backup og meta

ลูกวัยประถม น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ควรทำอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 20/05/2022

    ลูกวัยประถม น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ควรทำอย่างไร

    การมีน้ำหนักมากเกินไปหรือน้อยเกินไป อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น การมีน้ำหนักเกินอาจเป็นสัญญาณของโรคอ้วน หรือถ้าลูกของคุณมี น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ อาจเป็นสัญญาณว่าเด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ แล้วคุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือไม่ และควรดูแลลูกอย่างไรดี วันนี้ Hello คุณหมอมีคำตอบมาให้คุณค่ะ

    รู้ได้อย่างไรว่าลูกคุณ น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์

    เด็กวัยประถม อายุ 6-12 ปี ยังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต ซึ่งหมายความว่าพวกเขาต้องการพลังงาน (แคลอรี่) และสารอาหาร จากการกินอาหารที่มีประโยชน์และอาหาร 5 หมู่ และในกรณีที่เด็กๆ มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ อาจหมายความว่าพวกเขาได้รับแคลอรี่จากอาหารไม่เพียงพอ

    เรามักจะใช้ตารางการเจริญเติบโต (growth charts) ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา เพื่อดูค่าน้ำหนัก ความสูง และค่าดัชนีมวลกาย (BMI, body mass index) ซึ่งสำหรับเด็กวัยรุ่น เด็กวัยประถม และเด็กเล็ก ที่มีอายุ 2-18 ปี การคำนวณค่าดัชนีมวลกายจะคำนวณจาก อายุ เพศ ความสูง และน้ำหนัก ซึ่งเด็กที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานถือว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นโรคต่างๆ และสำหรับค่าดัชนีมวลกายจะมีเกณฑ์ดังนี้

  • น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ โดยมีค่าเปอร์เซนไทล์อยู่ที่ 2 หรือต่ำกว่า
  • น้ำหนักตามเกณฑ์ อยู่ระหว่างค่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 2 และเปอร์เซ็นไทล์ที่ 91
  • น้ำหนักมากกว่าเกณฑ์ มีค่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 91 หรือมากกว่า
  • อ้วน ค่าเปอร์เซ็นไทล์จะอยู่ที่ 98 หรือมากกว่า
  • อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้วัดรอบเอวของเด็ก เนื่องจากไม่ได้นำความสูงมาคำนวณด้วย จึงอาจไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือไม่ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถสังเกตได้ว่าเด็กๆ มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือไม่ด้วยวิธีเหล่านี้

    • สังเกตจากน้ำหนัก เด็กทุกคนมักจะมีน้ำหนักปกติของตัวเอง แต่ถ้าน้ำหนักของลูกลดลงผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
    • สังเกตจากเสื้อผ้า ผู้ปกครองสามารถสังเกตจากเสื้อผ้าของเด็ก โดยการใส่เสื้อผ้าไซส์เดิมเป็นเวลาหลายเดือน อาจหมายความได้ว่าเด็กไม่เติบโตขึ้นตามวัย หรือร่างกายไม่พัฒนาขึ้น รวมถึงอาจมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งในกรณีนี้ ควรปรึกษาแพทย์
    • สังเกตจากรูปร่าง เวลาไปว่ายน้ำ หรือไปทะเล หากเด็กๆ อยู่ในชุดว่ายน้ำและดูผอมผิดปกติ เช่น ผอมจนมองเห็นซี่โครง อาจเป็นสัญญาณว่าลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์

    ลูกน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เกิดจากสาเหตุใดบ้าง

    เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เนื่องจากร่างกายต้องเจริญเติบโตให้ทัน แต่เหตุผลที่พบบ่อยของเด็กวัยประถม ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ มักจะเกิดจากการได้รับอาหารไม่เพียงพอ โดยอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ ดังนี้

  • ปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD, attention deficit-hyperactivity disorder) ที่สามารถทำให้ความอยากอาหารลดลง
  • แพ้อาหาร ซึ่งอาจทำให้เด็กได้รับแคลอรี่ไม่เพียงพอ
  • ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน หรือการย่อยอาหาร รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่นที่ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ไม่เพียงพอ จนทำให้เด็กมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
  • ดูแลลูกอย่างไร ให้มีน้ำหนักตามเกณฑ์และสุขภาพดี

    การกินอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารครบ 5 หมู่ทุกมื้อ รวมถึงออกกำลังกายเป็นประจำ จะทำให้เด็กๆ มีสุขภาพแข็งแรง และเป็นวิธีที่สามารถรักษาให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ดีที่สุด นอกจากนี้นายแพทย์สตีเฟน วอล์ช ผู้อำนวยการด้านการแพทย์เพื่อสุขภาพเด็ก แห่ง Children’s Healthcare of Atlanta ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังให้ข้อมูลสนับสนุนด้วยว่า พ่อแม่สามารถช่วยให้เด็กๆ มีสุขภาพดีได้ด้วยการปฏิบัติดังนี้

  • ทำกิจกรรมที่ทำให้ขยับร่างกายเป็นเวลา 60 นาทีต่อวัน การเล่นนอกบ้าน หรือการวิ่งเล่นที่สนามเด็กเล่น เป็นเวลา 60 นาทีต่อวัน จะช่วยทำให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง
  • ดื่มน้ำให้มาก และกินผักและผลไม้มากขึ้น ควรให้เด็กๆ ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน และเพิ่มผักและผลไม้ไปในมื้ออาหาร
  • นอนหลับอย่างเพียงพอ ถ้าเด็กนอนไม่พอจะส่งผลต่อสุขภาพ และอาจเพิ่มความเครียดให้ร่างกาย
  • จำกัดเวลาที่เด็กอยู่หน้าจอ ได้แก่ เวลาที่ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้โทรศัพท์ ดูโทรทัศน์ และเล่นวิดีโอเกม
  • เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ

    ถ้าเด็กกินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายเป็นประจำ จะเห็นได้ว่าเด็กๆ จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและเจริญเติบโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรจดบันทึกน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กไว้อย่างสม่ำเสมอ หากเด็กยังคงมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อยู่ ควรปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ ควรระวังการเพิ่มน้ำหนัก ไม่ให้น้ำหนักมากกว่าเกณฑ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 20/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา