backup og meta

วิธี เก็บ น้ำนม และการละลายนม ควรทำอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

    วิธี เก็บ น้ำนม และการละลายนม ควรทำอย่างไร

    น้ำนมแม่ มีวิตามิน โปรตีน และแร่ธาตุที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของลูกน้อยเพื่อต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ช่วยย่อยอาหาร และช่วยลดอาการท้องอืด โดยคุณแม่อาจปั๊มนมเก็บใส่ขวดไว้สำหรับป้อนให้ลูกน้อยในภายหลัง แต่คุณแม่ควรศึกษา วิธี เก็บ น้ำนม อย่างถูกต้องหลังจากปั๊มนมเสร็จ เพื่อรักษาคุณค่าโภชนาการ สารอาหารในนม ให้ลูกกินในครั้งถัดไป

    ประโยชน์ของนมแม่

    นมแม่ โดยเฉพาะน้ำนมแรกที่ออกมาจากเต้านม หรือที่เรียกว่าน้ำนมเหลือง มีวิตามิน โปรตีน ไขมัน และสารอาหารที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของสมองและระบบประสาทของลูก อีกทั้งยังมีแอนติบอดีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภูมิคุ้มกันให้ต่อสู่กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายลูก เช่น ไวรัส แบคทีเรีย ช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารหรือปอด ท้องร่วง โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคไหลตายในทารก

    อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวี วัณโรค สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติด ทำเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง และใช้ยาบางชนิดเช่น ยาบรรเทาอาการปวดหัว ควรหลีกเลี่ยงการให้นมลูก เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจทำให้ลูกได้รับเชื้อไวรัสหรือสารพิษที่เป็นอันตราย

    วิธี เก็บ น้ำนม แม่

    วิธีเก็บน้ำนมแม่ มีดังนี้

    • ล้างมือและะใช้อุปกรณ์เครื่องปั๊มนมที่สะอาด ประคบอุ่นที่เต้านมทั้ง 2 ข้าง(เว้นบริเวณหัวนม) หลังจากนั้นค่อย ๆ เริ่มนวดเต้านมเบา ๆ เป็นวงกลมจากฐานเข้าหาหัวนม บีบเก็บน้ำนมด้วยมือหรือเครื่องปั๊มนม (หลีกเลี่ยงการเค้น หรือการรีด) ภาชนะที่ใช้บรรจุนมต้องสะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อ เช่น ถุงเก็บน้ำนม ภาชนะที่ทำจากแก้วเกรดสำหรับใช้เก็บอาหารที่มีฝาปิดสนิทที่ผ่านการต้มหรือนึ่งอย่างน้อย 10 นาที ไม่ควรเก็บน้ำนมแม่ในขวดโหลแบบใช้แล้วทิ้ง หรือถุงพลาสติกทั่วไป
    • ติดฉลากบนภาชนะที่บรรจุน้ำนม ระบุวันที่เก็บน้ำนมให้ชัดเจน
    • ควรบรรจุน้ำนมในปริมาณที่พอดีสำหรับแต่ละมื้อ และควรเว้นที่ว่างในภาชนะไว้ประมาณ 1 นิ้ว เนื่องจากน้ำนมอาจมีการขยายตัวเมื่อแช่แข็ง
    • แช่น้ำนมในช่องแช่แข็งของตู้เย็น สำหรับช่องแช่แข็งอุณหภูมิประมาณ -18 องศา ควรให้ลูกกินภายใน 6 เดือนหลังจากเก็บน้ำนม สำหรับช่องแช่อาหารที่มีอุณหภูมิ 4 องศา หรือต่ำกว่า ควรให้ลูกกินภายใน 3-4 วัน สำหรับน้ำนมที่เก็บในอุณหภูมิประมาณ 25 องศา หรือต่ำกว่า ควรให้ลูกกินภายใน 4 ชั่วโมง
    • ควรแช่นมในไว้ด้านในสุดของตู้เย็น ไม่ควรวางไว้ตรงช่องประตูตู้เย็น เพราะการเปิด-ปิดประตูตู้เย็นอาจทำให้อุณหภูมิน้ำนมเปลี่ยน และส่งผลเสียต่อคุณภาพของน้ำนมแม่ได้

    การละลายนมแม่

    การละลายน้ำนมให้ลูกกิน ควรเลือกนมที่เก่าที่สุดก่อน โดยนำภาชนะที่บรรจุน้ำนมมาแช่ในน้ำอุ่น แล้วรอให้น้ำนมละลาย ไม่ควรละลายนมด้วยไมโครเวฟ เพราะอาจทำให้นมได้รับความร้อนมากเกินไปจนสารอาหารในน้ำนมหายไป อีกทั้งยังอาจทำให้น้ำนมแม่ร้อนเกินไป เสี่ยงลวกปากลูกน้อย

    สำหรับน้ำนมที่แช่ในช่องแช่แข็งควรละลายด้วยการนำมาวางที่ตู้เย็นช่องธรรมดา เพื่อรอให้นมละลายจนหมด แล้วควรให้ลูกกินภายใน 24 ชั่วโมง หากลูกกินนมเหลือสามารถให้ลูกกินนมอีกครั้งได้ภายใน 2 ชั่วโมง หากเกินกว่านี้ควรทิ้งในทันทีและไม่ควรนำนมไปแช่แข็งอีกครั้ง เพราะอาจทำให้รสชาตินมเปลี่ยน มีกลิ่น หรือบูดได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา