backup og meta

ติดเชื้อฉวยโอกาส โรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเอชไอวีที่พบได้บ่อย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 07/03/2023

    ติดเชื้อฉวยโอกาส โรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเอชไอวีที่พบได้บ่อย

    ติดเชื้อฉวยโอกาส เป็นภาวะสุขภาพของผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี (Human immunodeficiency virus; HIV) ที่ต้องเผชิญอันตรายร้ายแรงจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต ที่เรียกรวม ๆ ว่า “นักฉวยโอกาส” จนเกิดเป็นโรคต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง เชื้อโรคเหล่านี้จึงเข้ามาก่อให้เกิดโรคได้ง่ายขึ้น

    ภาวะ ติดเชื้อฉวยโอกาส ที่พบได้บ่อย

    ภาวะติดเชื้อฉวยโอกาสนี้มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายอ่อนแอจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายหรืออ่อนแอลงจากเชื้อเอชไอวีที่เข้าสู่ร่างกายและไม่ได้รับการเยียวยา โดยภาวะติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเอชไอวีเกิดขึ้นได้เพราะเชื้อเอชไอวีเข้าไปทำลายเซลล์ที่ชื่อว่า CD4 ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง คอยทำหน้าที่ควบคุมและต่อสู้กับเชื้อโรค โรคที่พบได้บ่อยจากการติดเชื้อฉวยโอกาส ได้แก่

    การติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) 

    แคนดิดาคือเชื้อราชนิดหนึ่ง ที่มักพบในผู้ป่วยเอชไอวี ในบริเวณหลอดลม หลอดอาหาร และปอด  เมื่อเซลล์ CD4 ถูกทำลาย ทำให้โอกาสที่เชื้อราแคนดิดาเข้าสู่ร่างกายมีมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณผิวหนัง เล็บ และเยื่อเมือกบุผิวทั่วร่างกาย อาจได้รับผลกระทบจากเชื้อราชนิดนี้ รวมทั้งเยื่อเมือกบุผิวภายในปากและช่องคลอด อย่างไรก็ตาม เชื้อแคนดิดาจะทำให้เกิดการติดเชื้อฉวยโอกาสก็ต่อเมื่อมีการ ติดเชื้อ ในหลอดอาหาร รวมทั้งในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง อย่างเช่น หลอดลม หรือในเนื้อเยื่อปอดชั้นลึก ๆ ซึ่งอาการที่เห็นได้ชัดเจนก็คือมีจุดสีขาวบริเวณลิ้นหรือคอหอย รักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อราตามใบสั่งแพทย์ รวมทั้งสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีตัวยาคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine)

    โรคปอดบวม (Pneumonia)

    เชื้อราบาง เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคปอดบวมซึ่งคร่าชีวิตผู้ติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทั้งนี้ หากรักษาแต่เนิ่น ๆ หลังจากที่เริ่มมีอาการอาจรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ อาการของโรคนี้คือไอ มีไข้ และหายใจลำบาก แต่ต้องระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเชื้อคริปโตค็อกคัส (Cryptococcus Neoformans) มักเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปอด แล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย  เช่น ผิวหนัง กระดูก หรือทางเดินปัสสาวะ เซึ่งนำไปสู่โรคปอดบวมได้ นอกจากนี้ ยังอาจลุกลามไปยังสมองทำให้เกิดอาการสมองบวมได้เช่นกัน

    วัณโรค (TB)

    สาเหตุของวัณโรคคือเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่ชื่อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) ซึ่งการติดเชื้อในปอดเป็นผลมาจากการสูดหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เข้าไป อาการของโรค ได้แก่ ไอ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ และเหงื่อออกในตอนกลางคืน นอกจากนี้ ยังอาจพบที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วย เช่น กล่องเสียง ต่อมน้ำเหลือง สมอง ไต หรือกระดูก

    โรคมะเร็งบางชนิด 

    โรคมะเร็งบางชนิดเกิดขึ้นได้จาก ภาวะติดเชื้อฉวยโอกาส ในผู้ป่วยเอชไอวี ในผู้ป่วยเอชไอวีเพศชายมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ป่วยเพศหญิงสามเท่า โดยเฉพาะโรคมะเร็งคาโปซี (Kaposi’s sarcoma) หรือโรคเคเอส (KS) หมายถึง มะเร็งหลอดเลือด หรือมะเร็งเนื้อเยื่อน้ำเหลือง สำหรับผู้ป่วยเอชไอวีเพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งในระบบสืบพันธุ์มากกว่า โดยเฉพาะ มะเร็งปากมดลูก  แต่ทั้งนี้ มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ง่ายในขณะที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันลดลงจากการติดเชื้อเอชไอวี

    โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส

    เชื้อไซโตเมกาโลไวรัส หรือซีเอ็มวี (Cytomegalovirus; CMV) เป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคเริม แต่ในผู้ป่วยเอชไอวีหากได้รับเชื้อตัวนี้เข้าสู่ร่างกาย อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตา และนำไปสู่ภาวะการมองไม่เห็นหรือตาบอดได้ รวมทั้งก่อให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรงหรือร่างกายเป็นแผลผุผองที่ยากต่อการรักษา

    ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีอาจเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อฉวยโอกาส เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แต่ทั้งนี้ อาจป้องกันและรักษาโรคที่เกิดจากภาวะติดเชื้อฉวยโอกาสเหล่านี้ได้ ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อรา รวมถึงเข้ารับการรักษาและใช้ยาต้านไวรัสตามที่แพทย์สั่ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 07/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา