backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ท่อน้ำนมอุดตัน สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

ท่อน้ำนมอุดตัน สาเหตุ อาการ และการรักษา

ท่อน้ำนมอุดตัน (Clogged milk ducts) พบได้ทั่วไปในคุณแม่เพิ่งคลอด กำลังให้นมบุตร หรือเพิ่งให้ลูกหย่านม ทำให้ท่อน้ำนมตีบหรืออุดตัน จนน้ำนมไหลได้ไม่สะดวก รวมถึงอาจมีอาการอักเสบ บวม และมีก้อนในบริเวณเต้านม สามารถหายไปได้เอง แต่ก็สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการนวดเต้านม ปั๊มนม และการประคบร้อน

คำจำกัดความ

ท่อน้ำนมอุดตัน คืออะไร

ภาวะท่อน้ำนมอุดตัน เป็นภาวะที่เกิดก้อนบวมนูนในท่อน้ำนมของหญิงที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตร ทำให้ท่อน้ำนมตีบหรืออุดตัน จนน้ำนมไหลได้ไม่สะดวกหรือคั่งอยู่ในเต้านม (Milk Stasis) ซึ่งก้อนบวมนูนที่เกิดขึ้นนี้อาจมีลักษณะแข็งหรืออ่อนนุ่มก็ได้

ท่อน้ำนมอุดตันพบได้บ่อยแค่ไหน

ภาวะท่อน้ำนมอุดตันสามารถพบได้ทั่วไปในคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร คุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรแต่ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่ หรือคุณแม่ที่เพิ่งหยุดให้ลูกกินนมแม่ โดยผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2011 จากประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า 4.5% จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคุณแม่ให้นมบุตรประสบปัญหาท่อน้ำนมอุดตันในช่วงปีแรกของการให้นมบุตร

อาการ

อาการของท่อน้ำนมอุดตัน

อาการทั่วไปของภาวะท่อน้ำนมอุดตัน มีดังนี้

  • เจ็บปวดบริเวณเต้านม
  • มีก้อนบวม อ่อนนุ่มในเต้านม
  • รู้สึกว่าเต้านมบวมหรือร้อนที่เต้านม
  • น้ำนมจากเต้านมข้างหนึ่งไหลช้าลง
  • ผิวหนังบริเวณเต้านมบริเวณใดบริเวณหนึ่งมีลักษณะขรุขระ
  • มีจุดสีขาวเล็ก ๆ บริเวณหัวนม (Milk Bleb หรือ White Spot หรือ Milk Blister)

ในบางกรณี ภาวะท่อน้ำนมอุดตันอาจทำให้มีไข้ต่ำ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าเต้านมติดเชื้อ  ฉะนั้น หากคุณมีไข้ร่วมกับมีอาการรู้สึกเจ็บปวดที่เต้านม เต้านมบวมแดง หรือมีก้อน ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถามเกี่ยวกับอาการของโรค หรือมีอาการต่อไปนี้ โปรดปรึกษาแพทย์

  • ก้อนบวมนูนไม่หายไปภายใน 3 วัน
  • ก้อนบวมนูนขึ้น
  • หัวนมหรือเต้านมใกล้เคียงบวมแดง และขยายวงขึ้นเรื่อย ๆ
  • มีไข้

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของท่อน้ำนมอุดตัน

ภาวะท่อน้ำนมอุดตันอาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

ลูกดูดนมผิดวิธี

หากเด็กดูดนมด้วยท่าดูดนม หรือท่าเข้าเต้าที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้เด็กไม่สามารถดูดน้ำนมออกจากเต้าได้มากเท่าที่ควร ส่งผลให้มีน้ำนมคั่งหรือตกค้างอยู่ในเต้านม และอาจทำให้ท่อน้ำนมอุดตันได้

เต้านมคัด (Breast Engorgement)

หากคุณแม่ไม่ปั๊มน้ำนม หรือให้ลูกกินนมบ่อย ๆ หรือเว้นระยะในการให้นมหรือปั๊มน้ำนมแต่ละครั้งนานเกินไป อาจส่งผลให้น้ำนมที่ร่างกายผลิตขึ้นมาค้างอยู่ในเต้านม และทำให้ท่อน้ำนมอุดตันได้ ปัญหาเต้านมคัดนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อเด็กเริ่มนอนกลางคืนยาวขึ้นได้ด้วย

ร่างกายผลิตน้ำนมเยอะเกินไป

หากร่างกายของคุณผลิตน้ำนมได้เยอะเกินไป ก็อาจทำให้เต้านมคัด และเกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตันได้

มีตุ่มพองในท่อน้ำนม

ตุ่มพองที่เกิดขึ้นที่ปลายท่อน้ำนมอาจทำให้ท่อน้ำนมตีบ จนน้ำนมไหลออกมาจากหัวนมไม่ได้ และไหลย้อนกลับจนไปอุดตันกันอยู่ในท่อน้ำนมได้

เต้านมถูกกดทับมากเกินไป

การสวมเสื้อในที่รัดแน่นหรือคับเกินไป อาจทำให้เกิดแรงกดทับที่เนื้อเยื่อเต้านมมากขึ้น จนนำไปสู่ภาวะท่อน้ำนมอุดตันได้ นอกจากนี้ การสะพายกระเป๋าหนักเกินไป ก็ทำให้เกิดแรงกดทับที่เต้านมได้มากเช่นกัน

ภาวะขาดน้ำ และอาการอ่อนเพลีย

การพักผ่อนน้อย และดื่มน้ำไม่เพียงพอก็สามารถทำให้ท่อน้ำนมอุดตันได้

การหย่านม

หากคุณแม่ให้ลูกหย่านมแบบหักดิบ หรือหย่านมเร็วเกินไป ก็อาจทำให้เต้านมคัด ท่อน้ำนมอุดตัน ทั้งยังเกิดโรคเต้านมอักเสบ (Mastitis) ได้ด้วย

การออกกำลังกาย

รูปแบบการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก โดยเฉพาะที่ลำตัวช่วงบน ก็สามารถทำให้ท่อน้ำนมอุดตันได้

โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

แพทย์จะสอบถามอาการ วิธีการให้นม และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด ตัวอย่างคำถามที่แพทย์อาจซักถามคุณ เช่น

  • ท่าให้นมลูกที่ใช้ประจำ โดยอาจให้คุณทำท่าให้ดูเพื่อสังเกตตำแหน่งการกดเต้านมหรือการวางนิ้ว
  • ความถี่ของการให้นมลูก คุณแม่ให้นมตามที่ลูกต้องการหรือไม่ และให้นมลูกบ่อยแค่ไหน
  • เสื้อผ้าที่สวมใส่ คุณแม่ใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในคับแน่นเกินไปหรือไม่
  • หลังให้นมในแต่ละครั้งอาการคัดเต้านมหายไปหรือไม่ 
  • มีการปั๊มนมเพิ่มเติมหรือไม่

การรักษาภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

ภาวะท่อน้ำนมอุดตันสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น การใช้ยา การนวดบำบัด การประคบร้อน นอกจากนี้ยังมีวิธีทางเลือกอื่นด้วย เช่น การรักษาด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์ แต่โดยปกติแล้ว ภาวะท่อน้ำนมอุดตันส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 1-2 วัน โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาเฉพาะ

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการรักษาตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการรักษาตัวเองที่ช่วยรับมือกับภาวะท่อน้ำนมอุดตัน

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณรับมือกับภาวะท่อน้ำนมอุดตันได้ดีขึ้น

  • ให้ลูกกินนมด้วยท่าเข้าเต้าที่ถูกต้อง หากไม่แน่ใจว่าวิธีการใดถึงจะถูกต้องและเหมาะสมที่สุด ก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้
  • ให้ลูกกินนม หรือปั๊มน้ำนมทุก ๆ 1-3 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นหากคุณต้องการ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำนมคั่งในเต้านม
  • หากคุณไม่รู้สึกเจ็บปวด ควรเริ่มให้ลูกกินนมจากเต้านมข้างที่มีปัญหาท่อน้ำนมอุดตันก่อน เพราะเด็กจะดูดนมเต็มแรง ซึ่งอาจช่วยกำจัดน้ำนมที่คั่งค้างอยู่ได้ แต่หากคุณเจ็บจนทนไม่ไหว หรือเต้านมข้างที่ท่อน้ำนมอุดตันบวมหรือกดเจ็บ ควรให้ลูกกินนมจากเต้านมอีกข้างก่อน รอให้กลไกการหลั่งน้ำนม (Let-down Reflex) หรือที่เรียกว่ากลไกลน้ำนมพุ่ง (Milk Ejection Reflex) ในเต้านมข้างที่ท่อน้ำนมอุดตันเริ่มทำงาน จึงค่อยเปลี่ยนให้มาให้ลูกกินนมจากเต้าข้างนี้
  • ประคบร้อนที่บริเวณเต้านมข้างที่ท่อน้ำนมอุดตัน ครั้งละ 20 นาที หรืออาบน้ำอุ่น เพื่อช่วยกระตุ้นกลไกการหลั่งน้ำนม และทำให้น้ำนมไหลคล่องขึ้น
  • นวดบริเวณที่มีอาการเบา ๆ ในขณะที่ประคบร้อน และขณะที่ให้นมลูก
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
  • ให้ลูกหย่านมแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่าหักดิบ
  • อย่าใช้วิธีเจาะหรือพยายามบีบให้ท่อน้ำนมหายอุดตัน

หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา