backup og meta

ประโยชน์ขององุ่น แหล่งสารอาหารที่ดีสำหรับลูกน้อย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Krittiya Wongtavavimarn


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 19/05/2022

    ประโยชน์ขององุ่น แหล่งสารอาหารที่ดีสำหรับลูกน้อย

    องุ่น เป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวาน เป็นที่นิยมของคนทุกเพศทุกวัย ประโยชน์ขององุ่นมีมากมาย อุดมไปด้วยสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อสุขภาพ อาจช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของเลือด ย่อยง่าย เป็นยาระบายอ่อน ๆ และอาจช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบประสาทและความจำ นอกจากนี้ เด็กยังสามารถรับประทานได้ง่าย เนื่องจากเป็นผลไม้ที่สามารถหยิบกินได้ทันที ช่วยให้ลูกน้อยได้ฝึกการเคลื่อนไหวและฝึกกล้ามเนื้อมืออีกด้วย

    คุณค่าทางโภชนาการขององุ่น

    องุ่น 100 กรัม มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 81.3 กรัม ให้พลังงาน 67 กิโลแคลอรี่ และมีวิตามินและแร่ธาตุ ดังนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 17.15 กรัม
    • น้ำตาล 16.25 กรัม
    • แคลเซียม 14 กรัม
    • โปรตีน 0.63 กรัมไขมัน 0.35 กรัม
    • ไฟเบอร์ 0.9 กรัม
    • โพแทสเซียม 191 มิลลิกรัม
    • วิตามินบี 60 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 5 มิลลิกรัม
    • วิตามินซี 4 มิลลิกรัม
    • เหล็ก 0.29 มิลลิกรัม
    • วิตามินเอ 100 IU

    นอกจากนี้ องุ่นยังอุดมไปด้วยสารอาหารอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินอี วิตามินเค โฟเลต (Folate) ฟอสฟอรัส โซเดียม สังกะสี ลูกอายุเท่าไหร่ถึงจะกินองุ่นได้

    คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกกินองุ่นได้เมื่อลูกสามารถเริ่มกินอาหารหยาบ โดยช่วงวัยที่เหมาะสมคือ อายุประมาณ 6-8 เดือน แต่ควรให้ลูกกินองุ่นสับละเอียด ไม่ควรให้ลูกกินองุ่นทั้งลูก เพราะอาจเสี่ยงติดคอได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มให้ลูกหัดกินอาหารหยาบ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตการรับประทานอาหารของลูกอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอาหารติดคอ และควรสังเกตอาการแพ้อาหารของลูกด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า เมื่อให้ลูกกินอาหารชนิดใหม่ ควรรออย่างน้อย 3 วัน หากไม่เกิดอาการแพ้ จึงค่อยให้ลูกกินอาหารนั้นซ้ำอีกครั้ง

    ประโยชน์ขององุ่นที่มีต่อสุขภาพเด็ก

    องุ่นอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมและบำรุงสุขภาพขององุ่น ดังนี้

    1. อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

    การเผาผลาญพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามวัย ส่งผลให้ร่างกายมีอนุมูลอิสระและสารพิษมากขึ้นตามไปด้วย และหากร่างกายไม่สามารถกำจัดอนุมูลอิสระและสารพิษออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้โมเลกุลดีเอ็นเอและเซลล์ที่แข็งแรงในร่างกายถูกทำลาย แต่หากลูกได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากองุ่น ก็อาจช่วยให้ร่างกายสามารถขับอนุมูลอิสระและกำจัดสารพิษออกไปได้อย่างปลอดภัยและเจริญเติบโตได้อย่างมีสุขภาพดี อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Critical Reviews in Food Science and Nutrition เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับสารประกอบจากองุ่นและประโยชน์ต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง พบว่า องุ่นเป็นผลไม้ที่นิยมปลูกและบริโภคมากที่สุดในโลก อุดมไปด้วยสารประกอบหลายชนิด เช่น กรดฟีนอลิก (Phenolic Acid) สติลบีน (Stilbene) แอนโธไซยานิน (Anthocyanin) และโปรแอนโธไซยานิดิน (Proanthocyanidin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพที่อาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ลดความเสี่ยงเกิดโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ

    1. ย่อยง่ายและอาจเป็นยาระบายอ่อน ๆ

    องุ่นมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก และมีเนื้อนิ่มมาก เด็กจึงสามารถเคี้ยวและกลืนได้สะดวก และองุ่นอาจเหมาะสำหรับเด็กที่มีปัญหาอาหารไม่ย่อย หรือท้องอืดท้องเฟ้อง่าย อาจช่วยบรรเทาปัญหากรดเกินได้ด้วย อีกทั้ง องุ่นยังมีไฟเบอร์ และสารประกอบหลายชนิดที่อาจมีคุณสมบัติเป็นยาระบายตามธรรมชาติ ช่วยให้อุจจาระนิ่ม ขับถ่ายง่ายขึ้นและช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้อีกด้วย

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Pediatric Gastroenterology, Hepatology & Nutrition เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับอาหารสำหรับอาการท้องผูก พบว่า องุ่นเป็นผลไม้ที่ย่อยง่าย อุดมไปด้วยสารอาหารและสารประกอบหลายชนิด เช่น น้ำ ซอร์บิทอล (Sorbitol) ฟรุกโตส (Fructose) ไฟเบอร์ ไฟโตเคมิคอล (Phytochemicals) ที่อาจใช้รักษาอาการท้องผูกในเด็กได้

    1. อาจช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของเลือด

    องุ่นอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจมีส่วนช่วยในการปรับปรุงการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น ช่วยให้เลือดสามารถลำเลียงเอาสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้อย่างเหมาะสม ซึ่งส่งผลดีต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กโดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ใน The Journal of Nutrition เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับโพลีฟีนอล (Polyphenols) จากองุ่นในการช่วยลดความดันโลหิตและเพิ่มการขยายหลอดเลือดในผู้ชายที่เป็นโรคเมตาบอลิซึม พบว่า องุ่นอุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอลซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอาจช่วยให้หลอดเลือดแดงแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของเลือดและยับยั้งการอักเสบของเซลล์และโมเลกุลอื่น ๆ ในเลือดที่อาจทำให้เลือดเหนียวซึ่งอาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือดได้

    1. อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

    องุ่นอาจมีส่วนช่วยในการปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดบวม ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ หอบหืด ซึ่งถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กทารก

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ใน The Journal of Nutrition เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคองุ่นช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในสัตว์และมนุษย์ พบว่า องุ่นอาจมีสารประกอบอย่างโปรแอนโธไซยานิดิน แอนโธไซยานิน ที่อาจช่วยรักษาหรือสนับสนุนการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะสนับสนุนการทำงานและเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาวแกมมาเดลตา ที เซลล์ (Gammadelta T Cells) จึงส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันและการป้องกันเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

    1. อาจช่วยปกป้องระบบประสาท

    วัยเตาะแตะเป็นช่วงที่สมองพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีเซลล์ประสาทและระบบการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา จึงควรปกป้องสมองและระบบประสาทของเด็กให้ดีที่สุด ซึ่งองุ่นอาจเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดีในการบำรุงสมองและปกป้องระบบประสาทของเด็ก เพราะองุ่นอุดมไปด้วยส่วนประกอบที่ดีต่อระบบประสาทส่วนกลาง และช่วยส่งเสริมให้สมองทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

    โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ใน Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพของผลเบอร์รี่ องุ่น และผลไม้รสเปรี้ยว ที่มีต่อสารป้องกันประสาท พบว่า ผลเบอร์รี่ องุ่น และผลไม้รสเปรี้ยว อาจมีประสิทธิภาพในการปกป้องระบบประสาท เพราะอุดมไปด้วยสารประกอบที่อาจช่วยต้านการอักเสบของเซลล์ ที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันเนื่องจากการทำลายของอนุมูลอิสระ และอาจช่วยบำรุงสมอง ต่อต้านความผิดปกติของระบบประสาทและจิตใจ โดยเฉพาะองุ่นที่อุดมไปด้วยแอนโธไซยานินเข้มข้นทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ ยังมีสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic) เช่น กรดแกลลิก (Gallic Acid) กรดเอลลาจิก (Ellagic Acid) และสารประกอบโพลีฟีนอล ที่อาจช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาท ปรับปรุงความจำและอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ในอนาคตได้อีกด้วย

    การเลือกซื้อองุ่นเพื่อให้ได้องุ่นที่ปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อลูก คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกซื้อองุ่น โดยควรเลือกซื้อองุ่นจากร้านค้าที่เชื่อถือได้หรือเป็นองุ่นออร์แกนิก (Organic) ที่ปลอดสารพิษและยาฆ่าแมลง หากให้ดีควรเลือกเป็นองุ่นชนิดไร้เมล็ด รสชาติไม่ควรเปรี้ยวหรือหวานเกินไป  เนื้อแน่น ไม่นิ่มหรือช้ำ ไม่ควรเลือกองุ่นที่หลุดร่วงจากพวงเพราะนั่นอาจหมายถึงองุ่นใกล้เน่าแล้ว และในขั้นตอนสุดท้ายควรนำองุ่นที่ซื้อมาแช่ตู้เย็นเพื่อคงความสดใหม่และป้องกันการเน่าเสีย

    ข้อควรระวังและเคล็ดลับให้ลูกกินองุ่นอย่างปลอดภัย

    การฝึกให้ลูกกินองุ่นอย่างปลอดภัย อาจสามารถทำได้ดังนี้

    • ก่อนให้ลูกกินองุ่นทุกครั้ง คุณพ่อคุณแม่ต้องล้างองุ่นให้สะอาด โดยเริ่มจากล้างด้วยน้ำไหลผ่าน จากนั้นนำไปแช่ในน้ำเกลือ น้ำผสมน้ำส้มสายชู หรือน้ำด่างทับทิมประมาณ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง เพื่อกำจัดเชื้อโรคและยาฆ่าแมลงที่อาจตกค้างอยู่
    • ไม่ควรให้ลูกกินองุ่นทั้งลูก โดยเฉพาะทารกที่ยังไม่มีฟัน ควรบดหรือสับองุ่นให้ละเอียดก่อนเสมอเพื่อป้องกันการติดคอ แต่หากเป็นเด็กที่โตที่สามารถเคี้ยวอาหารหยาบได้สามารถให้กินองุ่นโดยหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ แต่ต้องแคะเมล็ดองุ่นออกให้หมดก่อนเพื่อป้องกันเมล็ดองุ่นติดคอ วิธีเหล่านี้จะช่วยให้ลูกกินองุ่นได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาองุ่นติดคอ
    • ควรให้ลูกกินองุ่นสด เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารในองุ่นอย่างเต็มที่ และไม่ควรนำมาทำเป็นน้ำองุ่นแล้วเติมสารให้ความหวาน เพราะอาจทำให้ลูกติดหวาน และเพิ่มความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน เช่น ฟันผุ หรือหากลูกกินหวานมาก ๆ อาจทำให้เป็นโรคอ้วนได้ด้วย
    • หากเป็นองุ่นแช่เย็น ควรนำออกจากตู้เย็นมาพักไว้สักครู่ให้หายเย็นก่อนจึงค่อยให้ลูกกิน เพราะหากให้ลูกกินอาหารเย็นจัด อาจทำให้ไอหรือเป็นหวัดได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Krittiya Wongtavavimarn


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 19/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา