backup og meta

หักกระดูกข้อต่อคอ หรือ หักคอ บ่อยๆ ระวัง! เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 24/09/2020

    หักกระดูกข้อต่อคอ หรือ หักคอ บ่อยๆ ระวัง! เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

    หากคุณปวดเมื่อยต้นคอ ควรคิดให้ดีก่อนที่จะใช้วิธี หักกระดูกข้อต่อคอ หรือ หักคอ แก้เมื่อย เพราะผู้ที่ชอบ หักกระดูกข้อต่อคอ ด้วยตัวเอง  หรือแม้แต่การบำบัดอาการเจ็บป่วยด้วยการจัดกระดูกสันหลัง และการจัดกระดูกคอ ก็อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ อีกทั้งยังมีบทความในวารสารการแพทย์ของอังกฤษ (BMJ) ที่ระบุว่าการหักกระดูกข้อต่อคอ อาจเป็นสาเหตุให้คอเสียหายถาวรได้อีกด้วย ดังนั้น Hello คุณหมอ จะพาคุณไปรู้จักเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีของคถณ

    ทำไมต้อง “หักคอ’

    สิ่งที่เราเรียกว่าการ “หักคอ’ อาจฟังดูน่ากลัว แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่สิ่งเดียวกับการทำให้ “คอหัก’แต่การ หักคอ เป็นสิ่งที่หลายคนนิยมทำ เพื่อใช้ในการผ่อนคลายอาการตึงเครียดที่ลำคอ ซึ่งมักเกิดขึ้นเวลาที่เราอยู่ในท่าหนึ่งท่าใดเป็นเวลานานๆ การหักหรือบิดกระดูกข้อต่อคอ จะช่วยในการยืดกล้ามเนื้อที่แข็งตึงบริเวณลำคอและข้อต่อ และคลายความตึงเครียดที่สะสมอยู่ในบริเวณนี้ ในการทำท่าหักคอเพื่อคลายเมื่อย จะทำให้เกิดสุญญากาศระหว่างข้อต่อและกล้ามเนื้อ และก๊าซไนโตรเจนก็จะไหลเข้ามาสู่น้ำในข้อต่อ และเมื่อกระดูกกลับสู่ท่าปกติ ก็จะผลักก๊าซพวกนั้นออกไป ซึ่งทำให้เกิดเสียงแกร็กอย่างที่เราได้ยิน และทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายจากอาการตึงลำคอ

    โรคหลอดเลือดสมองคืออะไร

    โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นภาวะที่สมองขาดเลือด เนื่องจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการอุดตัน ตีบ หรือฉีกขาด ทำให้เนื้อเยื่อสมองไม่ได้รับออกซิเจน จนเซลล์สมองถูกทำลาย ส่งผลให้การทำงานของร่างกายที่ควบคุมโดยสมองส่วนนั้นๆ เช่น ระบบความจำ การควบคุมกล้ามเนื้อ หยุดชะงัก

    โรคหลอดเลือดสมอง สามารถเกิดขึ้นกับได้กับคนทุกเพศทุกวัยและทุกเมื่อ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองบางคนมีอาการไม่รุนแรง เช่น แขนหรือขาเป็นอัมพฤกษ์ แต่บางคนก็มีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตครึ่งซีก หรือพูดไม่ได้ตลอดชีวิต โดย 2 ใน 3 ของผู้ป่วยที่รอดจากโรคหลอดเลือดสมองจะอยู่ในสภาพทุพพลภาพ

    การหักคอกระดูกข้อต่อคอ เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมองอย่างไร

    การ หักกระดูกข้อต่อคอ สามารถทำให้หลอดเลือดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ เช่น หลอดเลือดเวอร์ทีบรอล อาร์เทอรี (Vertebral Artery) ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองฉีกขาดได้ เมื่อหลอดเลือดฉีกขาด ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า เลือดจะไหลออกมา และรวมกันเป็นลิ่มเลือด และหากลิ่มเลือดนั้น ไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ที่จะไปเลี้ยงสมอง สมองก็จะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยอาจเป็นชนิดรุนแรง หรือชนิดไม่รุนแรงอย่าง ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (transient ischemic attack: TIA) ก็ได้

    หากคุณเป็นคนที่ชอบหักข้อต่อกระดูกคอแล้วมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

    • วิงเวียนศีรษะ มึนงง
    • ร่างกายอ่อนเพลีย
    • ตาพร่ามัว
    • ไม่สามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่าภาวะดีสเฟเซีย (Dysphasia)
    • ปวดศีรษะตลอด

    ติดหักกระดูกข้อต่อคอ แก้ไขอย่างไรดี

    การ หักกระดูกข้อต่อคอ นั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คุณคิด ทางที่ดีคุณควรเลิกพฤติกรรมนี้เสีย โดยทำตามคำแนะนำดังนี้

    เปลี่ยนวิธีแก้เมื่อย

    ผ่อนคลายความตึงเครียดและเมื่อยล้าของเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณคอด้วยการก้มมองพื้น หมุนศีรษะเบาๆ หรือเอียงคอซ้าย-ขวา และหน้า-หลัง แทนการหักกระดูกข้อต่อคอ

    บริหารลำคอ

    เพื่อยืดกล้ามเนื้อคอ และทำให้คอแข็งแรงขึ้น ด้วยท่าต่อไปนี้

  • ท่าเก็บคาง (Chin Tuck) – ยืนให้หลังและคอตั้งตรง ตามองไปข้างหน้า พยายามกดคางช้า ๆ ให้คางชิดคอมากที่สุด โดยที่ศีรษะตั้งฉากกับพื้น จากนั้นค้างไว้ 10 วินาทีค่อยผ่อนกลับมาสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำวันละ 2-3 ครั้ง
  • ท่าบีบกระดูกสะบัก (Shoulder Blade Squeeze) – ยืนให้หลังและศีรษะตั้งฉากกับพื้น จากนั้นแอ่นหัวไหล่ช้าๆ โดยให้กระดูกสะบักทั้งสองข้างอยู่ชิดกันให้ได้มากที่สุด จากนั้นค้างไว้ 5 วินาทีค่อยผ่อนกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำติดต่อกัน 10 ครั้ง
  • ท่าบริหารหลัง (Back Burn) – ยืนพิงผนังโดยให้คางตั้งฉากกับพื้น ยกแขนขึ้นให้อยู่ระดับเดียวกับหัวไหล่  ค่อยๆ ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะช้าๆ จากนั้นค้างไว้ 10 วินาทีค่อยผ่อนกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำเช็ตละ 5 ครั้ง วันละ 10 เช็ต
  • เมื่อคุณออกกำลังกายจนกล้ามเนื้อคอแข็งแรงขึ้น คุณก็จะไม่อยาก หักกระดูกข้อต่อคอ อีกต่อไป และความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองของคุณก็จะลดลง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 24/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา