backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

เอซาไธโอพรีน (Azathioprine)

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

เอซาไธโอพรีน (Azathioprine)

ข้อบ่งใช้

ยา เอซาไธโอพรีน ใช้สำหรับ

ยา เอซาไธโอพรีน (Azathioprine) มักใช้เพื่อป้องกันการต่อต้านของร่างกาย สำหรับผู้ป่วยที่ทำการปลูกถ่ายอวัยวะไต ยานี้มักจะใช้ร่วมกับยาอื่น เพื่อให้ไตสามารถทำงานได้ตามปกติ ยาเอซาไธโอพรีนยังใช้เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) ซึ่งเป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายส่งผลกับบริเวณข้อต่อ

ยาเอซาไธโอพรีนนั้นอยู่ในกลุ่มของยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressants) ทำงานโดยการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแรงลง เพื่อใช้ให้ร่างกายสามารถปรับตัวเข้ากับไตใหม่ได้ (สำหรับกรณีปลูกถ่ายอวัยวะ) หรือช่วยป้องกันไม่ให้ข้อต่อเสียหายไปมากกว่าเดิม (สำหรับโรคข้อรูมาตอยด์)

ปรึกษากับแพทย์สำหรับความเสี่ยง และประโยชน์ในการใช้ยาเอซาไธโอพรีน โดยเฉพาะหากใช้กับเด็กหรือคนวัยหนุ่มสาว

วิธีการใช้ยา เอซาไธโอพรีน

รับประทานยานี้ตามที่แพทย์สั่ง โดยปกติ คือ วันละหนึ่งหรือสองครั้ง รับประทานพร้อมกับอาหาร เพื่อลดอาการปวดท้อง

ขนาดยาขึ้นอยู่กับสภาวะทางการแพทย์ น้ำหนัก และการตอบสนองต่อการรักษา อย่าเพิ่มขนาดยา หรือใช้บ่อยหรือนานกว่าที่กำหนด อาการของคุณจะไม่หายไวขึ้น และความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงจะเพิ่มมากขึ้น

ใช้ยานี้เป็นประจำ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากยา เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรใช้ในเวลาเดียวกันทุกวัน

สำหรับการรักษาโรคข้ออักเสบ อาจต้องใช้เวลามากถึง 2 เดือน กว่าที่อาการของคุณจะดีขึ้น แจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหลังจากรักษาไปนาน 3 เดือน

เนื่องจากยานี้สามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังและปอด และอาจทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ สตรีมีครรภ์หรืออาจจะตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยานี้ หรือสูดหายใจละอองจากยานี้

การเก็บรักษายา เอซาไธโอพรีน

ยาเอซาไธโอพรีนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงแสงหรือความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเกิดความเสียหาย ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาเอซาไธโอพรีนบางยี่ห้ออาจจะต้องเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบฉลากยาหรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัยโปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไม่ควรทิ้งยาเอซาไธโอพรีนลงในชักโครก หรือท่อระบายน้ำ เว้นแต่ได้รับคำแนะนำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาเอซาไธโอพรีน

ก่อนใช้ยาเอซาไธโอพรีน แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากคุณแพ้ยานี้ หรือแพ้ยาเมอร์เคปโตพิวรีน (mercaptopurine) หรือหากคุณมีโรคภูมิแพ้อื่นๆ ยานี้อาจมีส่วนผสมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือปัญหาอื่นได้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดปรึกษากับเภสัชกร

ก่อนใช้ยานี้ แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคต่อไปนี้คือ โรคไต โรคตับ โรคมะเร็ง ความผิดปกติของเอนไซม์บางชนิด เช่น ภาวะพร่องเอนไซม์ทีพีเอ็มที (TPMT deficiency)

ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ควรจำกัดเวลาในการอยู่ใต้แดด หลีกเลี่ยงการอาบแดด ควรทาครีมกันแดดและสวมเสื้อผ้าป้องกันเมื่ออยู่นอกบ้าน แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงการรักษาด้วยแสง (phototherapy) ขณะที่กำลังใช้ยานี้ สอบถามแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ยาเอซาไธโอพรีนสามารถทำให้คุณติดเชื้อ หรือทำให้อาการติดเชื้อที่เป็นอยู่แย่ลงได้ ควรหลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้ที่มีติดเชื้อที่อาจแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ เช่น โรคอีสุกอีใส โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ ปรึกษากับแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม หรือหากคุณเคยสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ

ก่อนการผ่าตัด โปรดแจ้งแพทย์หรือทันตแพทย์เกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณกำลังใช้ (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง และสมุนไพร)

อย่าสร้างภูมิคุ้มกัน (immunizations) หรือฉีดวัคซีนโดยไม่ปรึกษากับแพทย์ หลีกเลี่ยงการติดต่อกับผู้ที่พึ่งผ่านการฉีดวัคซีน (เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่สูดดมเข้าทางจมูก)

เพื่อลดโอกาสในการเกิดแผลบาด รอยช้ำ หรือบาดเจ็บ ควรระมัดระวังในการใช้ของมีคม เช่น ใบมีดโกนและกรรไกรตัดเล็บ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมอย่างกีฬาที่ต้องปะทะกัน

เนื่องจากยานี้สามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังและปอด และอาจทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ผู้ที่ตั้งครรภ์หรืออาจจะตั้งครรภ์ไม่ควรจับยานี้ หรือสูดหายใจละอองจากยานี้

แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ คุณไม่ควรตั้งครรภ์ขณะใช้ยานี้ เนื่องจากอาจทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ควรสอบถามแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เชื่อถือได้ขณะใช้ยานี้ หากคุณตั้งครรภ์ ควรปรึกษาเรื่องความเสี่ยงและประโยชน์ของยานี้กับแพทย์ในทันที

ยานี้สามารถไหลผ่านตามน้ำนมแม่ได้ และอาจส่งผลที่ไม่พึงประสงค์ต่อทารก โปรดปรึกษาแพทย์ก่อนการให้นมบุตร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อหาประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้ ยาเอซาไธโอพรีนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท D โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่มีข้อมูลเพียงพอ

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาเอซาไธโอพรีน

อาจเกิดอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน รับประทานยานี้พร้อมกับอาหารเพื่อลดอาการนี้ อาจเกิดอาการผมร่วงชั่วคราว หากผลข้างเคียงเหล่านี้ไม่ยอมหายไป หรือแย่ลง โปรดแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรในทันที

ผู้ที่ใช้ยานี้อาจจะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ แต่การที่แพทย์ได้สั่งให้ใช้ยานี้ เนื่องจากคำนวณแล้วว่ายาเป็นประโยชน์ต่อคุณ มากกว่าความเสี่ยงของผลข้างเคียง การที่แพทย์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อาจช่วยลดความเสี่ยงได้

แจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากคุณมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรง ได้แก่ ท้องร่วง อาการปวดข้อต่อ/กล้ามเนื้อแห่งใหม่หรือร้ายแรงขึ้น

รับการรักษาในทันทีหากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรงมาก ได้แแก่ คลื่นไส้/อาเจียนไม่ยอมหยุด ปวดท้อง ปัสสาวะสีเข้ม ผิวและตาเป็นสีเหลือง

ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่สมองที่หายากและรุนแรงมาก (อาจถึงชีวิต) เช่น โรค PML (progressive multifocal leukoencephalopathy) รับการรักษาในทันทีหากคุณมีผลข้างเคียงดังต่อไปนี้ ได้แก่ ซุ่มซ่าม สูญเสียการเคลื่อนไหวที่สอดประสานกัน เสียสมดุล อ่อนแรง วิธีการคิดเปลี่ยนแปลงไปฉับพลัน (เช่น สับสน รวบรวมสมาธิได้ยาก สูญเสียความทรงจำ) พูดหรือเดินลำบาก ชัก การมองเห็นเปลี่ยน

อาการแพ้ที่รุนแรงมากของยานี้หาได้ยาก แต่ควรรับการรักษาในทันที หากคุณสังเกตเห็นอาการแพ้ที่รุนแรง ได้แก่ ผดผื่น คัน/บวม (โดยเฉพาะใบหน้า/ลิ้น/ลำคอ) มึนงงอย่างรุนแรง หายใจติดขัด

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษากับแพทย์

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาที่อาจเกิดปฏิกิริยากับยานี้ ได้แก่ ฟีบัคโซสตัต (febuxostat) เคยหรือกำลังใช้ยาสำหรับโรคมะเร็ง เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophosphamide) เมลฟาแลน (melphalan) หรือยาที่กดภูมิคุ้มกัน/เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น ริทูซิแมบ (rituximab) โทฟาซิตินิบ (tofacitinib)

ยาเอซาไธโอพรีนคล้ายคลึงกับยาเมอร์แคปโตพิวรีน (mercaptopurine) อย่าใช้ยาที่มีส่วนประกอบของยาเมอร์แคปโตพิวรีน ขณะที่กำลังใช้ยานี้

ยาเอซาไธโอพรีนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่าคุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาเอซาไธโอพรีนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาเอซาไธโอพรีนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาเอซาไธโอพรีนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อการปลูกถ่ายไต

  • ขนาดยาเริ่มต้น: 3 ถึง 5 มก/กก รับประทานหรือฉีดเข้าหลอดเลือด วันละครั้ง เริ่มให้ขณะเริ่มปลูกถ่ายไต
  • ขนาดยาปกติ: 1 ถึง 3 มก/กก รับประทานหรือฉีดเข้าหลอดเลือดวันละครั้ง

คำแนะนำ

  • ในบางกรณี การรักษาอาจเริ่มตั้งแต่ 1 ถึง 3 วัน ก่อนการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ไม่ควรเพิ่มขนาดยาไปจนถึงระดับเป็นพิษเนื่องจากอาจเกิดอาการต่อต้านที่รุนแรงถึงชีวิต

การใช้:

  • การเสริมการรักษาเพื่อป้องกันการต่อต้านของร่างกายในการปลูกถ่ายไต

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

  • ขนาดยาเริ่มต้น: 1 มก/กก (50 ถึง 100 มก) รับประทานหรือฉีดเข้าหลอดเลือดวันละครั้ง โดยแบ่งเป็น 1 ถึง 2 ครั้ง
  • ขนาดยาปกติ: ขนาดยาต่ำสุดเท่าที่มีประสิทธิภาพ
  • ขนาดยาสูงสุด: 2.5 มก/กก รับประทานหรือฉีดเข้าหลอดเลือดวันละครั้ง
  • ระยะเวลา: อย่างน้อย 2 สัปดาห์

คำแนะนำ

  • อาจเพิ่มขนาดยา 0.5 มก/กก/วัน (หรือประมาณ 25 มก/วัน) หลังจากเริ่มการรักษา 6 ถึง 8 สัปดาห์ และหลังจากเว้นระยะ 4 สัปดาห์ หากจำเป็น
  • แนะนำให้ค่อย ๆ ลดขนาดยา เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นพิษ
  • การตอบสนองต่อการรักษาเกิดขึ้นหลังจากรักษาผ่านไปหลายสัปดาห์ โดยปกติแล้วคือ 6 ถึง 8 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่ไม่มีการพัฒนาหลังจาก 12 สัปดาห์อาจพิจารณาได้ว่าดื้อยา
  • อาจต้องใช้ยาเอซาไธโอพรีนในระยะยาวสำหรับผู้ป่วยที่มีการตอบสนองทางการแพทย์

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคโครห์น (Crohn’s Disease) – ฉับพลัน

  • งานวิจัย: 1.5 ถึง 4 มก/กก ต่อวัน เป็นเวลา 10 วัน จนถึง 52 สัปดาห์

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคโครห์น – ประคับประคอง

  • งานวิจัย: 1.5 ถึง 4 มก/กก ต่อวัน เป็นเวลา 10 วัน จนถึง 52 สัปดาห์

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง 

  • งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัย = 14 คน): 2 ถึง 3 มก/กก รับประทานวันละครั้งเป็นเวลา 9 เดือน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

  • งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัย = 37 คน): 2.5 มก/กก รับประทานวันละครั้งในตอนเช้า เป็นเวลา 3 เดือน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis)

  • งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัย = 11 คน): ขนาดยาเริ่มต้น: 2 มก/กก ต่อวัน ใช้ร่วมกับยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) 0.6 ถึง 0.8 มก/กก ต่อวัน และลดขนาดยาเพรดนิโซโลนไปที่ 0.1 มก/กก ภายใน 2 ถึง 3 เดือน
  • ขนาดยาปกติ: 2 มก/กก ต่อวัน ใช้ร่วมกับยาเพรดนิโซโลน 0.1 มก/กก ต่อวัน เป็นเวลา 21 ถึง 22 เดือน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล 

งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัย = 9 คน)

  • ฉีดเข้าหลอดเลือด: หยอดยาเข้าหลอดเลือด 20 ถึง 40 มก/กก เป็นเวลานานกว่า 36 ชม หรือหยอดยา 8 ชม 3 ครั้ง ขนาด 40 มก/กก นานกว่า 3 วัน ตามด้วยยาเอซาไธโอพรีนแบบรับประทาน
  • รับประทาน: 2 มก/กก รับประทานทุกวัน หลังจากที่การให้ยาทางหลอดเลือดเสร็จสิ้น

งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัย = 12 คน)

  • 50 มก ต่อวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตามด้วย 2 ถึง 2.5 มก/กก ต่อวันร่วมกับยาเมซาลาซีน (Mesalazine) 500 มก รับประทานวันละ 3 ครั้ง เริ่มให้ยาทันที หลังจากมีสัญญาณของระยะโรคสงบ (ค่าเฉลี่ย: 14.5 วัน) ร่วมกับให้ยาไซโคลสปอริน (cyclosporine) ทางหลอดเลือดดำ (4 มก/กก/วัน)

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาภาวะม่านตาอักเสบ (Uveitis)

งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัย = 14 คน)

  • เพื่อรักษาอาการหลอดเลือดผิดปกติจากชั้นคอรอยด์ (choroidal neovascularization): 1 ถึง 1.5 มก/กก รับประทานทุกวันร่วมกับยาเพรดนิโซโลน และยาไซโคลสปอริน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคเอ็มเอส (Multiple Sclerosis)

งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัย = 6 คน): ผู้ป่วยที่ดื้อต่ออินเตอร์เฟอรอนเบต้า-1บี (interferon beta-1b)

  • ขนาดยาเริ่มต้น: ควรปรับขนาดยาเอซาไธโอพรีนไปถึง 1.5 มก/กก ต่อวัน เป็นเวลา 1 เดือน แแล้วตามด้วยเพิ่ม 50 มก. ในช่วงเวลาพัก 6 เดือน ร่วมกับสลับฉีดยาอินเตอร์เฟอรอน เบต้า-1บี (interferon beta-1b) ใต้ผิวหนัง 8 ล้านหน่วยสากล
  • ขนาดยาปกติ: 2 มก/กก ต่อวัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus)

งานวิจัย:

  • 1 ถึง 3 มก/กก น้ำหนักตัวที่วัดได้/วัน รับประทานหรือฉีดเข้าหลอดเลือดวันละครั้ง

งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัย = 55 คน) :โรคไตอักเสบลูปัสขั้นรุนแรง (Diffuse proliferative lupus glomerulonephritis)

  • การรักษาอย่างต่อเนื่องเริ่มต้นที่เพรดนิโซโลน (1 มก/กก/วัน) เป็นเวลา 8 ถึง 10 สัปดาห์ ค่อยๆ ลดขนาดมาเป็นขนาดยาปกติที่ 5 ถึง 10 มก/วัน ร่วมกับรับประทานไซโคลฟอสฟาไมด์ (1 ถึง 2 มก/กก/วัน) เป็นเวลา 6 ถึง 9 เดือนตามด้วยยาเอซาไธโอพรีน 50 ถึง 100 มก/วัน

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic Active Hepatitis)

งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัย = 72 คน)

  • โรคตับอักเสบจากภูมิต่อต้านตนเอง (autoimmune hepatitis): 1 ถึง 2 มก/กก ต่อวัน ร่วมกับเพรดนิโซโลน (5 ถึง 15 มก/วัน) อย่างน้อย 1 ปี (เฉลี่ย 5 ปี)

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาโรคทากายาสุ (Takayasu’s Arteritis)

งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัย = 15 คน)

  • 2 มก/กก น้ำหนักตัวที่วัดได้/กก เป็นเวลา 1 ปี ร่วมกับค่อยๆ ลดยาเพรดนิโซโลน

การปรับขนาดยาสำหรับไต

อาจจำเป็นต้องใช้ยาในขนาดที่ต่ำ แต่ไม่มีแนวทางแนะนำโดยเฉพาะ

การปรับขนาดยาสำหรับตับ

อาจจำเป็นต้องปรับขนาดยา แต่ไม่มีแนวทางแนะนำโดยเฉพาะ

การปรับขนาดยา

  • อาจจำเป็นต้องลดขนาดยาหรือรักษาด้วยวิธีอื่น สำหรับผู้ป่วยที่มีค่าเอนไซม์ทีพีเอ็มที (TPMT) ลดลง
  • ใช้ร่วมกับยาอัลโลพูรินอล (allopurinol): ขนาดของยาเอซาไธโอพรีนควรลดประมาณ 25% ถึง 33% ของขนาดยาปกติ และอาจต้องพิจาณาลดขนาดยาเพิ่มขึ้นหรือรักษาด้วยวิธีอื่น สำหรับผู้ป่วยที่มีค่าเอนไซม์ทีพีเอ็มที (TPMT) ลดลง
  • ขนาดยาเอซาไธโอพรีนสำหรับเด็ก

    ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง 

    งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัย = 37 คน)

    • อายุมากกว่า 17 ปี: 2.5 มก/กก รับประทานวันละครั้งในตอนเช้า เป็นเวลา 3 เดือน

    ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อป้องกันภาวะร่างกายต่อต้านอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่าย

    • ขนาดยาเริ่มต้น: 3 ถุง 5 มก/กก รับประทานหรือฉีดเข้าหลอดเลือดวันละครั้ง ก่อนเริ่มปลูกถ่ายอวัยวะ
    • ขนาดยาปกติ: 1 to 3 มก/กก รับประทานหรือฉีดเข้าหลอดเลือดวันละครั้ง

    ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ 

    งานวิจัย (จำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัย = 91 คน)

    • อายุมากกว่า 6 ปี: 2.5 ถึง 3.5 กก/กก ต่อวัน ในผู้ป่วยที่มีระดับของเอ็นไซม์ทีพีเอ็มที (thiopurine methyltransferase) เป็นปกติ

    ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง 

    กรณีศึกษา (จำนวนผู้เข้าร่วมงานวิจัย = 67 คน): โรคไตอักเสบลูปัส (Lupus Nephritis)

    • อายุมากกว่า 5 ปี: 2 ถึง 3 มก/กก ต่อวัน (ขนาดยาสูงสุด: 150 มก/วัน)
    • สามารถปรับขนาดยาเพื่อรักษาระดับความสมูบรณ์ทั้งหมดของเซลล์เม็ดเลือดขาวไว้ที่ระหว่าง 3 และ 4 x 10(3) เซลล์/มล.

    ยังไม่มีการพิสูจน์ขนาดยาสำหรับผู้ป่วยเด็ก ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับความปลอดภัยของยาก่อนการใช้ยา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อกับแพทย์หรือเภสัชกร

    รูปแบบของยา

    ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้คือ

    • ยาเม็ด

    กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

    หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

    กรณีลืมใช้ยา

    หากคุณลืมรับประทานยาควรรีบรับประทานทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลารับประทานยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปรับประทานยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

    ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา