backup og meta

โภชนาการบำบัด เทคนิคกำหนดอาหาร ที่ช่วยปรับปรุงสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 19/04/2021

    โภชนาการบำบัด เทคนิคกำหนดอาหาร ที่ช่วยปรับปรุงสุขภาพ

    หากคุณไม่ทราบว่าร่างกายของตนเองควรได้รับสารอาหารประเภทใด หรือควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารแบบใด ถึงจะส่งผลดีต่อสุขภาพ วันนี้ Hello คุณหมอ อยากชวนทุกคนมารู้จักกับ เทคนิคการกำหนดอาหาร หรือ โภชนาการบำบัด ที่ได้รับการรับรองจากแพทย์ ให้ทุกคนได้ลองศึกษาเบื้องต้น ก่อนตัดสินใจเข้ารับคำแนะนำโดยตรงจากแพทย์ด้วยตนเอง

    โภชนาการบำบัด คืออะไร

    โภชนาการบำบัด (Medical Nutrition Therapy) เป็นการบำบัดจากแพทย์หรือนักโภชนาการ โดยการจัดทำแผนโภชนาการกำหนดอาหาร และปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้เหมาะ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของคุณ นอกจากนี้ แพทย์ก็จะคอยติดตามความคืบหน้าของอาการทั้งในเชิงบวกและในเชิงลบอยู่เรื่อย ๆ

    การบำบัดนี้ค่อนข้างเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาในเรื่องของการลดน้ำหนัก และมีความต้องการที่จะลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร ถ้าหากคุณไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ของการเกิดโรคดังกล่าว แต่อยากเข้าร่วมรับการบำบัดในการเสริมสุขภาพตนเองก็อาจสามารถขอเข้ารับคำปรึกษาเบื้องต้นจากแพทย์ก่อน เพื่อรับคำแนะนำหรือการบำบัดด้วยเทคนิคอื่น ๆ พร้อมการวางแผนจัดโภชนาการที่เหมาะสมกับตัวคุณ

    การทำโภชนาการบำบัด มีประโยชน์อย่างไร

    เนื่องจากการทำโภชนาการบำบัดเป็นการวางแผนการรับประทานอาหาร ที่อาจช่วยปรับปรุงการทำงานของร่างกายจากภายในสู่ภายนอกได้ ดังนั้น การทำโภชนาการบำบัด จึงอาจส่งผลช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังเหล่านี้ได้

    • โรคหัวใจ

    โรคหัวใจ คือ โรคที่เกิดจากสภาวะต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูง การสะสมของคราบหินปูน หรือคราบจุลินทรีย์ งานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า โภชนาการบำบัดจากการกำหนดอาหารที่แพทย์แนะนำ สามารถช่วยลดไตรกลีเซอร์ไรด์ และความดันโลหิตสูง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ เนื่องจากแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่เน้นผักและผลไม้ มากกว่าอาหารที่มีโซเดียม ไขมันอิ่มตัว และคอเลสเตอรอลสูง

    • โรคเบาหวาน

    เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จนยากเกินกว่าจะควบคุมให้คงที่ อีกทั้งยังถูกปล่อยสะสมไว้เป็นเวลานาน ก็อาจทำให้คุณเป็นโรคเบาหวาน และต้องเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่าง ๆ ที่ตามมาโดยที่ไม่รู้ตัว

    จากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การทำโภชนาการบำบัด ที่ช่วยควบคุมการรับประทานอาหาร อาจช่วยให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น โดยแพทย์อาจใช้เทคนิคสอนวิธีการนับปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ควรรับประทานต่อวันให้สม่ำเสมอกัน เพราะคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่สามารถส่งผลกระทบต่อการเพิ่ม-ลดของระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าสารอาหารประเภทอื่น

    • โรคมะเร็ง

    การรับประทานอาหารเพื่อช่วยต้านเซลล์มะเร็ง อาจเป็นโภชนาการบำบัดที่ทำได้ค่อนข้างยาก แพทย์จะวางแผนการรับประทานควบคู่ไปกับการทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง โดยกำหนดอาหารที่ผู้ป่วยควรรับประทานตลอดช่วงการรักษาโรคมะเร็งให้มีพร้อมทั้งแคลอรี่ ไขมัน และโปรตีน เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของการฉายรังสี เช่น อาการปวดในระบบย่อยอาหาร

  • โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร

  • เพื่อเป็นการป้องกันโรคทางเดินอาหารต่าง ๆ และปรับการทำงานของระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้น แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอาจกำหนดอาหารที่เหมาะสมต่อการทำงานสุขภาพลำไส้และกระเพาะอาหารของแต่ละบุคคล เพื่อช่วยให้ดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น ไม่ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร ลดการสะสมของสารพิษ และช่วยบรรเทาอาการอักเสบในช่องท้องได้

    • โรคไต

    ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีสภาวะเกี่ยวข้องกับโรคไต อาจจำเป็นต้องได้รับการควบคุม และปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดไตวาย แพทย์อาจแนะนำให้คุณลดการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมและโพแทสเซียมสูง เนื่องจากสารอาหารเหล่านี้สามารถส่งผลในเชิงลบต่อไตได้โดยตรง และอาจแนะนำเป็นการรับประทานอาหารประเภทอื่น ๆ มาทดแทน ให้เหมาะสมตามลักษณะอาการของแต่ละบุคคล

    ขั้นตอนของ การทำโภชนาการบำบัด มีอะไรบ้าง

    หากคุณมีความสนใจเข้ารับ การทำโภชนาการบำบัด จากผู้เชี่ยวชาญ คุณอาจจำเป็นต้องบันทึกประวัติการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อของคุณล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้แพทย์ได้ทำการพิจารณานำมาวางแผนการรับประทานอาหารให้แก่คุณ

    เมื่อแพทย์และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการบำบัด ได้ทราบถึงประวัติการรับประทานอาหารของคุณแล้ว แพทย์ก็จะสามารถจัดตารางอาหารที่เหมาะสมให้กับคุณ โดยคำนึงถึงสภาวะสุขภาพที่คุณเป็นอยู่ แพทย์อาจให้คำแนะนำในการเลือกรับประทานอาหารให้ดีขึ้น เช่น ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการอ่านฉลากอาหาร สอนวิธีนับปริมาณแคลอรีที่ถูกต้อง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของคุณ จากนั้นก็จะต้องดำเนินการบำบัดเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมปรับเปลี่ยนอาหารตามการเปลี่ยนแปลง และติดตามผลลัพธ์จนกว่าการบำบัดจนเสร็จสิ้นขั้นตอน

    ข้อควรระวังเมื่อเข้ารับ โภชนาการบำบัด

    ตามปกติแล้ว หากคุณเข้ารับการบำบัดจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ พร้อมปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง ก็อาจสามารถสร้างผลลัพธ์ในเชิงบวกให้ห่างไกลจากความเสี่ยงต่าง ๆ ทางสุขภาพได้ แต่หากคุณไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานอาหารตามที่แพทย์กำหนด ก็อาจส่งผลในเชิงลบ ทำให้เกิดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อส่วนสำคัญออกไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมค่อนข้างไม่เหมาะสม และไม่ปลอดภัยอย่างมากเลยทีเดียว

    สุดท้ายนี้โปรดจำไว้ว่า การทำโภชนาการบำบัดนั้นจะเหมาะสมก็ต่อเมื่อคุณได้รับการประเมินจากแพทย์และนักโภชนาการอย่างถี่ถ้วนแล้วเท่านั้น เพราะการทำโภชนาการบำบัดโดยไม่ผ่านการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสุขภาพร่างกายได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 19/04/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา