backup og meta

แพ้ไข่ เรื่องใกล้ตัวที่คนชอบเมนูไข่ควรระวัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 30/11/2020

    แพ้ไข่ เรื่องใกล้ตัวที่คนชอบเมนูไข่ควรระวัง

    ไข่ อาหารที่อุดมไปด้วยประโยชน์มากมาย และสามารถนำมาสร้างสรรค์เมนูอาหารแสนอร่อยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเมนูคาว ของว่าง ไปจนถึงเมนูขนมหวานต่าง ๆ เมนูไข่ อาจเป็นเมนูโปรดของใครหลาย ๆ คน แต่คงไม่ใช่สำหรับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไข่ หรือ แพ้ไข่ เป็นแน่ อาการแพ้ไข่เป็นอย่างไร และจะมีวิธีรับมืออย่างไร Hello คุณหมอ มีข้อมูลเรื่องนี้มาฝากกัน

    แพ้ไข่ คืออะไร

    แพ้ไข่ หรือ ภูมิแพ้ไข่ (Egg Allergy) เป็นหนึ่งในภูมิแพ้อาหารประเภทหนึ่ง เป็นภาวะที่มีอาการระคายเคืองเป็นพิเศษต่อสารอาหารบางอย่างในไข่แดงหรือไข่ขาว ที่นำไปสู่การตอบสนองที่รุนแรงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ทางร่างกายต่าง ๆ ตามมา

    อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาของการแพ้ที่รุนแรงที่สุดนั้นเรียกว่า ภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (anaphylaxis) ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ที่ต้องได้รับการรักษาด้วย ยาเอพิเนฟรีน (epinephrine) อย่างเร่งด่วนและทันท่วงที โดยระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ที่ปกติจะทำหน้าที่ป้องกันและต่อสู้กับเชื้อโรคและปัญหาต่าง ๆ จะหันมาใช้แอนติบอดี้ต่อสู้กับโปรตีนจากไข่ เสมือนหนึ่งเป็นภัยคุกคามที่เป็นอันตราย ปฏิกริยานี้อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันที หรืออาจเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วโมงก็เป็นได้

    อาการของ ภูมิแพ้ไข่

    ผู้ที่แพ้ไข่ไก่มีแนวโน้มว่าอาจจะแพ้ไข่ของสัตว์ปีกชนิดอื่น ๆ ด้วยไม่ว่าจะไข่ห่าน ไข่เป็ด หรือไข่นกกระทา โดยมักมีอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้นทันที หลังจากที่กินหรือสัมผัสกับไข่

    • ปฏิกิริยาของผิวหนัง เช่น บวม เป็นผื่น ลมพิษ หรือตุ่มใส ๆ บริเวณผิวหนัง
    • หอบเหนื่อยและหายใจไม่สะดวก
    • น้ำมูกไหลและจาม
    • ตาแดงหรือมีน้ำตาไหล
    • ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสีย
    • เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (anaphylaxis)

    การวินิจฉัยและการรักษาอาการ แพ้ไข่

    หากคุณหรือบุตรหลานมีอาการที่กล่าวถึงข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ ซึ่งแพทย์อาจวินิจฉัยอาการแพ้ไข่ได้จากการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (skin-prick test) หรือการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิแพ้

    การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นการตรวจวินิจฉัยโดยใช้ของเหลวที่มีส่วนผสมของโปรตีนไข่จำนวนเล็กน้อย ทาที่บริเวณแผ่นหลังหรือแขน แล้วใช้ปลายเข็มสะกิดเพื่อให้ของเหลวซึมผ่านลงสู่ผิวหนัง หากเกิดผื่นหรือจุดแดงขึ้นภายใน 15-20 นาที ก็สามารถบ่งชี้ได้ถึงอาการภูมิแพ้ การตรวจทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังสามารถบ่งชี้ได้ว่า คุณแพ้โปรตีนในไข่ขาวหรือไข่แดง โดยการใช้โปรตีนชนิดที่ต่างกันในของเหลวที่ใช้ในการทดสอบ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การแพ้โปรตีนในไข่ขาวจะพบได้บ่อยที่สุด

    การทดสอบภูมิแพ้ด้วยการตรวจเลือด ตัวอย่างเลือดจะถูกส่งไปที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อทำการทดสอบสารแอนตี้บอดี้อิมมูโนโกลบูลินอี (immunoglobulin E) ที่มีปฏิกิริยาต่อโปรตีนไข่

    ถ้าการตรวจเหล่านี้ให้ผลไม่ชัดเจน แพทย์อาจจัดให้มีการทดสอบภูมิแพ้ด้วยการรับประทานอาหาร (Food Challenge) ซึ่งคุณจะต้องกินไข่จำนวนเล็กน้อย เพื่อดูว่าเกิดปฏิกิริยาใดหรือไม่ โดยต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ เพราะมีความเป็นไปได้ที่อาการแพ้นั้นอาจร้ายแรงกว่าที่คาดการณ์ ดังนั้น แพทย์จึงจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด และเตรียมอุปกรณ์การช่วยเหลือที่จำเป็นและยาที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเอาไว้ใกล้มือ

    หรืออาจมีการใช้วิธีการงดอาหารบางอย่าง เพื่อดูว่าอาการแพ้จะยังคงอยู่หรือไม่ ถ้าอาการแพ้หายไปเมื่องดกินไข่โดยสิ้นเชิง และเกิดขึ้นอีก เมื่อกลับมากินไข่ดังเดิม ก็อาจเป็นไปได้ที่คุณจะมีภูมิแพ้ไข่

    การรักษาอาการ แพ้ไข่

    ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ไข่ควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับอาการนี้ หากเผลอรับประทานไข่โดยไม่ตั้งใจ โดยอาจมียาพกติดตัวเอาไว้เสมอ อย่างเช่น ยาต้านฮีสตามีน หรือ ยาเอพิเนฟรีน สำหรับกรณีร้ายแรง

    ไข่ในวัคซีน

    โดยทั่วไปวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (influenza) มีส่วนผสมของโปรตีนไข่อยู่เล็กน้อย

    วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้อย่างปลอดภัย แม้ในผู้ที่มีภูมิแพ้ไข่ ตราบเท่าที่เป็นการฉีดในคลินิกหรือโรงพยาบาล ที่มีอุปกรณ์เตรียมพร้อมสำหรับการช่วยเหลือ ในกรณีที่เกิดอาการแพ้โดยเฉพาะปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ดังนั้น ถ้าคุณแพ้ไข่ คุณไม่ควรฉีดวัคซีนกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือในคลินิกที่ไม่มีเครื่องมือช่วยชีวิตเตรียมพร้อมเอาไว้

    ทั้งนี้ มีวัคซีนไข้หวัดชนิดหนึ่งที่ไม่มีส่วนผสมของโปรตีนไข่ ที่ได้รับการรับรอง และสามารถใช้ได้ในผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-49 ปี

    การหลีกเลี่ยงไข่

    ทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับภาวะภูมิแพ้ไข่ก็คือ การหลีกเลี่ยงการรับประทานไข่ แม้ว่าไข่จะเป็นส่วนประกอบในอาหารเกือบทุกชนิด แม้แต่ในสารทดแทนไข่ไก่บางอย่าง ก็ยังมีโปรตีนไข่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้ไข่จึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ในการอ่านฉลากกำกับอาหาร รวมไปถึงการสอบถามถึงส่วนประกอบของอาหารที่มีผู้อื่นเป็นผู้จัดเตรียมไว้ให้

    ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะภูมิแพ้ไข่ ไม่ว่าจะเป็นไข่แดงหรือไข่ขาว ควรหลีกเลี่ยงทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะแยกไข่ขาวและไข่แดงออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

    ดัดแปลงสูตรอาหาร

    ในหลายเมนูอาจสามารถดัดแปลงสูตร เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ไข่เป็นส่วนผสมได้ ในกรณีที่สูตรอาหารให้ใช้ไข่ตั้งแต่สามฟองหรือน้อยกว่านั้น ให้แทนที่ไข่แต่ละฟองด้วยส่วนผสมของ น้ำ 1 ช้อนโต๊ะ น้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะ และเบคกิ้งโซดา 1 ช้อนชา

    ทางเลือกอื่นในการทดแทนไข่ก็คือ การใช้เจลาตินแบบไม่มีรส 1 ห่อ ละลายในน้ำอุ่น 2 ช้อนโต๊ะ (ผสมเมื่อต้องการใช้งาน) หรือใช้ยีสต์ 1 ช้อนชา ละลายกับน้ำอุ่นหนึ่งถ้วย

    หากคุณหรือลูกคุณมีภาวะภูมิแพ้อาหารมากกว่าหนึ่งชนิด ควรขอคำปรึกษาจากนักโภชนาการ เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน หากลูกของคุณมีเพียงแค่ไข่เท่านั้นที่ต้องหลีกเหลี่ยง คุณก็สามารถช่วยให้ลูกกินอาหารได้อย่างปลอดภัยด้วยตัวเองได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย อนันตา นานา · แก้ไขล่าสุด 30/11/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา