backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

กรดโฟลิก (Folic acid) ข้อบ่งใช้ และผลข้างเคียง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ · ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 27/09/2023

กรดโฟลิก (Folic acid) ข้อบ่งใช้ และผลข้างเคียง

กรดโฟลิก (Folic Acid) ใช้เพื่อป้องกันและรักษาภาวะขาดโฟเลต อาการแทรกซ้อนอื่น ๆ รวมทั้งโลหิตจาง และอาการที่ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งสารอาหารสำคัญสำหรับผู้ตั้งครรภ์ด้วย

ข้อบ่งใช้

กรดโฟลิก ใช้สำหรับ

กรดโฟลิก (Folic Acid) ใช้เพื่อป้องกันและรักษาภาวะขาดโฟเลต (Folate Deficiency) และอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ รวมทั้งโรคโลหิตจาง (Anemia) และอาการที่ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างเหมาะสม

กรดโฟลิกยังใช้กับอาการอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาวะการขาดโฟเลต ทั้งโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis) โรคตับ (Liver Disease) โรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) และการฟอกไต (Kidney Dialysis)

ผู้ที่ตั้งครรภ์หรืออาจตั้งครรภ์ควรรับประทานกรดโฟลิกให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการแท้งบุตร และภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural Tube Defects) รวมถึงความบกพร่องแต่กำเนิด เช่น ความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (Spina Bifida)

บางคนอาจใช้กรดโฟลิกเพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และใช้เพื่อลดระดับของสารโฮโมซีสทีน (Homocysteine) ในเลือด เนื่องจากสารโฮโมซีสทีนที่มีปริมาณสูงเกินไปจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ

กรดโฟลิกยังใช้เพื่อรักษาอาการอื่น ๆ อีกด้วย เช่น

  • การสูญเสียความทรงจำ เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
  • การสูญเสียการได้ยินที่เกี่ยวข้องกับอายุ
  • ป้องกันโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม (Macular Degeneration) ที่เกี่ยวข้องกับอายุ ชะลอความแก่
  • กระดูกพรุน (Osteoporosis)
  • กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Leg Syndrome)
  • ปัญหากับการนอนหลับ
  • ภาวะซึมเศร้า
  • อาการปวดเส้นประสาท ปวดกล้ามเนื้อ
  • การติดเชื้อเอชไอวี
  • โรคด่างขาว (Vitiligo)
  • โรคทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Fragile-X Syndrome
  • ใช้เพื่อลดผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาโลมีเทร็กซ์โซล (Lometrexol) และเมโธเทรกเซท (Methotrexate)
  • ใช้เพื่อรักษาอาการติดเชื้อที่เหงือก

กรดโฟลิกมักใช้ร่วมกับวิตามินบีอื่น ๆ ด้วย

การทำงานของ กรดโฟลิก

ยังไม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของกรดโฟลิกที่เพียงพอ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า กรดโฟลิกจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายมนุษย์ มีความเกี่ยวข้องกับการผลิตสารพันธุกรรมที่เรียกว่าดีเอ็นเอ (DNA) และในการทำงานอื่น ๆ ของร่างกายอีกมากมาย

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ กรดโฟลิก

ปรึกษาแพทย์หรึอเภสัชกรหาก

  • คุณอยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากในขณะที่คุณกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร คุณควรจะได้รับยาตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • คุณได้รับยาชนิดอื่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร เป็นต้น
  • คุณมีอาการแพ้กรดโฟลิก หรือแพ้ยาชนิดอื่น หรือแพ้สมุนไพรชนิดอื่น
  • คุณมีอาการเจ็บป่วย มีอาการผิดปกติ หรือภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคจิตเภท ระดับไตรกลีเซอไรด์ของเลือดสูง (ไขมันในเลือดสูง) มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • คุณมีอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้อาหาร สีผสมอาหาร สารกันบูด เนื้อสัตว์

กฎระเบียบสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีความเข้มงวดน้อยกว่ายารักษาโรค คุณจึงควรศึกษาข้อมูลให้มาก เพื่อความปลอดภัยในการใช้ และการบริโภคอาหารเสริมกรดโฟลิก ควรมีคุณประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

กรดโฟลิกจะปลอดภัยหากรับประทานอย่างเหมาะสม ขณะตั้งครรภ์และให้นมบุตร การรับประทานกรดโฟลิก 300-400 ไมโครกรัมต่อวัน เพื่อป้องกันความบกพร่องแต่กำเนิดในทารก

ความปลอดภัยสำหรับสภาวะอื่น ๆ

กรดโฟลิกปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ เมื่อรับประทานหรือฉีดเข้าสู่ร่างกาย แต่อาจจะไม่ปลอดภัย หากรับประทานในปริมาณที่มากในระยะยาว

การผ่าตัดขยายเส้นเลือด (Angioplasty)

การใช้กรดโฟลิก วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือรับประทาน อาจทำให้อาการหลอดเลือดตีบแย่ลงไปอีก ไม่ควรใช้กรดโฟลิกกับผู้ที่กำลังพักฟื้นหลังจากผ่านกระบวนการนี้

โรคมะเร็ง

งานวิจัยช่วงแรก ๆ ชี้ว่า การบริโภคกรดโฟลิก 800-1,000 ไมโครกรัมต่อวัน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้ ผู้ที่มีประวัติเกี่ยวกับการเป็นโรคมะเร็ง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้กรดโฟลิกในปริมาณมากจนกว่าจะงานศึกษาวิจัยในเรื่องนี้มากขึ้น

โรคหัวใจ

งานวิจัยช่วงแรก ๆ ได้แนะนำว่าการบริโภคกรดโฟลิกร่วมกับวิตามินบี 6 อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดฉับพลัน ในผู้ที่มีประวัติการเป็นโรคหัวใจ

โลหิตจางที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 12

การรับประทานกรดโฟลิก อาจบดบังการวินิจฉัยโรคโลหิตจางที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 12 และทำให้การรักษาที่เหมาะสมเป็นไปได้ช้า

อาการชัก

การรับประทานอาหารเสริมกรดโฟลิก อาจทำให้อาการชักแย่ลง ในผู้ที่เป็นโรคชัก โดยเฉพาะการรับประทานในปริมาณมาก

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงจากการใช้กรดโฟลิก

ผู้ใหญ่ที่ใช้กรดโฟลิกส่วนใหญ๋ไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ เมื่อใช้ในขนาดยาที่ต่ำกว่า 1,000 ไมโครกรัมต่อวัน กรดโฟลิกในปริมาณสูงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ท้องร่วง ผดผื่น นอนไม่หลับ ระคายเคือง สับสน คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน พฤติกรรมเปลี่ยนไป มีปฏิกิริยาที่ผิวหนัง ชัก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ตื่นเต้นง่าย

แต่อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หากคุณมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาต่อยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

กรดโฟลิกอาจทำปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ และอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงรุนแรง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณกำลังใช้ยาเหล่านี้

  • ยาฟอสฟินิโทอิน (Fosphenytoin)

ยาฟอสฟินิโทอินใช้สำหรับอาการชัก ร่างกายจะย่อยสลายยาฟอสฟินิโทอิน เพื่อกำจัดออกจากร่างกาย กรดโฟลิกอาจเพิ่มความเร็วในการสลายยานี้ การรับประทานกรดโฟลิกคู่กับยานี้ อาจลดประสิทธิภาพของยาฟอสฟินิโทอินในการป้องกันอาการชัก

  • ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate)

ยาเมโธเทรกเซททำงานโดยการลดประสิทธิภาพของกรดโฟลิกในเซลล์ของร่างกาย การรับประทานกรดโฟลิกคู่กับยานี้ อาจลดประสิทธิภาพของยาได้

  • ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital)

ยาฟีโนบาร์บิทัลใช้สำหรับอาการชัก การรับประทานกรดโฟลิกสามารถลดประสิทธิภาพของยานี้ในการป้องกันการชักได้

  • ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin)

ร่างกายย่อยสลายยาเฟนิโทอิน เพื่อกำจัดออกจากร่างกาย กรดโฟลิกอาจเพิ่มความเร็วในการย่อยสลายยานี้ การรับประทานกรดโฟลิกคู่กับยาเฟนิโทอิน อาจลดประสิทธิภาพของยาและเพิ่มโอกาสในการชัก

  • ยาไพรมิโดน (Primidone)
  • ยาไพรมิโดนใช้สำหรับอาการชัก กรดโฟลิกอาจทำให้เกิดอาการชักในผู้ป่วยบางราย การรับประทานกรดโฟลิกคู่กับยานี้อาจลดประสิทธิภาพของยาในการป้องกันการชัก

    • ยาไพริเมทามีน (Pyrimethamine)

    ยาไพริเมทามีนใช้เพื่อรักษาอาการติดเชื้อปรสิต กรดโคลิคอาจลดประสิทธิภาพของยานี้ในการรักษาอาการติดเชื้อปรสิต

    เพื่อความปลอดภัย คุณไม่ควรเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

    ขนาดยา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

    ขนาดยาของกรดโฟลิก

    ขนาดยาต่อไปนี้ได้รับการศึกษาในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แล้วว่ามีความเหมาะสมในการใช้

    สำหรับอาการขาดกรดโฟลิก

    ขนาดยาปกติคือ 250-1000 ไมโครกรัมต่อวัน

    สำหรับการป้องกันภาวะหลอดประสาทไม่ปิด

    ผู้หญิงที่แนวโน้มตั้งครรภ์ และต่อเนื่องมาจนถึงเดือนแรกของการตั้งครรภ์ ควรรับประทานกรดโฟลิกขั้นต่ำ 400 ไมโครกรัมต่อวัน จากอาหารเสริม ผู้หญิงที่เคยมีอาการแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด ปกติแล้วจะรับประทาน 4 มก. ต่อวัน เริ่มต้นหนึ่งเดือนก่อนตั้งครรภ์ และรับประทานต่อเนื่องมาจากถึง 3 เดือนหลังตั้งครรภ์

    สำหรับการลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

    รับประทาน 400 ไมโครกรัมต่อวัน

    สำหรับการรักษาระดับสารโฮโมซีสทีนในเลือดสูง

    ใช้ในขนาด 5-5 มิลลิกรัมต่อวัน

    สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตระยะสุดท้าย

    การรักษาระดับสารโฮโมซีสทีนในเลือดสูงนั้น เป็นไปได้ยาก และมีการใช้ยาในขนาด 0.8-15 มก. ต่อวัน ขนาดยาแบบอื่น เช่น 2.5-5 มก. 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ขนาดยาที่สูกว่า 15 มก. ต่อวัน อาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

    สำหรับการส่งเสริมการตอบสนองต่อยารักษาโรคซึมเศร้า

    ใช้ปริมาณ 200-500 ไมโครกรัมต่อวัน

    สำหรับโรคด่างขาว

    โดยปกติแล้วคือ 5 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง

    สำหรับการลดพิษที่เกี่ยวข้องกับการรักษาด้วยยาเมโธเทรกเซทสำหรับโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)หรือโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

    ใช้ปริมาณ 1 มิลลิกรัมต่อวัน มากสุดคือ 5 มิลลิกรัมต่อวัน

    สำหรับการป้องกันโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม

    กรดโฟลิก 2.5 มิลลิกรัม วิตามินบี 12 หรือโคบาลามิน (Cyanocobalamin) 1000 ไมโครกรัม และวิตามินบี 6 หรือไพริดอกซีน (Pyridoxine) 50 มิลลิกรัมต่อวัน

    ปริมาณสารที่ควรได้รับคือ 65 ไมโครกรัม สำหรับทารก 0-6 เดือนและ 80 ไมโครกรัมสำหรับทารก 7-12 เดือน

    ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้ได้รับในแต่ละวันสำหรับโฟเลตในอาหารเทียบเท่าโฟเลต (Dietary Folate Equivalent) ทั้งอาหารโฟเลตและกรดโฟลิกที่มาจากอาหารเสริมคือ

    • เด็ก 1-3 ปี 150 ไมโครกรัม
    • เด็ก 4-8 ปี 200 ไมโครกรัม
    • เด็ก 9-13 ปี 300 ไมโครกรัม
    • ผู้ใหญอายุมากกว่า 13 ปี 400 ไมโครกรัม
    • ผู้หญิงตั้งครรภ์ 600 ไมโครกรัม
    • ผู้ให้นมบุตร 500 ไมโครกรัม

    ปริมาณสารอาหารสูงสุดที่สามารถบริโภคได้ในแต่ละวันของโฟเลต คือ

    • 300 ไมโครกรัมสำหรับเด็ก 1-3 ปี
    • 400 ไมโครกรัมสำหรับเด็ก 4-8 ปี
    • 600 ไมโครกรัมสำหรับเด็ก 9-13 ปี
    • 800 ไมโครกรัมสำหรับวัยรุ่น 14-18 ปี
    • 1000 ไมโครกรัมสำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปี

    ขนาดในการใช้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับอายุ สุขภาพและปัจจัยอื่น ๆ การใช้ยาเสริมนั้นอาจไม่ได้มีความปลอดภัยเสมอ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรในเรื่องปริมาณที่เหมาะสม

    รูปแบบของกรดโฟลิก

    รูปแบบของกรดโฟลิก มีดังนี้

    • ยาแคปซูลกรดโฟลิก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

    ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 27/09/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา