backup og meta

การรักษามะเร็งเต้านม กับ ภาวะเจริญพันธ์ุ ส่งผลต่อกันอย่างไร


เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 17/08/2021

    การรักษามะเร็งเต้านม กับ ภาวะเจริญพันธ์ุ ส่งผลต่อกันอย่างไร

    ปกติแล้ว เมื่อคุณเป็นมะเร็งเต้านม คุณจะต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีบางอย่าง และเพราะคุณเป็นผู้หญิง คุณอาจสงสัยว่าวิธี การรักษามะเร็งเต้านมจะส่งผลต่อภาวะเจริญพันธ์ุของคุณอย่างไรบ้าง เช่น จะส่งผลต่อความสามารถในการมีบุตรของคุณหรือไม่ Hello คุณหมอ อยากแนะนำให้คุณอ่านบทความนี้ดู แล้วคุณจะรู้ว่า การรักษามะเร็งเต้านม กับ ภาวะเจริญพันธ์ุ นั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร

    ข้อควรรู้เกี่ยวกับ การรักษามะเร็งเต้านม กับ ภาวะเจริญพันธ์ุ

    ภาวะเจริญพันธุ์ในผู้หญิง

    อันดับแรก บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจภาวะเจริญพันธุ์ในผู้หญิง จากนั้นคุณจะสามารถเข้าใจได้ว่า มะเร็งเต้านมส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์อย่างไร ผู้หญิงจะมีไข่จำนวนหนึ่งตั้งแต่คุณเกิด และร่างกายของคุณไม่สามารถผลิตไข่ได้อีกตลอดชีวิต เมื่อคุณเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ร่างกายของคุณจะเริ่มตกไข่เดือนละครั้งหรือมากกว่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป จำนวนเเละคุณภาพของไข่จะลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณมีอายุมากเเล้ว

    เมื่อไข่ปฏิสนธิกับอสุจิ และเกิดเป็นตัวอ่อนฝังอยู่ในมดลูก หรือหมายความว่าคุณกำลังตั้งครรภ์นั่นเอง หากไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิ คุณจะมีประจำเดือน และเมื่อร่างกายของคุณไม่มีการตกไข่อีกต่อไป ก็จะทำให้คุณเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

    การใช้ยาเคมีบำบัดส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์

    การใช้ยาเคมีบำบัด สามารถส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ได้ ถึงแม้คุณจะยังไม่ได้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก็ตาม เพราะการใช้ยาจะส่งผลต่อคุณภาพของไข่เเละรังไข่

    ภาวะเจริญพันธุ์หลังจากการใช้ยาเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับประเภทของยา ปริมาณยา เเละอายุของคุณ คุณอาจหยุดมีประจำเดือนเมื่อเริ่มการรักษา จากนั้น อาจเริ่มมีประจำเดือนอีกครั้ง หลังเสร็จสิ้นการรักษาไปเเล้วหลายเดือน หรือเป็นปี แต่การมีประจำเดือนอีกครั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าภาวะเจริญพันธุ์ของคุณเป็นปกติ และคุณจะสามารถตั้งครรภ์ได้

    อายุ

    คุณมีเเนวโน้มที่จะตั้งครรภ์หลังใช้ยาเคมีบำบัด หากคุณเข้ารับการรักษาก่อนอายุ 30 ปี และถ้าคุณมีอายุ 40 ปีขึ้นไป คุณมีเเนวโน้มที่จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหลังจากใช้ยาเคมีบำบัด ยิ่งคุณเข้าใกล้สู่วัยหมดประจำเดือน คุณอาจจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากใช้ยาเคมีบำบัด

    ประเภทเเละขนาดยา

    ยาบางประเภทอาจทำให้คุณมีบุตรยาก เช่น

    • ไซท็อกซาน (cytoxan)
    • พลาตินอล (platinol)
    • อะเดรียไมซิน (adriamycin)
    • เมโธเทรกเซต (methotrexate)
    • ฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil)
    • วินคริสทีน (vincristine)
    • เเทกซอล (taxol)
    • เเทกโซเทียร์ (taxotere)
    • อะบราเซน (abraxane)

    อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นนี้มีจำกัด จึงยากที่จะสร้างเเผนการรักษาที่สมบูรณ์เเบบเพื่อคุณ ดังนั้น ควรปรึกษาเเพทย์จะดีกว่า เพื่อการช่วยตรวจรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ 

    ผลกระทบของ การรักษามะเร็งเต้านม กับ ภาวะเจริญพันธ์ุ

    ผลกระทบของรังสีบำบัดต่อภาวะเจริญพันธุ์

    รังสีบำบัดไม่มีผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของคุณ อย่างไรก็ตาม หากคุณเข้ารับการรักษาโดยใช้รังสีบำบัด คุณควรเตรียมพร้อมเรื่องภาวะเจริญพันธุ์ก่อนเข้ารับการรักษามะเร็งเต้านม แพทย์จะเก็บไข่ของคุณเอาไว้สำหรับการผสมเทียม เพื่อให้คุณสามารถมีบุตรได้อีกครั้งหลังการรักษา

    การหยุดทำงานของรังไข่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์

    ยาหรือการผ่าตัดอาจทำให้รังไข่หยุดทำงาน การรักษานี้มีขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงมาก หรือเพื่อรักษามะเร็งเต้านมบางประเภท รังไข่อาจถูกผ่าออก (ด้วยวิธีการผ่าตัด) หรือหยุดหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน (ด้วยการใช้ยา)

    หากรังไข่ของคุณหยุดทำงานเพราะการผ่าตัด คุณจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังเข้ารับการรักษา แต่ถ้ารังไข่ของคุณหยุดทำงานเพราะการใช้ยา ภาวะเจริญพันธุ์ของคุณจะกลับเป็นปกติอีกครั้งหลังจากหยุดรับประทานยา

    ผลกระทบของรักษาด้วยฮอร์โมนต่อภาวะเจริญพันธุ์

    ยาบางชนิดที่ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านม เช่น ทามอกซิเฟน (tamoxifen) ราโลซิฟีน โทเรมิฟีน อาจทำให้ประจำเดือนของคุณมาผิดปกติ หรือทำให้ร่างกายของคุณหยุดตกไข่ ผู้หญิงบางคนอาจมีประจำเดือนปกติเเละตั้งครรภ์ได้หลังเข้ารับการรักษา เเต่บางคนก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

    การรักษามะเร็งเต้านม อาจส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ของคุณ ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ หากคุณต้องการตั้งครรภ์หลังจากเข้ารับการรักษา ควรปรึกษาเเพทย์เกี่ยวกับการรักษาที่ไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ เพื่อให้แพทย์แนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้กับคุณได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด


    เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 17/08/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา