backup og meta

ท้องผูก บ่อยๆ ก็เพราะนิสัยเสียๆ แบบนี้ไงล่ะ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 15/07/2020

    ท้องผูก บ่อยๆ ก็เพราะนิสัยเสียๆ แบบนี้ไงล่ะ

    ท้องผูก เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในทุกเพศทุกวัย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสาเหตุก็มักจะมาจากตัวคุณเองนั่นแหละ โดยเฉพาะ นิสัย เล็กๆ น้อยๆ บางอย่างที่คุณอาจนึกไม่ถึง แต่กลับกลายเป็นสาเหตุของการเกิดอาการท้องผูกเลยล่ะ สังเกตกันดูนะคะ…และลองมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสุขอนามัยของตัวเอง

    แบบไหนเรียกว่าท้องผูก

    ท้องผูก หมายถึงอาการที่อุจจาระแข็ง หรืออุจจาระน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน และถึงแม้ว่าท้องผูกโดยทั่วไปจะเป็นอาการที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรละเลย เพราะอาการท้องผูกเรื้อรังอาจเป็นสัญญาณของโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็งลำไส้

    อย่างไรก็ตาม แต่ละคนมีช่วงเวลาขับถ่ายไม่เหมือนกัน บางคนถ่ายวันละ 3 ครั้ง ในขณะที่บางคนถ่ายอุจจาระไม่กี่ครั้งต่อสัปดาห์ แต่การไม่ขับถ่ายนานกว่า 3 วันหรือมากกว่านั้น ถือว่านานจนเกินไป เนื่องจากหลังจากเวลาผ่านไป 3 วันอุจจาระของคุณจะแข็ง และทำให้ถ่ายอุจจาระได้ยาก

    ถ้าคุณมีอาการดังต่อไปนี้ อาจหมายความว่าคุณกำลังท้องผูกแล้วล่ะ

    • ไม่ได้ขับถ่ายเป็นเวลา 3 วัน
    • ถ่ายอุจจาระยาก หรืออุจจาระมีขนาดใหญ่กว่าปกติ
    • อุจจาระน้อย
    • มีปัญหาในการขับถ่าย
    • อุจจาระแข็ง หรือเป็นก้อนเล็กๆ
    • อุจจาระไม่ออก
    • มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

    นิสัย อะไรที่เป็นสาเหตุของ ท้องผูก

    การใช้ชีวิตของคุณ นิสัยส่วนตัว และบางเรื่องที่คุณละเลย เหล่านี้รวมๆ กันแล้วเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้คนเราเกิดอาการท้องผูก มาดูกันว่าคุณทำอะไรเหล่านี้บ้างหรือเปล่า

    คุณไม่ค่อยขยับร่างกาย

    ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ออกกำลังกาย หรือใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนั่งอยู่กับที่ คุณอาจมีอาการท้องผูกได้ อาการท้องผูกบ่อยครั้งจึงเกิดกับผู้ป่วยที่นอนติดเตียง แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้เจ็บป่วย การเคลื่อนไหวร่างกายและการออกกำลังกายจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คำแนะนำในการออกกำลังกายโดยทั่วไปที่ใช้ได้สำหรับคุณก็คือ ออกกำลังกายแบบปานกลางวันละ 30 นาที ให้มากวันที่สุดในหนึ่งสัปดาห์ รับรองว่า อาการท้องผูกของคุณจะหายเป็นปลิดทิ้งทีเดียว

    คุณไม่ค่อยกินผักผลไม้

    ผักและผลไม้อุดมไปด้วยไฟเบอร์ ซึ่งช่วยทำให้กากอาหารในลำไส้มีน้ำมากขึ้น มีขนาดใหญ่ขึ้น และนุ่มขึ้น ส่งผลให้การขับถ่ายดีขึ้น และถ้าคุณได้รับไฟเบอร์ไม่เพียงพออาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ ดังนั้นการกินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว หรือธัญพืช จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องท้องผูกได้ แถมยังทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นอีกด้วย

    คุณดื่มน้ำไม่เพียงพอ

    คุณควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร เพื่อไม่ให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ และน้ำยังมีส่วนช่วยในการขับถ่ายทำให้กากอาหารในลำไส้เคลื่อนที่ได้ง่ายขึ้น คุณจึงควรดื่มน้ำให้เป็นนิสัย นอกจากนี้การดื่มน้ำผลไม้คั้นสดก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ควรระวังการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น กาแฟ หรือน้ำอัดลม อาจทำให้คุณอยู่ในภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ซึ่งทำให้อาการท้องผูกแย่ลง

    คุณไม่ยอมเข้าห้องน้ำเวลาที่ปวดอุจจาระ

    ถ้าคุณปวดอุจจาระ แต่ไม่เข้าห้องน้ำ เพราะว่าคุณกำลังยุ่งอยู่ หรือคุณไม่อยากเข้าห้องน้ำสาธารณะ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ การไม่เข้าห้องน้ำในเวลาที่ต้องการอุจจาระ สามารถทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ ดังนั้น คุณควรเปลี่ยนแปลงนิสัย โดยไม่ควรรอเวลา หากคุณรู้สึกปวดอุจจาระ คุณควรเข้าห้องน้ำทันที

    คุณถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลา

    ยิ่งกากอาหารอยู่ในลำไส้นานเท่าไร ก็ยิ่งขับถ่ายออกมาได้ยากเท่านั้น ดังนั้น คุณควรถ่ายอุจจาระเวลาเดียวกันทุกวัน จะช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ นอกจากนี้การกินอาหารเช้า ก่อนเข้าห้องน้ำประมาณ 15-45 นาที สามารถช่วยให้คุณขับถ่ายได้ดีขึ้น โดยถ้าคุณเข้าห้องน้ำตอนเช้าๆ ก็ควรเผื่อเวลาไว้สำหรับการขับถ่าย ไม่ควรบังคับให้ตัวเองรีบถ่ายอุจจาระ เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

    คุณกินยาระบายบ่อยเกินไป

    ยาระบาย อาจช่วยทำให้อาการท้องผูกดีขึ้นในบางครั้ง แต่การใช้ยาระบายสามารถส่งผลต่อการทำงานของลำไส้ นอกจากนี้การใช้ยาระบายเป็นเวลานาน อาจทำให้อาการท้องผูกแย่ลง

    ดังนั้น ก่อนกินยาระบาย คุณอาจลองดื่มน้ำ และกินอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ รวมถึงลองออกกำลังกาย เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องผูก แต่หากวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล คุณควรปรึกษาคุณหมอ เรื่องการกินยาระบายเพื่อรักษาอาการท้องผูก และขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลตัวเองที่ถูกต้องจากอาการท้องผูก

    วิธีบรรเทาอาการท้องผูก

  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่และอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ เช่น ผักและผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ขนมปังธัญพืช และธัญพืชต่างๆ (โดยเฉพาะที่เป็นรำข้าว)
  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน (ยกเว้นในกรณีที่แพทย์สั่งให้จำกัดปริมาณน้ำดื่ม)
  • หลีกเลี่ยงคาเฟอีน เนื่องจากสามารถทำให้ร่างกายขาดน้ำได้
  • ลดปริมาณนม เนื่องจากนมสามารถทำให้บางคนมีอาการท้องผูก
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 4-5 วันต่อสัปดาห์เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง
  • เข้าห้องน้ำทันที เมื่อรู้สึกปวดอุจจาระ
  • เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    นอกจากสาเหตุจากการใช้ชีวิตและนิสัยส่วนตัวของคุณแล้ว ยังมีสาเหตุทางสุขภาพบางประการที่อาจทำให้คุณเกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน อาการที่พบบ่อยได้แก่

    ดังนั้น ให้แน่ใจว่าคุณไปพบคุณหมอทันที หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ ซึ่งอาจแสดงถึงภาวะโรคอย่างอื่นที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่เพียงแค่อาการท้องผูกทั่วไป

    • คุณเพิ่งเคยมีอาการท้องผูกครั้งแรก และการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์บางอย่างไม่ทำให้อาการท้องผูกดีขึ้น
    • มีอาการท้องผูก ร่วมกับอาการปวดท้อง
    • มีเลือดในอุจจาระ
    • น้ำหนักลดลง โดยไม่ทราบสาเหตุ
    • เจ็บรุนแรงเวลาขับถ่าย
    • ท้องผูกนานกว่า 2 สัปดาห์
    • ขนาด รูปร่าง และความเหนียวของอุจจาระเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 15/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา