backup og meta

ลูกเล่นกีฬา พ่อแม่จะป้องกันอย่างไรให้ลูกห่างไกลจากอาการบาดเจ็บ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 12/10/2022

    ลูกเล่นกีฬา พ่อแม่จะป้องกันอย่างไรให้ลูกห่างไกลจากอาการบาดเจ็บ

    ลูกเล่นกีฬา เป็นการออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นอกจากนั้น การเล่นกีฬายังเป็นการช่วยส่งเสริมมิตรภาพระหว่างเด็ก ๆ และส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมอีกด้วย แต่เมื่อลูกเล่นกีฬาทำให้มีโอกาสเสี่ยงเกิดอาการบาดเจ็บ ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจหาวิธีป้องกันและการดูแลเมื่อลูกบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

    ลูกเล่นกีฬา ต้องเจอความเสี่ยงกับอะไรบ้าง

    การเล่นกีฬาแทบทุกประเภทมักเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บ ยิ่งกีฬาที่เล่นมีความเสี่ยงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการบาดเจ็บมากเท่านั้น โดยการบาดเจ็บจากกีฬาที่มักจะพบบ่อยที่สุดก็คือ อาการเคล็ดขัดยอก บาดเจ็บที่เส้นเอ็นข้อเท้า บาดเจ็บกล้ามเนื้อ และบาดเจ็บที่กระดูก ซึ่งอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบนเอ็นข้อต่อและกระดูกนั้น ถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กที่กำลังมีการเจริญเติบโต กระดูกมักค่อนข้างเปราะบาง ดังนั้น เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บหรือมีอาการบวมที่ข้อต่าง ๆ ควรได้รับการดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการให้เคลื่อนไหวร่างกายบริเวณนั้นให้น้อยที่สุด จากนั้นนำเด็กส่งโรงพยาบาลเพื่อให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญตรวจรักษา

    วิธีป้องกันลูกบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

    สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกเล่นกีฬา แต่กลัวว่าลูกจะบาดเจ็บ อาจหาวิธีป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนี้

    • อย่าแสดงความสามารถพิเศษในการเล่นกีฬาเร็วเกินไป

    เด็ก ๆ มักต้องการแสดงความสามารถพิเศษในการเล่นกีฬาออกมาเพื่อให้คนรอบข้างชื่นม อย่างเช่น ยิมนาสติก  ฟุตบอล แต่หากฝืนร่างกายมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นได้ และมักจะมาพร้อมกับความเครียดด้วย  ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ปกครองก็คือ ให้ลูกค่อย ๆ ฝึกเล่นกีฬาที่ชอบ และอาจให้ลูกหยุดเล่นกีฬาที่ถนัดอย่างน้อย 3 เดือนในแต่ละปี การหยุดพักเล่นกีฬาไม่เพียงแต่จะเป็นการป้องกันการบาดเจ็บแล้ว ยังเป็นการป้องกันการเหนื่อยหน่ายทางจิตใจของเด็ก ๆ อีกด้วย โดยอาจหากิจกรรมอื่น ๆ ที่ชื่นชอบรองลงมาเพื่อทดแทนการเล่นกีฬาชนิดนั้น ๆ

    • ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม

    การเลือกอุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยที่มีขนาดเหมาะสมและพอดีกับตัวเด็ก ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก ถ้าเด็ก ๆ ขี่จักรยาน ควรสวมหมวกนิรภัย หรือสนับเข่า

    นอกจากนั้น อุปกรณ์ป้องกันควรได้รับมาตรฐานอุปกรณ์กีฬา เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือ มอก. รวมทั้งได้รับการรับรองจากองค์กรควบคุมกีฬาแต่ละประเภท เช่น หน้ากากสำหรับใส่เล่นฮอกกี้ควรได้รับการอนุมัติจากสภารับรองอุปกรณ์ฮอกกี้ (Hockey Equipment Certification Council หรือ HECC) หรือสมาคมมาตรฐานแคนาดา (Canadian Standards Association หรือ CSA) หมวกกันน็อคจักรยานควรมีสติกเกอร์รับรองความปลอดภัยจากคณะกรรมการความปลอดภัยผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภค (Consumer Product Safety Commission หรือ CPSC)

    • สังเกตและตรวจสอบประวัติโค้ชและโปรแกรมต่าง ๆ ของกีฬา

    โปรแกรมการเล่นกีฬาบางอย่างอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ดูแลหรือโค้ช แต่บางโปรแกรมกีฬาจำเป็นต้องมีโค้ชในการควบคุม ดังนั้น ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกเล่นกีฬาอะไรก็ตามแต่ ควรสอบถามถึงประวัติและประสบการณ์ในการดูแลเด็ก ๆ และการเล่นกีฬาชนิดนั้น ๆ ของโค้ชด้วยว่ามีความเชี่ยวชาญมากน้อยเพียงใด

    • การบำรุงรักษาและความเหมาะสมของสถานที่ที่ใช้ในการเล่นกีฬา

    คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบดูก่อนว่าสนามกีฬาที่เด็กจะเล่นนั้นมีหลุมหรือร่องที่อาจทำให้เด็กตกลงไปได้หรือไม่ กีฬาบางประเภทอาจจะต้องใช้แรงกระแทกสูง อย่าง บาสเกตบอล ดังนั้น พื้นผิวของบริเวณสนามควรเป็นพื้นผิวเฉพาะสำหรับกีฬาบาสเกตบอล มากกว่าพื้นผิวที่เป็นคอนกรีต

    • มีช่วงเวลาหยุดพักจากการเล่นกีฬา

    หากเด็กเล่นกีฬาเป็นประจำ ควรหยุดพักการเล่นกีฬาอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ หรือต่อเดือน และต่อปี เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาฟื้นฟูตัวเองและลดความเสี่ยงที่ร่างกายจะบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาประเภทนั้น ๆ

    • การกำกับดูแลของผู้ใหญ่และความมุ่งมั่นในความปลอดภัย

    กิจกรรมหรือกีฬาของเด็ก ๆ ที่เล่นกันเป็นทีม ควรมีผู้ใหญ่คอยดูแลเพื่อความปลอดภัยและสอดส่องหากเกิดอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ได้ โดยผู้ควบคุมหรือดูแลควรได้รับการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น (Cardiopulmonary resuscitation หรือ CPR) เผื่อกรณีฉุกเฉินเกิดอาการบาดเจ็บระหว่างการเล่นกีฬา รวมทั้งมีการกำหนดกฎกติกาในการเล่นและข้อกำหนดการใช้อุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บอยู่ตลอดเวลา

    • การเตรียมตัวและเล่นกีฬาที่เหมาะสม

    คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกเล่นกีฬาที่ตรงกับระดับความสามารถ วุฒิภาวะทางร่างกาย อารมณ์ และระดับพัฒนาการ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ลูกเล่นกีฬาที่พวกเขาไม่ถนัดหรือไม่ชอบ เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บและอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ ที่สำคัญ ก่อนเล่นกีฬา เด็ก ๆ ควรจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม มีการวอร์มอัพและฝึกซ้อมก่อนลงเล่นจริงเสมอ เพื่อความสนุก ปลอดภัย และลดโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ นอกจากนั้น ควรให้เด็ก ๆ ดื่มน้ำ สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสม และมีเวลาหยุดพักระหว่างการเล่นกีฬา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 12/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา