backup og meta

ลูก1ขวบไม่ยอมกินข้าว สาเหตุ และการแก้ปัญหา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 16/08/2023

    ลูก1ขวบไม่ยอมกินข้าว สาเหตุ และการแก้ปัญหา

    สาเหตุที่ ลูก1ขวบไม่ยอมกินข้าว อาจมาจากการที่ลูกรู้สึกเบื่ออาหาร ห่วงเล่น หากคุณพ่อคุณแม่ตามใจปล่อยให้ลูกรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา อาจทำให้ลูกเคยชิน และนำไปสู่การเจ็บป่วยหรือร่างกายขาดสารอาหารได้ ดังนั้น จึงควรศึกษาสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมกินข้าว รวมถึงเรียนรู้วิธีช่วยให้ลูกกินอาหาร เช่น เปลี่ยนเมนูอาหาร จัดเรียงอาหารให้น่าสนใจ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารและพลังงานที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต

    ลูก1ขวบไม่ยอมกินข้าว เกิดจากอะไร

    ลูก 1 ขวบไม่ยอมกินข้าว อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    • ถูกกดดัน คุณพ่อคุณแม่อาจกดดันลูกขณะกินข้าวโดยไม่รู้ตัว เช่น จ้องมองลูก ป้อนอาหารลูกเร็วเกินไป ดันชามข้าวเข้าใกล้ตัวลูกมากเกินไป ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่อยากรับประทานอาหาร และต่อต้านการกินข้าวเมื่อถึงเวลาที่ควรกิน
    • เบื่ออาหาร หากให้ลูกรับประทานอาหารเมนูเดิม ๆ ทุกมื้อ เป็นประจำทุกวัน อาจทำให้ลูกรู้สึกเบื่ออาหารและไม่ยอมกินข้าว
    • ห่วงเล่น เด็กช่วงวัย 1 ขวบ อาจอยู่นิ่งกับที่ยาก เนื่องจากห่วงเล่น ทำให้อาจไม่ยอมกินข้าวหรือกินได้น้อย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรหาอุปกรณ์สำหรับกินข้าวที่แปลกใหม่และดึงดูดความสนใจลูก เช่น ช้อนส้อม จานชามรูปการ์ตูนสีสันสดใส
    • กลัวการรับประทานอาหารแปลกใหม่ เป็นเรื่องปกติที่อาจพบได้บ่อยในเด็กช่วงอายุ 1-5 ขวบ คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มจากฝึกให้ลูกรับประทานอาหารในปริมาณน้อย เมื่อลูกกล้าที่จะรับประทาน ควรชมเชยลูกเพื่อเป็นการให้กำลังใจ
    • กินของว่างมากเกินไป หากลูกรับประทานอาหารว่างก่อนมื้ออาหาร เช่น ขนม นม น้ำผลไม้ อาจทำให้ลูกอิ่ม จนกินอาหารได้น้อย หรือบางคนอาจยอมไม่กินเลย
    • ปัญหาสุขภาพ เช่น การติดเชื้อไวรัส ท้องผูก หรือโรคเซลิแอค (Celiac Disease) ซึ่งเป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันไวต่อกลูเตน โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในข้าวบาร์เลย์ และข้าวสาลี ส่งผลให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย จนไม่อาจรับประทานอาหารต่อได้

    ผลเสียจากการที่ลูกไม่ยอมกินข้าว

    หากลูกไม่ยอมกินข้าว อาจเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ หรือร่างกายขาดสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต พัฒนาการ และรักษาระบบการทำงานของอวัยวะ เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้ลูกมีน้ำหนักลดลง ผิวซีด ผื่นขึ้น ผมร่วง ปวดข้อ เลือดออกเหงือก สูญเสียมวลกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหว และมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นช่วงเวลากลางคืน

    นอกจากนี้ การขาดสารอาหารยังอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ช่วยต่อสู้ไวรัส แบคทีเรีย และสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ลดลง ส่งผลให้ลูกน้อยอาจเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ ทั้งในระดับเบาจนถึงระดับรุนแรง เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัวใจล้มเหลว

    วิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว

    วิธีแก้ปัญหาเมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว อาจทำได้ดังนี้

    • ไม่ใช้ความรุนแรงเมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว เช่น การต่อว่า การตี การบังคับ เพราะอาจทำให้ลูกหวาดกลัว ควรใช้วิธีต่อรอง เช่น หากรับประทานข้าวเสร็จจะให้รางวัล หรือให้ดูการ์ตูน
    • ทำอาหารเมนูใหม่ ๆ ให้ลูก และควรตกแต่งอาหารให้สะดุดตาด้วยการใช้ผักหลากสีสัน จัดอาหารเป็นตัวการ์ตูน เพื่อดึงดูดความสนใจของลูก
    • ไม่ควรให้ลูกดื่มนมหรือรับประทานขนมและของว่างจนอิ่มก่อนรับประทานอาหารหลัก
    • ฝึกให้ลูกรับประทานอาหารเป็นเวลา และควรรับประทานพร้อมกันทั้งครอบครัว เพื่อสร้างบรรยากาศในการรับประทานอาหารที่ดีให้กับลูก
    • พยายามให้ลูกนั่งรับประทานอาหารอยู่กับที่ เพื่อให้ลูกจดจำว่าเป็นช่วงเวลารับประทานอาหาร
    • ในขณะที่รับประทานอาหาร ไม่ควรเปิดทีวี แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ หรือมีของเล่นรอบตัวลูก เพราะอาจทำให้ลูกสนใจสิ่งอื่นมากกว่า และอมข้าว ไม่ยอมกินข้าว
    • ควรเริ่มฝึกให้ลูกรับประทานอาหารด้วยตัวเอง ด้วยการให้ลูกจับช้อนตักอาหาร หรือใช้มือ และควรชมเชยหรือปรบมือเมื่อลูกทำสำเร็จ เพื่อให้ลูกสนุกกับการกิน
    • สังเกตว่าลูกชอบอาหารเมนูใด รสชาติใด แล้วให้ลูกรับประทานอาหารแบบนั้น เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลูกกินอาหารได้มากขึ้น
    • กำหนดระยะเวลาการรับประทานอาหารให้ลูกประมาณ 45 นาที และเก็บจานทันทีเมื่อครบเวลา โดยไม่ควรแสดงความโกรธ และงดของว่างและขนม เพื่อกระตุ้นให้เด็กรู้สึกหิวเมื่อถึงมื้อถัดไป และจะทำให้เจริญอาหารได้ดี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 16/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา