backup og meta

ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก (Weighted Blankets) นวัตกรรมใหม่ สำหรับคนนอนหลับยาก

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 21/08/2020

    ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก (Weighted Blankets) นวัตกรรมใหม่ สำหรับคนนอนหลับยาก

    ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับอาการวิตกกังวล และปัญหาในการนอนหลับ อาจจะพยายามหาทางที่จะช่วยบรรเทาความกังวล และทำให้ตัวเองสามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดื่มนมก่อนนอน ดื่มชาสมุนไพร หรือแม้แต่การใช้ยานอนหลับ แต่วันนี้ Hello คุณหมอ จะมาแนะนำอีกหนึ่งนวัตกรรม อย่าง ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก ที่จะช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่มีปัญหานอนหลับยาก มาฝากกันค่ะ

    ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก คืออะไร

    ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก (Weighted blankets) นั้นเป็นผ้าห่มที่หน้าตาภายนอกก็เหมือนกับผ้าห่มปกติทั่วไป แต่ภายในกลับอัดแน่นไปด้วย พลาสติก หรือแก้ว เพื่อช่วยถ่วงให้ผ้าห่มนั้นมีน้ำหนักมากขึ้น น้ำหนักของผ้าห่มถ่วงน้ำหนักนั้นจะมีตั้งแต่ 1-10 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับความชอบและน้ำหนักตัวของผู้ใช้ แต่น้ำหนักของผ้าห่มที่ผู้ผลิตแนะนำคือ ประมาณ 10% ของน้ำหนักตัวผู้ใช้

    แนวคิดของการใช้ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก คือการใช้หลักการของ “การบำบัดด้วยแรงกดทับ’ (Pressure therapy) เป็นการใช้แรงระดับหนึ่ง กดลงบนร่างกายทั่วทั้งร่าง เป็นการกระตุ้นระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic) เพื่อให้ความรู้สึกคล้ายกับกำลังถูกกอด ลูบ หรือถูกโอบอุ้มเอาไว้ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และทำให้รู้สึกสงบมากยิ่งขึ้น จนสามารถนอนหลับได้ดีขึ้น

    มีงานวิจัยที่ได้ทำการทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 32 ราย พบว่า กว่า 63% ของผู้เข้ารับการทดลองนั้นรู้สึกว่ามีความวิตกกังวลลดลง เมื่อได้นอนภายใต้ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก เป็นเวลา 5 นาที

    ส่วนอีกหนึ่งงานวิจัย ที่ทำการทดลองกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เป็นจำนวน 30 ราย ก็พบว่าผู้ทดลองกว่า 60% นั้นรู้สึกมีความวิตกกังวลน้อยลงหลังจากที่ได้ใช้ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก

    ความจริงแล้ว การบำบัดด้วยแรงกดทับ โดยการใช้ผ้าห่มถ่วงน้ำหนักนั้นไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่อะไร เพราะมีการใช้เพื่อช่วยในการบำบัดเด็กที่มีปัญหาออทิสติก หรือสมาธิสั้นมาตั้งแต่สมัยก่อน แต่ในปัจจุบัน การใช้ผ้าห่มถ่วงน้ำหนักจะเน้นเพื่อช่วยในจัดการปัญหาการนอนหลับ และความวิตกกังวลไปแทน

    ผ้าห่มถ่วงน้ำหนักเหมาะสำหรับใครบ้าง

    งานวิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก และพบว่า ผ้าห่มถ่วงน้ำหนักนั้นอาจจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีสภาวะดังต่อไปนี้

    ผู้ที่มีปัญหาวิตกกังวล

    อาการวิตกกังวล กระวนกระวาย และรู้สึกไม่สบายใจอยู่บ่อยครั้ง สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ โดยการทำให้หัวใจเต้นเร็ว และหายใจเร็วอยู่เสมอ จนทำให้ร่างกายเกิดความเครียด และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน

    ผ้าห่มถ่วงน้ำหนักนั้นอาจจะสามารถช่วยบรรเทาความวิตกกังวลลงไปได้ โดยการสร้างแรงกดทับให้กับระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัตินั้นเข้าสู่โหมดพัก และช่วยลดความวิตกกังวลลงมาได้ โดยการทำให้อัตราการหายใจและหัวใจเต้นลดลง ทำให้รู้สึกสงบมากยิ่งขึ้น

    ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ

    หนึ่งในปัญหาที่มาพร้อมกับความเครียดและความกังวลนั้น มักจะนำไปสู่ปัญหาการนอนไม่หลับในเวลากลางคืน ผ้าห่มถ่วงน้ำหนักนั้นจะสามารถช่วยทำให้ร่างกายของคุณสงบลงได้ ทำให้สามารถนอนหลับได้ง่ายขึ้น และตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่น

    ออทิสติก (Autism)

    หนึ่งในอาการของออทิสติกคือ อาการนอนไม่หลับ มีงานวิจัยที่พบว่า การใช้ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก สามารถช่วยบรรเทาปัญหาการนอนไม่หลับเนื่องจากออทิสติกได้ นอกจากนี้ยังมีการผ้าห่มถ่วงน้ำหนักเพื่อเป็นหนึ่งในกระบวนการบำบัดสำหรับผู้ป่วยออทิสติกอีกด้วย

    สมาธิสั้น

    เด็กที่มีสมาธิสั้นมักจะมีปัญหาในการควบคุมตนเอง และมีอาการลุกรี้ลุกลน และกระวนกระวายอยู่เป็นประจำ การใช้ผ้าห่มถ่วงน้ำหนักจะทำให้เด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้น รู้สึกเหมือนว่ากำลังถูกกอดเอาไว้ ทำให้ช่วงดึงสมาธิของเด็กไว้ได้ และทำให้เด็กมีสมาธิได้นานขึ้น สามารถนั่งอยู่นิ่งๆ และให้ความสนใจกับบางสิ่งได้นานขึ้นได้

    ข้อควรระวังเกี่ยวกับผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก

    แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับความเสี่ยงในการให้ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก แต่จากข้อมูลของผู้ผลิตผ้าห่มถ่วงน้ำหนักนั้น ได้ให้คำแนะนำว่า ไม่ควรใช้ผ้าห่มถ่วงน้ำหนักกับผู้ที่มีสภาวะดังต่อไปนี้

    • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากอาจทำให้เด็กรู้สึกอึดอัด และขาดอากาศหายใจได้
    • ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดตัน (Obstructive sleep apnea) เนื่องจากผ้าห่มถ่วงน้ำหนักนั้นอาจทำให้หายใจลำบากมากกว่าเดิมได้
    • ผู้ป่วยโรคหอบหืด เพราะผ้าห่มถ่วงน้ำหนักอาจทำให้หายใจลำบากในเวลากลางคืน
    • โรคกลัวที่แคบ (Claustrophobia) เนื่องจากผ้าห่มถ่วงน้ำหนักนั้นอาจให้ความรู้สึกรัดแน่นเหมือนอยู่ในที่แคบ และอาจกลายเป็นตัวกระตุ้นความกลัวที่แคบนี้ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 21/08/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา