backup og meta

ไขข้อข้องใจ ทำไมเราจึงมีอาการ ผวาตกจากที่สูงขณะหลับ (hypnic jerk)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 20/05/2020

    ไขข้อข้องใจ ทำไมเราจึงมีอาการ ผวาตกจากที่สูงขณะหลับ (hypnic jerk)

    คุณเคยรึเปล่าคะ นอนๆ อยู่กำลังจะเคลิ้มหลับ ก็ฝันว่าตกวูบจากที่สูง จนสะดุ้งตื่นขึ้นมา ก่อนจะพบว่าตัวเองก็ยังคงนอนอยู่ที่เดิม อาการสะดุ้งที่เรียกว่าอาการ ผวาตกจากที่สูงขณะหลับ นั้นเป็นอาการที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่อาการนี้เป็นอันตราย หรือเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคอะไรรึเปล่านะ หาคำตอบได้จากบทความนี้

    ผวาตกจากที่สูงขณะหลับ คืออะไร

    อาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับ (hypnic jerk) หมายถึงอาการกระตุกของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นเองขณะที่เรากำลังนอนหลับ ทำให้เราเกิดความรู้สึกคล้ายกับว่ากำลังตกจากที่สูง จนทำให้เราต้องผวาตื่น มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เรากำลังมีอาการเคลิ้มๆ ใกล้จะหลับ ความรุนแรงของอาการกระตุกนั้นอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละคน บางคนอาจจะไม่รู้สึกว่ามีอาการกระตุก ในขณะที่บางคนอาจจะกระตุกแรงจนทำให้คนข้างๆ สังเกตเห็นได้ อาการนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อย และสามารถพบได้มากถึง 70% แต่ไม่จำเป็นต้องกังวลไป เพราะอาการนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ หรือส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด

    อาการที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้

    • กล้ามเนื้อบางส่วนของร่างกายกระตุก
    • รู้สึกเหมือนกำลังตกลงจากที่สูง
    • รู้สึกวูบ
    • มีความฝันที่ทำให้รู้สึกกลัว ตกใจ หรือหรือทำให้กระโดด
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • เหงื่อออก
    • หายใจเร็ว

    สาเหตุของการเกิดอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับ

    ตามปกติแล้ว สาเหตุในการเกิดอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับนั้นอาจจะยังไม่เป้นที่ทราบแน่ชัด แต่ก็มีทฤษฎีบางอย่างที่คาดการว่า อาการนี้อาจจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

    การออกกำลังกายดึกเกินไป การออกกำลังกายจะเป็นการกระตุ้นร่างกาย ดังนั้นการออกกำลังกายดึกเกินไป หรือออกในช่วงใกล้กับเวลาที่จะนอน จะทำให้กล้ามเนื้อของคุณถูกกระตุ้น ไม่ผ่อนคลาย และอาจทำให้เกิดอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับได้

    สารกระตุ้น สารบางอย่างที่มีฤทธิ์กระตุ้นสมองและร่างกาย เช่น คาเฟอีน นิโคติน หรือยาบางชนิด อาจทำให้คุณนอนหลับได้ยาก หรือนอนหลับไม่สนิทได้

    ความเครียดและความกังวล ความตึงเครียดและความกังวลที่สะสมอยู่อาจทำให้คุณไม่สามารถผ่อนคลายและนอนหลับได้อย่างสนิท ความเครียดเหล่านี้จะทำให้สมองของคุณตื่นตัวในช่วงเวลานอน และอาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับได้

    นอนหลับไม่เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ อาจนำไปสู่อาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับได้

    อาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับป้องกันได้หรือไม่

    เนื่องจากอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับนั้นไม่ใช่โรค ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำการรักษาแต่อย่างใด แต่ในบางครั้ง อาการนี้ก็อาจรบกวนการนอนหลับ หรือทำให้คุณเกิดความรำคาญได้ไม่น้อย แต่โชคยังดีที่เราสามารถป้องกันการเกิดอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับได้อย่างง่ายๆ เพียงแค่ปรับไลฟ์สไตล์ดังต่อไปนี้

  • ลดคาเฟอีน
  • ลดปริมาณการบริโภคคาเฟอีนต่างๆ ทั้งกาแฟ ชา น้ำอัดลม โดยเฉพาะในช่วงเย็นและก่อนนอน นอกจากนี้ก็ควรลดสารกระตุ้นอื่นๆ เช่น แอลกอฮอล์ หรือนิโคติน ที่อาจทำให้นอนหลับไม่สนิทอีกด้วย

    • อย่าออกกำลังกายก่อนนอน

    แม้ว่าการออกกำลังกายนั้นจะเป็นสิ่งที่ดี แต่การออกกำลังกายก่อนนอนจะเป็นการกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัว ทำให้ไม่สามารถข่มตานอนหลับได้ และอาจจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกขณะหลับได้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายในช่วงกลางวัน เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาในการผ่อนคลายก่อนจะเข้านอน

    • นอนให้เป็นเวลา

    การนอนหลับให้เป็นเวลา จะทำให้ร่างกายสามารถจดจำเวลาที่ควรนอน และช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและลดความเครียดได้อีกมาก

  • ปิดไฟนอน
  • งานวิจัยพบว่า แสงจะกระตุ้นให้สมองมีความตื่นตัว และทำให้เรามีโอกาสนอนหลับไม่สนิทและตื่นได้ง่ายกว่า ดังนั้นจึงควรนอนในห้องที่มืดสนิท และปิดไฟนอน ทำให้ร่างกายสามารถผ่อนคลายได้อย่างเต็มที่ และลดโอกาสเกิดอาการผวาตกจากที่สูงขณะหลับ

    • นั่งสมาธิก่อนนอน

    การนั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าออกก่อนนอน จะช่วยทำให้จิตใจสงบ ลดความฟุ้งซ่านของสมอง ช่วยลดความเครียด และช่วยให้นอนหลับได้สนิทมากยิ่งขึ้น โดยพยายามนั่งสมาธินานอย่างน้อย 5 นาที ก่อนนอน

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 20/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา