backup og meta

อาการชาที่มือและแขนขณะนอนหลับ เกิดจากอะไรกันแน่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 19/12/2023

    อาการชาที่มือและแขนขณะนอนหลับ เกิดจากอะไรกันแน่

    อาการชาที่มือและแขนขณะนอนหลับ หรือ Paresthesia เป็นความรู้สึกเหมือนมีเข็มหรือหนามจำนวนมากมาทิ่มที่มือและแขน  ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งที่ไม่รุนแรงไปจนถึงระดับที่รุนแรงจนต้องขอคำปรึกษาจากคุณหมอ อย่างไรก็ตาม อาการชาดังกล่าวเป็นความรู้สึกที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า

    อาการชาที่มือและแขนขณะนอนหลับ เกิดจากอะไร

    อาการชาที่มือและแขนขณะนอนหลับมักมีอาการเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว บางครั้งสาเหตุของ อาการชา ก็มาจากท่าทางในการนอน เนื่องจากในขณะนอนหลับ ร่างกายบางส่วนอาจไปกดทับเส้นประสาทที่แขนเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการชาได้ หากมีการเปลี่ยนท่าทางการนอนก็อาจทำให้อาการชาหายไป  นอจากนั้น อาการชาที่มือและแขนก็อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ดังต่อไปนี้

    Carpal tunnel syndrome

    Carpal tunnel syndrome (CTS) เป็นโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ส่วนใหญ่คนที่เป็นโรคนี้มักมีการใช้นิ้วมืออย่างหนัก ใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น การพิมพ์งาน การเล่นเปียโน ส่งผลให้เกิดการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือมากเกินไป และทำให้เกิดอาการปวดชาที่มือและแขน บางรายอาจพบอาการมืออ่อนแรงเช่น กำมือได้ไม่แน่น หยิบของแล้วหล่นง่าย และพบว่ามีอาการมากขึ้นในตอนกลางคืน เมื่อตื่นขึ้นมากลางดึกก็จะมีอาการปวด แต่เมื่อสะบัดข้อมือแล้วอาการก็จะดีขึ้น กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวมือซ้ำ ๆ เช่น การพิมพ์หรือใช้งานเครื่องจักร ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นได้มากขึ้น

    โรคเบาหวาน

    ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเส้นประสาทเสียหาย เรียกว่า โรคเส้นประสาทจากเบาหวาน เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงและระดับไขมันในเลือดสูงเข้าไปทำลายเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการชาที่ขาและเท้า และอาจส่งผลต่อ อาการชา ที่มือและแขนได้เช่นกัน

    ขาดวิตามินบี

    เมื่อร่างกายขาดวิตามินบี สามารถทำให้เกิดปัญหาได้มากมาย รวมถึงโรคโลหิตจางและอาการเหน็บชาอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีอาการชาที่มือและแขนขณะหลับได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะขาดวิตามินบีได้แก่ คนที่กินวีแกน (Vegans) ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีความผิดปกติทางเดินอาหารบางอย่าง เช่น โรคเซลิแอค หรือโรคลำไส้อักเสบ

    โรคปลอกประสาทเสื่อม

    โรคปลอกประสาทเสื่อมเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง ตามที่สมาคม the National Multiple Sclerosis Society แห่งสหรัฐอเมริกากล่าว อาการชา และเสียวซ่าเป็นอาการแรก ๆ ที่พบได้บ่อยสำหรับภาวะนี้ โดยปกติแล้วอาการชามักเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้า แต่ตำแหน่งที่มีอาการก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งไขสันหลังที่มีอาการบาดเจ็บ ทำให้บางคนอาจมี อาการชา ที่แขนหรือขาได้เช่นกัน

    โรคหลอดเลือดสมอง

    โรคหลอดเลือดสมองและโรคเส้นเลือดสมองตีบชั่วคราวอาจเป็นสาเหตุของ อาการชา ที่มือและแขนได้เช่นกัน โรคเส้นเลือดสมองตีบชั่วคราวทำให้เลือดไหลเวียนไปยังสมองได้ไม่เต็มที่เนื่องจากมีสิ่งกีดขวางการไหลเวียนเลือด สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกาชี้ว่าอาการเหล่านี้เป็นอาจเป็นสัญญาณเตือนของ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดสมองและโรคเส้นเลือดสมองตีบชั่วคราวสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาท และรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลง รวมถึง อาการชา ที่แขนหรือขาขณะนอนหลับ

    วิธีจัดการ อาการชา ที่มือและแขนชาขณะนอนหลับ

    โดยปกติแล้ว การเปลี่ยนท่าทางการนอน ก็อาจสามารถช่วยป้องกันอาการชาที่มือและแขนขณะนอนหลับได้ แต่ก็มีเคล็ดลับที่อาจช่วยให้ อาการชา ดีขึ้นได้ ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการนอนในท่า Fetal หรือท่าทารก การนอนด้วยนี้จะงอแขน งอข้อศอก ซึ่งทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการชามากขึ้นได้ หรือลองใช้ผ้าห่มรองใต้ตัวเพื่อไม่ให้พลิกตัวได้ง่าย และลดการนอนทับแขนของตัวเอง
    • หากชอบนอนคว่ำ ควรจัดแขนให้อยู่แนบลำตัว ไม่นอนทับแขนเพราะเมื่อนอนทับแขนจะทำให้เส้นประสาทบริเวณนั้นได้รับแรงกดทับมากเกินไป และทำให้เกิดอาการชาได้
    • ไม่ประสานมือไว้ที่ท้ายทอยหรือซุกมือไว้ที่ใต้หมอนขณะนอนหลับ

    แน่นอนว่าการควบคุมร่างกายขณะนอนหลับเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่เมื่อไรที่รู้สึกตัวและอยู่ในท่าที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการชาก็ควรจะเปลี่ยนท่าทางการนอน

    อาการชา หนักขนาดไหน ถึงต้องปรึกษาแพทย์

    อาการชาที่มือและแขนขณะนอนหลับไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพก็จริง แต่อย่างไรก็ควรสังเกตอาการหรือความรู้สึกชานี้อยู่บ่อยๆ เพื่อสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงว่าอาการแย่ลงหรือมี อาการชา ลามไปที่ส่วนอื่นหรือไม่ หากมีอาการชาเริ่มส่งผลรบกวนการมองเห็น พูดยาก เดินได้ยากขึ้น หยิบของได้อยากขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 19/12/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา