ว ปัญหานี้เกิดจากผิวหนังระคายเคือง เพราะสัมผัสกับอุจจาระและปัสสาวะที่อยู่ในผ้าอ้อม และผื่นผ้าอ้อมจะยิ่งรุนแรงขึ้นหากทารกมีอาการท้องเสียหรือท้องร่วง แม้จะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย แต่สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารกแรกเกิดบ่อย ๆ ทำความสะอาดบริเวณก้น อวัยวะเพศ และขาหนีบ แล้วเช็ดให้แห้ง ทาครีมป้องกันผื่นผ้าอ้อม ก่อนจะใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่ ทั้งนี้ หากดูแลอย่างดีแล้ว ผื่นผ้าอ้อมไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน หรืออาการยิ่งแย่ลง ควรรีบไปพบคุณหมอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 29/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา