backup og meta

พัฒนาสมองของลูกน้อยให้ฉับไวด้วย เกมซูโดกุ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

    พัฒนาสมองของลูกน้อยให้ฉับไวด้วย เกมซูโดกุ

    เกมซูโดกุ (Sudoku) เป็นเกมเติมตัวเลขลงในช่องตาราง โดยใช้ตัวเลขที่กำหนดให้ซึ่งเป็นตัวเลขตั้งแต่เลข 1 ถึงเลข 9 ใส่ลงในแต่ละแถวของตาราง โดยที่ตัวเลขจะต้องไม่ซ้ำกันทั้งแนวนอนและแนวตั้ง เกมซูโดกุจัดว่าเป็นหนึ่งในเกมลับสมองที่อาจมีส่วนช่วยในการพัฒนาสมอง และอาจช่วยกระตุ้นทักษะการคำนวณได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก ๆ ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเติบโต การใช้เกมหรือกิจกรรมสำหรับพัฒนาทักษะจะช่วยให้เด็กมีการพัฒนาเติบโตได้อย่างสมบูรณ์และรวดเร็ว

    ซูโดกุ กับ คณิตศาสตร์

    หลายคนอาจยังเข้าใจผิดว่า ซูโดกุ เป็นเกมคณิตศาสตร์ แต่โธมัส ซินเดอร์ (Thomas Snyder) แชมป์ซูโดกุระดับโลกกล่าวว่า ซูโดกุ เป็นเกมที่เหมือนกับเกมตัวต่อ ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะความรู้ขั้นสูงในการเล่น มีเพียงตัวเลข 9 ตัว ที่แตกต่างกันและต้องนำไปวางลงในตารางเพื่อเชื่อมต่อกับจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการที่คล้ายกับการต่อตัวต่อทั่วไป ดังนั้น ต่อให้ไม่เก่งคณิตศาสตร์ ก็สามารถเล่นเกมนี้ได้อย่างแน่นอน 

    ประโยชน์ของเกมซูโดกุ

    ซูโดกุ ได้ชื่อว่าเป็นเกมลับสมองที่มีส่วนในการเสริมพัฒนาการของระบบสมอง โรงเรียนหลายแห่งได้มีการนำเกมนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน โดยมุ่งหวังให้เด็ก ๆ ได้มีการกระตุ้นระบบความคิดของตนเอง รวมถึงประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

    • ช่วยเพิ่มความจำ

    ในระหว่างเล่น ซูโดกุ ระบบความจำกับระบบความคิดแบบตรรกะจะทำงานไปพร้อม ๆ กัน โดยสมองจะใช้ทั้งความจำในการจดจำตัวเลข และใช้ความคิดแบบตรรกะในการจำแนกตัวเลขที่แตกต่างกันสำหรับเติมลงในช่องว่างช่องต่อไป

    • ช่วยกระตุ้นระบบความคิด

    การเล่น ซูโดกุ เป็นประจำมีประโยชน์ในการกระตุ้นการทำงานของสมอง ในช่วงที่มีการขบคิดเพื่อที่จะแก้ปัญหาตัวเลขในตารางนั้น นับว่าเป็นการฝึกฝนสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับระบบความคิดแบบตรรกะ 

  • ช่วยลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์

  • เพราะโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับความทรงจำ การเล่น ซูโดกุ เป็นประจำ จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้สมองได้ทำงานอยู่เสมอ จึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับความทรงจำได้ ดังนั้น หากให้ผู้ใหญ่ฝึกเล่นเกมนี้บ่อย ๆ ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้เมื่ออายุมากขึ้นได้ 

    • เรียนรู้การตัดสินใจ

    การเล่นเกมซูโดกุ ไม่เพียงแต่ดีต่อระบบสมองเท่านั้น แต่ในทุก ๆ ครั้งที่มีการเติมตัวเลขลงในช่องว่าง ถือเป็นการช่วยพัฒนาทักษะการตัดสินใจของผู้เล่นไปในตัว

    • เสริมสร้างสมาธิ

    ผู้ที่ไม่ค่อยมีสมาธิ หรือมักจะว่อกแว่กอยู่เสมอ อาจลองเล่นซูโดกุเพื่อช่วยเสริมสร้างสมาธิ เพราะขณะเล่นซูโดกุ จำเป็นที่จะต้องใช้สมาธิจดจ่อกับเกม เพื่อแก้ปัญหาตัวเลขในตาราง เมื่อหยุดเล่นไปกลางคัน ก็จะต้องรื้อฟื้นสมาธิเพื่อดึงตัวเองกลับเข้าไปในเกมอีกครั้ง เรียกได้ว่า สมาธิเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับเกมนี้อย่างมาก หากเด็กคนไหนมีภาวะสมาธิสั้น ผู้ปกครองอาจลองให้เล่นเกมนี้เพื่อกระตุ้นให้สามารถจดจ่อหรือมีสมาธิมากขึ้นได้

    หากคุณพ่อคุณแม่ กำลังมองหากิจกรรมเสริมทักษะสำหรับเด็กในวัยที่กำลังเรียนรู้  อาจเลือกพิจารณาเกม ซูโดกุ สำหรับเป็นกิจกรรมของคนในครอบครัว ช่วยกันคิด ช่วยกันไขปัญหาในเกม นอกจากจะเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เสริมความรักและความอบอุ่นในครอบครัวแล้ว ก็ยังช่วยพัฒนาสมอง เสริมความจำให้ทุกคนอีกด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา