backup og meta

เจาะสะดือ ความปลอดภัยและการดูแล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด ตอนนี้

    เจาะสะดือ ความปลอดภัยและการดูแล

    เจาะสะดือ เป็นการเสริมความงามที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น โดยใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานและเครื่องประดับหลายรูปแบบเจาะไปบนผิวหนังบริเวณสะดือ แต่การเจาะสะดืออาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รอยแผล อาการแพ้ หากอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่มีการดูแลแผลอย่างเหมาะสม

    เจาะสะดือ คืออะไร

    การเจาะสะดือ คือ การนำเครื่องประดับหลายรูปทรงมาเจาะเข้าผิวหนังบริเวณสะดือ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเจาะเพียงไม่กี่นาที แต่อาจต้องใช้เวลานานในการรักษาแผลบริเวณที่เจาะให้หายดี ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

    ความปลอดภัยของการเจาะสะดือ

    ก่อนตัดสินใจเจาะสะดืออาจจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการเจาะ

    • พิจารณาร้านและช่างเจาะที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานความสะอาด โดยอาจตรวจเช็คใบอนุญาตและประสบการณ์ของช่างเจาะ
    • ตรวจสอบเข็มเจาะว่าสะอาดหรือไม่ เข็มควรอยู่ในถุงที่ปิดสนิท ปลอดเชื้อ และควรเป็นเข็มที่ใช้แล้วทิ้ง
    • เลือกเครื่องประดับให้เหมาะสม  ควรทำจากวัสดุที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ เช่น ทองคำ 14 หรือ 18K ไทเทเนียม (Titanium) ไนโอเบียม (Niobium) สแตนเลสเกรดเครื่องมือแพทย์ (Surgical Steel) ทองคำขาว (Platinum) วัสดุชนิดแก้ว เช่น แก้วควอตซ์ผสม (Fused quartz glass) แก้วบอโรซิลิเกตไร้สารตะกั่ว (Lead-free borosilicate) แก้วโซดาไลม์ไร้สารตะกั่ว (Lead-free soda-lime glass) พลาสติกยืดหยุ่นไบโอเฟล็กซ์ (Bioflex) นอกจากนั้น ควรเลือกเครื่องประดับที่มันเงา ไม่เป็นสนิม ไม่มีรอยบุบ รอยขีดข่วน หรือขอบที่ขรุขระ หลีกเลี่ยงโลหะผสมนิกเกิลและทองเหลือง เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดอาการแพ้

    ความเสี่ยงของการเจาะสะดือ

    หลังจากการเจาะสะดือจำเป็นต้องดูแลแผลและรักษาความสะอาดเป็นประจำ เนื่องจากการเจาะสะดืออาจเพิ่มความเสี่ยง ดังนี้

    • การติดเชื้อ การเจาะสะดือมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อมากกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เนื่องจากรูปร่างของสะดือที่มีลักษณะบุ๋มลึก อาจเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียได้ง่าย และหากเข็มเจาะไม่ผ่านการฆ่าเชื้อก็อาจมีโอกาสที่จะติดเชื้อที่รุนแรงจนก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคตับอักเสบ โรคบาดทะยัก
    • แผลฉีกขาด หากเครื่องประดับที่ใช้เจาะสะดือเกี่ยวกับกับสิ่งของ เสื้อผ้า อาจทำให้ผิวบริเวณสะดือฉีกขาดได้ง่าย
    • ปฏิกิริยาการแพ้ มักเกิดจากสารนิกเกิล (Nickel) ที่อยู่ในเครื่องประดับ ที่เป็นสาเหตุของผื่นแพ้สัมผัส อาจทำให้มีอาการบวมแดง ตุ่มน้ำ อาการแสบ และคัน
    • รอยแผลเป็น การเจาะสะดืออาจทำให้เกิดแผลเป็นหนาและเป็นก้อน หรือที่เรียกว่า คีลอยด์ (Keloids) โดยอาจก่อตัวขึ้นรอบ ๆ บริเวณที่เจาะ ซึ่งควรไปพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาด้วยวิธีการฉีดยาสเตียรอยด์ ลดการอักเสบของการเกิดเป็นแผลเป็นที่นูนเกินไป หรือการผ่าตัดเพื่อลดขนาดหรือตัดแผลเป็นนูนออก
    • เครื่องประดับเคลื่อนหลุดออกจากสะดือ ความเสี่ยงนี้อาจเกิดขึ้นได้หากเจาะผิดตำแหน่ง หากเครื่องประดับมีขนาดเล็กเกินไป หรือมีคุณภาพต่ำ อาจทำให้ร่างกายปฏิเสธเครื่องประดับและดันออกมานอกร่างกาย หากสังเกตเห็นว่าเครื่องประดับกำลังจะหลุดให้ถอดเครื่องประดับออกแล้วปล่อยให้แผลหาย แต่หากสังเกตเห็นอาการติดเชื้อ บวม แดง เจ็บปวด ควรพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา ในบางคนการปฏิเสธอุปกรณ์เจาะอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง ให้ลองใช้วัสดุเครื่องประดับประเภทอื่น เช่น ไนโอเบียม ไททาเนียม แทนสแตนเลส หรือเลือกเครื่องประดับที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

    หากต้องการให้รอยเจาะคงอยู่เป็นระยะเวลานาน ควรใส่เครื่องประดับไว้ตลอดเวลาจนกว่าแผลจะหายสนิท อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับร่างกายของบุคคลและการดูแลแผล หากแผลหายสนิทดีสามารถถอดเครื่องประดับออกมาทำความสะอาด หรือเปลี่ยนแบบใหม่ได้ แต่ไม่ควรปล่อยรอยเจาะทิ้งไว้เป็นเวลานานโดยไม่ใส่เครื่องประดับ เพราะรอยเจาะอาจสมานตัวได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ และอาจทำให้ตันได้

    การดูแลหลังการเจาะสะดือ

    การเจาะสะดืออาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีกว่าแผลจะหายได้ จึงจำเป็นต้องดูแลแผลเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการติดเชื้อและปัญหาอื่น ๆ ดังนี้

    • ล้างมือให้สะอาด หลังจากการเจาะไม่ควรสัมผัสบริเวณแผลบ่อยครั้ง เพราะแผลอาจอักเสบและติดเชื้อจากการสัมผัสได้
    • เช็ดด้วยน้ำเกลือ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อทำความสะอาจและลดการสะสมของแบคทีเรีย โดยการเช็ดบริเวณที่เจาะด้วยผ้าก๊อซสะอาดหรือสำลีชุบน้ำเกลือ หรืออาจใช้สบู่สูตรอ่อนโยนไม่มีน้ำหอมเช็ดบริเวณแผล และล้างออกด้วยน้ำให้สะอาด
    • หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดมากเกินไป การทำความสะอาดบ่อยเกินไปอาจทำให้แผลสมานตัวช้าลงได้
    • หลีกเลี่ยงการแกะสะเก็ดแผล บริเวณที่เจาะอาจมีของเหลวสีเหลืองที่แข็งตัวเป็นก้อน ทำให้อาจมีอาการตึงและคัน ไม่ควรแกะหรือเกาเพราะอาจทำให้แผลฉีกหรือติดเชื้อได้
    • ไม่ควรทาผลิตภัณฑ์ใด ๆ บริเวณที่เจาะ เช่น โลชั่น น้ำมัน น้ำหอม ครีมต้านเชื้อแบคทีเรีย ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจชะลอการสมานตัวของแผล หรืออาจเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรียในสะดือได้ เว้นแต่จะเป็นยาที่สั่งโดยคุณหมอ
    • สวมเสื้อผ้าสะอาด หลวม และนุ่ม เพราะการใส่เสื้อผ้าคับ ผ้าหยาบอาจสร้างแรงเสียดสีกับสะดือ ซึ่งอาจทำให้แผลฉีกขาดหรือการสมานตัวของแผลช้าลง
    • ไม่ควรให้แผลโดนน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน แต่ถ้าหากแผลโดนน้ำ ควรซับแผลให้แห้งด้วยผ้าก๊อซหรือสำลีสะอาด หรือหากเป็นน้ำสกปรกให้เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อหรือล้างแผลด้วยสบู่อ่อนโยน จากนั้นซับแผลให้แห้งสนิท
    • หลีกเลี่ยงเครื่องประดับที่มีลักษณะห้อยเป็นระย้า เพราะเครื่องประดับเหล่านี้อาจไปเกี่ยวกับสิ่งของหรือเสื้อผ้า อาจทำให้แผลฉีกขาดได้
    • สังเกตอาการติดเชื้อ เช่น รอยแดง บวม หนอง อาการเจ็บปวด มีไข้ เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรพบคุณหมอทันที

    ใครไม่ควรเจาะสะดือ

    ปัญหาสุขภาพบางประการอาจทำให้แผลหายช้า หรืออาจทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้เมื่อเจาะสะดือ ดังนี้

    • โรคเบาหวาน อาจทำให้แผลหายช้าและติดเชื้อได้ง่าย
    • โรคฮีโมฟีเลีย คือ ความผิดปกติเกี่ยวกับอาการเลือดออกที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งทำให้เลือดไม่สามารถแข็งตัว
    • โรคภูมิแพ้ตัวเอง อาจเสี่ยงแพ้สารนิกเกิลในเครื่องประดับ
    • ปัญหาหัวใจ อาจมีผลต่อการสมานตัวของแผล
    • ปัญหาผิวหนังบริเวณสะดือ เช่น แผลเปิด ผื่น ไฝ
    • การตั้งครรภ์หรือน้ำหนักเกิน อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เครื่องประดับเคลื่อนตัวจนเกิดแผลได้

    เมื่อไหร่ควรรีบพบคุณหมอ

    หลังจากการเจาะภายใน 24 ชั่วโมง หากมีอาการเจ็บปวด บวมแดงรุนแรงขึ้น หรือการติดเชื้อกระจายไปยังส่วนอื่น หรือมีปัญหาสุขภาพเหล่านี้ควรรีบเข้าพบคุณหมอ

    • มีไข้ บริเวณที่เจาะเจ็บปวดมาก บาดแผลกว้าง
    • หลังจากการเจาะสะดือมีกลิ่นเหม็น
    • บริเวณที่เจาะมีสีแดง อุ่น หรือมีริ้วสีแดงบนผิวหนัง
    • อาการติดเชื้อรุนแรงขึ้น หรืออาการแพ้ไม่หายไปหลังจากเจาะประมาณ 2-3 วัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด ตอนนี้

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา