backup og meta

มือลอก สัญญาณสะท้อนปัญหาสุขภาพด้านใดบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 25/01/2024

    มือลอก สัญญาณสะท้อนปัญหาสุขภาพด้านใดบ้าง

    มือลอก เป็นอาการที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือลอกเป็นขุย แห้ง และแตก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะแพ้สารเคมีบางชนิด เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า รวมถึงในช่วงที่อากาศหนาวเย็น เนื่องจากผิวหนังขาดความชุ่มชื้น นอกจากนี้ มือลอกอาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคบางชนิด เช่น ผิวหนังที่มืออักเสบ โรคสะเก็ดเงิน ดังนั้น จึงควรหมั่นสังเกตมือของตัวเองอยู่สม่ำเสมอ และควรปรึกษาคุณหมอหากไม่แน่ใจว่าสาเหตุมือลอกเกิดขึ้นเพราะอะไร 

    มือลอก เกิดจากอะไร

    อาการมือลอกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้ 

    • แสงแดด

    หากมือถูกแสงแดดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป ผิวหนังบริเวณฝ่ามือและนิ้วมือจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง มีอาการเจ็บและปวด หรือร้อนจัด และในวันต่อมาผิวหนังบริเวณนั้นจะเริ่มลอก การถูกแดดเผาหรือความร้อนชนิดอื่นก็อาจทำให้เกิดอาการมือลอกได้ด้วยเช่นกัน

    • สภาพอากาศ

    สภาพอากาศที่ร้อนหรือหนาวเย็นมากจนเกินไป ล้วนมีส่วนทำให้มือลอกได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะสภาพอากาศหนาวเย็น อาจทำให้ผิวหนังเสี่ยงต่อสภาพผิวแห้งได้ง่าย หากไม่บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงควรทาครีมบำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น และควรดื่มน้ำประมาณ 2-3 ลิตร/วัน

    • สารเคมี

    สารเคมีที่พบในผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสระผม ครีมบำรุงผิว รวมถึงสารละลายต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสารกันบูด หรือเป็นตัวทำละลาย ซึ่งพบในผลิตภัณฑ์อย่างผงซักฟอก ล้วนมีส่วนที่ทำให้มือลอกได้เช่นกัน เนื่องจากปริมาณของสารดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังหากสัมผัสในปริมาณมาก  

    • การล้างมือบ่อยจนเกินไป

    แม้การล้างมืออาจช่วยให้ห่างไกลจากเชื้อโรคและแบคทีเรีย แต่ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มือลอกได้ เนื่องจากผิวอาจเกิดการระคายเคือง และสูญเสียน้ำเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ไม่ควรล้างมือบ่อยจนเกินไป หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างมือที่อ่อนโยนต่อสภาพผิว

    โรคที่ส่งผลให้มือลอก มีอะไรบ้าง

    มือลอกอาจเป็นอาการของโรคต่าง ๆ ดังนี้

    • ผิวหนังที่มืออักเสบ (Hand Eczema)

    เมื่อมือสัมผัสโดนสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง สารทำความสะอาด เครื่องมือจัดแต่งทรงผม และอื่น ๆ อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง หรือแพ้สารเคมี ซึ่งอาการอาจแสดงออกทางผิวหนังส่งผลทำให้มือลอก หรือนิ้วมือลอก รวมถึงยังอาจส่งผลให้มีอาการคัน เป็นผื่นแดง และผิวหนังแสบร้อนอีกด้วย

    • ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic Eczema)

    ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ เป็นอาการทางผิวหนังที่มีความรุนแรงมากกว่าการอักเสบที่ผิวหนังแบบทั่วไป เนื่องจากทำให้เกิดแผลพุพองขึ้นได้ รวมถึงอาจทำให้เกิดอาการคัน ฝ่ามือแดง และมือลอก

    • อาการทางผิวหนังที่เกิดบริเวณมือและเท้า (Acral Peeling Skin Syndrome)

    โรคนี้อาจส่งผลให้ผิวหนังชั้นบนสุดบริเวณมือและเท้าลอก แต่ไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด อาจพบได้บ่อยในเด็กแรกเกิดหรือเด็กที่อายุยังน้อย

    • โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

    อาการของโรคสะเก็ดเงิน จะทำให้เกิดผื่นแดง ผิวหนังแห้ง แตก และมือลอก หากมีอาการที่ต้องสงสัยว่าเป็นอาการของโรคสะเก็ดเงิน ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

    • โรคผิวหนังผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis)

    โรคผิวหนังผื่นแพ้สัมผัส คือ การที่ผิวหนังมีการอักเสบจากการสัมผัสกับสารต่าง ๆ ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง อักเสบ หรือมีอาการแพ้ เช่น การแพ้แหวนที่ทำจากเงิน อาการแพ้ที่เกิดจากการใส่สร้อยทอง โดยเมื่อเกิดการระคายเคืองขึ้น จะทำให้มีผื่นแดง คัน มือลอก ผิวหนังตกสะเก็ด มีอาการแสบร้อน หรือในบางครั้งอาจมีอาการบวมร่วมด้วย

    • โรคคาวาซากิ (Kawasaki’s Disease)

    โรคคาวาซากิ เป็นโรคที่อาจพบได้มากในเด็ก โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ขึ้นสูง มือหรือเท้าบวม มีผื่นขึ้น คัน มือลอก เท้าลอก ช่องปากและลำคออักเสบ

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    อาการมือลอก เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยปกติหากทราบสาเหตุที่แน่ชัด เช่น แพ้สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด แสงแดด ล้างมือที่บ่อยเกินไป อาจดูแลอาการที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง โดยการเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่ทำให้แพ้ แต่หากอาการมือลอกไม่ดีขึ้น มีอาการอื่นร่วมด้วย หรือหากมือลอกโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพราะอาจเป็นอาการสะท้อนโรคบางอย่างได้ 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 25/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา