backup og meta

ทางเลือกการรักษา โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่ช่วยให้คุณสู้โรคเรื้อรังนี้ได้ดีขึ้น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ทางเลือกการรักษา โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่ช่วยให้คุณสู้โรคเรื้อรังนี้ได้ดีขึ้น

    โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถือเป็นเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาจึงมักจะเกี่ยวข้องกับการควบคุมอาการไม่ให้อาการแย่ลง การรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ดี สามารถช่วยให้คุณแข็งแรงขึ้น และปรับปรุงสุขภาพโดยรวมของคุณให้ดีขึ้น รวมถึงช่วยป้องกันและรักษาอาการแทรกซ้อนอื่นๆ

    ทางเลือกการรักษา โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่เหมาะสม มีอยู่ 4 วิธีหลักๆ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ได้แก่ การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพปอด การรักษาด้วยยา และสุดท้ายคือการผ่าตัด Hello คุณหมอได้รวบรวมข้อมูลมาให้อ่านกันแล้วค่ะ

    การรักษา โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ด้วยการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์

    สำหรับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในระดับเบา แพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้คุณปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคุณ แม้แต่อาการในระดับปานกลางหรือรุนแรง คุณก็ยังจำเป็นต้องปรับไลฟ์สไตล์ของคุณด้วยเช่นกัน

    สิ่งที่ควรเปลี่ยนเป็นอย่างแรก ก็คือ การเลิกสูบบุหรี่ หากคุณยังไม่เคยสูบบุหรี่ ก็อย่าเริ่มสูบบุหรี่เลย พยายามหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และสิ่งระคายเคืองในอากาศ เช่น ฝุ่น ควันและสารพิษอื่นๆ อากาศที่คุณหายใจเข้าไปควรจะสะอาด และไม่มีตัวที่จะกระตุ้นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง คุณสามารถเรียนรู้วิธีการทำให้บ้านของคุณ เป็นมิตรต่อผู้ที่เป็นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังได้

    สิ่งที่ควรเปลี่ยนอย่างที่สอง คือ การออกกำลังกายของคุณ เนื่องจากการที่คุณไม่สามารถควบคุมการหายใจของคุณได้ดีนัก เพราะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แพทย์จะบอกให้คุณหลีกเลี่ยงการอออกกำลังกาย หรือจำกัดการออกกำลังกาย จริงอยู่ที่คุณควรจำกัดปริมาณการออกกำลังกาย แต่คุณไม่ควรที่จะงดออกกำลังกายไปเลย การออกกำลังกายสามารถช่วยทำให้กระบังลมแข็งแรงขึ้นได้ และควรปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสม

    สิ่งที่ควรเปลี่ยนอย่างที่สาม คือ อาหารของคุณ คุณอาจจะรู้สึกกลืนอาหารได้ลำบากขึ้น หรืออาการเหนื่อยล้า อาจทำให้คุณรู้สึกการรับประทานอาหารทำได้ยาก คุณสามารถรับสารอาหารที่จำเป็นได้ ด้วยการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ และรับประทานอาหารเสริมวิตามินและแร่ธาตุ การพักผ่อนก่อนรับประทานอาหารก็อาจจะช่วยได้เช่นกัน

    การรักษา โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ด้วยการบำบัด

    การบำบัดด้วยออกซิเจน

    โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการหายใจของคุณ การบำบัดด้วยออกซิเจนสามารถทำให้คุณหายใจได้ง่ายขึ้น และทำให้ปอดของคุณได้รับออกซิเจนได้เพียงพอ คุณสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการบำบัดด้วยออกซิเจนได้ดังนี้

    การบำบัดด้วยออกซิเจนสามารถช่วยคุณ

    • ลดอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
    • ส่งออกซิเจนเข้าสู่เลือดและอวัยวะอื่นๆ
    • นอนหลับได้ง่ายขึ้น
    • ป้องกันอาการของโรค และช่วยยืดอายุขัย

    การรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด

    การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพระบบทางเดินหายใจ (respiratory rehabilitation) คือ โปรแกรมพิเศษสำหรับผู้ที่เป็นโรคปอด คุณสามารถเรียนรู้วิธีการควบคุมลมหายใจผ่านการออกกำลังกาย โภชนาการ และการคิดบวกได้

    การรักษา โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ด้วยยา

    ยาสำหรับรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้นมีอยู่หลากหลายชนิด ดังต่อไปนี้ 

    ยาขยายหลอดลม

    ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator) คือ ยาที่จะช่วยเปิดหลอดลม สามารถใช้ได้กับเครื่องช่วยหายใจหรือเครื่องพ่นยา หากคุณไม่รู้จักวิธีการใช้เครื่องมือเหล่านี้ มีแนวทางในการใช้เครื่องช่วยหายใจและเครื่องพ่นยาดังนี้ เพราะเครื่องมือเหล่านี้ จะส่งยาตรงเข้าสู่ปอดและทางเดินอากาศหายใจ

    ยาขยายหลอดลมนั้นมีอยู่สองกลุ่ม คือ เบต้าอะโกนิสท์ (β-agonists) และแอนติโคลิเนอร์จิก (anticholinergics)

    • ยาในกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ อาจจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์สั้น เช่น ยาอัลบูเทอรอล (albuterol) หรือ ยาออกฤทธิ์นานอย่างยาซาลเมเทอรอล (salmeterol)
      • ยาในกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ที่ออกฤทธิ์สั้น มักจะถูกเรียกว่า “เครื่องช่วยหายใจช่วยชีวิต’ เนื่องจากช่วยให้สามารถหายใจได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็วขณะที่โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำลังปะทุ
      • ยาในกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ที่ออกฤทธิ์นาน ใช้วันละสองครั้งเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดตามปกติ
  • ยาในกลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก เช่น ยาอะโทรเวนท์® (Atrovent®) ทำงานโดยการปิดกั้นสารเคมีแอซิติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งทำให้ทางเดินอากาศหายใจนั้นหดตัวลง คุณสามารถใช้ยานี้ได้ทุกๆ 6 ชั่วโมง
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์

    คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) เป็นยาที่ได้รับความนิยมในการลดการอักเสบที่ปอด ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อหรือการระคายเคืองอย่างควันบุหรี่มือสอง อุณหภูมิที่สูงมาก หรือควันพิษที่รุนแรง คอร์ติโคสเตียรอยด์อาจให้ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ เครื่องพ่นยา ยาเม็ด หรือการฉีดยา

    คุณควรทราบถึงผลข้างเคียงของคอร์ติโคสเตียรอยด์ ได้แก่ น้ำหนักเพิ่มขึ้น ภาวะคั่งน้ำ (Water retention) กระดูกอ่อนแอ และระบบภูมิคุ้มกันลดลง

    ยาปฏิชีวนะและวัคซีน

    ยาปฏิชีวนะ ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ขณะเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง การติดเชื้อขณะที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง สามารถทำให้การหายใจที่ยากอยู่แล้วยากยิ่งขึ้นไปอีก ยาปฏิชีวนะได้ผลแค่กับเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถใช้กับเชื้อไวรัสได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส จึงควรรับวัคซีนสำหรับโรค เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคปอดบวม

    ข้อควรระวังผลจากยาปฏิชีวนะต่อสุขภาพของคุณ เพราะการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไปสามารถนำไปสู่การดื้อยาปฏิชีวนะ ควรใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

    ยาเลิกบุหรี่

    หากคุณมีช่วงเวลาที่ลำบากในการเลิกบุหรี่ คุณสามารถใช้ยาเพื่อเลิกบุหรี่ได้ ยาเหล่านี้มุ่งเน้นในการทดแทนสารนิโคตินในบุหรี่ ด้วยสารเคมีอื่นที่เป็นอันตรายต่อร่างกายน้อยกว่า การบำบัดด้วยการทดแทนนิโคติน อาจมาในรูปแบบของหมากฝรั่ง แผ่นแปะ หรือการสูดดม

    บางกรณียาต้านซึมเศร้า ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่ได้ แต่คุณควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาก่อนใช้ แพทย์อาจมีเคล็ดลับอื่นๆในการเลิกบุหรี่ เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่ง หรือ แนะนำกลุ่มบำบัดที่เหมาะสมสำหรับคุณ

    ยาคลายกังวลหรือยาระงับอาการวิตกกังวล

    โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ยิ่งโรคนี้พัฒนามากขึ้น คุณก็อาจจะรู้สึกวิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้จากอาการของโรค ยา คลายกังวล เช่น ยาไดอะซีแพม (diazepam) อย่างวาเลียม® (Valium®) และยาอัลปราโซแลม (alprazolam) อย่างซาแนกซ์® (Xanax®) ได้แสดงให้เห็นว่า สามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในระยะหลังและระยะสุดท้ายให้สงบลงได้ และช่วยพัฒนาคุณภาพของชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

    โอปิออยด์

    โอปิออยด์ (Opioid) หรือที่รู้จักกันว่า เป็นยาแก้ปวดชนิดเสพติด (narcotic medications) หรือยาแก้ปวดสำหรับการใช้งานในด้านอื่น ยานี้สามารถใช้งาน เพื่อลดปริมาณความต้องการออกซิเจนของคุณ (หรืออาการ “หิวอากาศ’) ได้ด้วยการปิดกั้นสัญญาณจากร่างกายไปสู่สมองของคุณ

    โอปิออยด์ มักจะใช้แค่ในกรณีของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่รุนแรง เนื่องจากสามารถเสพติดได้ โอปิออยด์มักใช้ในรูปแบบของยาน้ำและดูดซึมผ่านทางเยื่อหุ้มเซลล์ภายในปาก

    ตลอดช่วงเวลาของการเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คุณอาจจำเป็นต้องเพิ่มหรืองดยาบางชนิดในใบสั่งยาของคุณ ควรปรึกษากับแพทย์เพื่อหาว่า ยาตัวไหนเหมาะสมกับคุณที่สุด และมีประสิทธิภาพในการลดอาการที่รบกวน และสามารถชะลอกระบวนการของโรคได้ แพทย์สามารถแนะนำการใช้ยาร่วมกันที่อาจจะเหมาะสมกับคุณได้

    การรักษา โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ด้วยการผ่าตัด

    โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในบางกรณี อาจจะดีกว่าหากรักษาด้วยการผ่าตัด เป้าหมายของการผ่าตัด คือ ช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น การผ่าตัดโดยทั่วไปมี 3 ประเภทดังนี้

    การผ่าตัดถุงลมที่พองตัวขึ้นในปอด หรือบูเลคโทมี

    เมื่อปอดเสียหายอาจทำให้เกิดถุงลมในบริเวณหน้าอก ถุงลมเหล่านี้ เรียกว่า บุลลา (bulla) และกระบวนการในการผ่าตัดเอาถุงลมนี้ออกไปเรียกว่า บูเลคโทมี (Bullectomy) ซึ่งสามารถทำให้ปอดของคุณทำงานได้ดีขึ้น

    การผ่าตัดเพื่อลดปริมาตรปอด

    การผ่าตัดเพื่อลดปริมาตรปอด (Lung Volume Reduction Surgery-LVRS ) ตามที่ชื่อบอก คือ การลดขนาดปอด โดยการกำจัดส่วนที่เสียหายออกไป การผ่าตัดนี้มีความเสี่ยงมากและอาจจะไม่ได้ผลทุกครั้ง แต่สำหรับผู้ป่วยบางคนการผ่าตัดนี้ สามารถช่วยปรับปรุงการหายใจ และคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นได้

    การปลูกถ่ายปอดสำหรับ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

    โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่รุนแรง อาจจำเป็นต้องมีการปลูกถ่ายปอด เพื่อให้สามารถหายใจและมีชีวิตอยู่ต่อได้ การผ่าตัดนี้มีความเสี่ยงมาก คุณอาจจะติดเชื้อหรือร่างกายของคุณอาจจะต่อต้านปอดใหม่ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เมื่อการผ่าตัดประสบความสำเร็จ จะสามารถพัฒนาการทำงานของปอด และเพิ่มคุณภาพชีวิตได้

    ไม่มีอะไรจะรับประกันได้ว่า การรักษาทุกรูปแบบนั้นจะมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่แล้วการรักษาจะเป็นผลดีต่อผู้ป่วย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังของคุณ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลและต้องการรักษาในแบบของตัวเอง จึงต้องปรึกษากับแพทย์ก่อน เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมกับคุณ และคอยติดตามผลเพื่อปรับเปลี่ยนไปตลอดการรักษา เพื่อผลการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย pimruethai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา