backup og meta

วิตามินซี ทาหน้า ใช้อย่างไรให้เห็นผล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 20/05/2022

    วิตามินซี ทาหน้า ใช้อย่างไรให้เห็นผล

    วิตามินซี เป็นสารที่นำมาใช้ในด้านความงามและทั่วโลกค่อนข้างยอมรับถึงประสิทธิภาพต่อการบำรุงและฟื้นฟูผิวพรรณ โดยเฉพาะวิตามินซี ทาหน้า ซึ่งมีให้เลือกมากมายในท้องตลาด ทั้งนี้ ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของวิตามินซี รวมทั้งวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ผสมวิตามินซีที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพผิว เพื่อที่จะได้เห็นผลลัพธ์จากการใช้วิตามินซีดีขึ้น

    ประเภทของ วิตามินซี ทาหน้า

    วิตามินซี ทาหน้า มีหลายประเภท ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพผิวหน้าและปัญหาที่ต้องการแก้ไข เพื่อที่จะเลือกใช้ได้อย่างตรงจุดและเห็นผลดีขึ้น

  • แอสคอร์บิก แอซิด (Ascorbic Acid) เป็นวิตามินซีที่มีประสิทธิภาพดีมาก แต่มีความเสถียรต่ำ และมีการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วเมื่อได้รับการกระตุ้นจากแสง ออกซิเจน และน้ำ 
  • อนุพันธ์ของวิตามินซี (Vitamin C Derivatives) เป็นวิตามินซีที่ผ่านการทดสอบแล้วว่า มีความเสถียรของผลิตภัณฑ์มากกว่าวิตามินซีแบบแอสคอร์บิก แอซิด และมีอัตราที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่ำกว่า เป็นมิตรกับผิวมากกว่า อนุพันธ์วิตามินซีมีอยู่หลากหลายชนิด เช่น แมกนีเซียม  แอสคอร์บิล ทู ฟอสเฟต (Magnesium Ascorbyl-2-Phosphate) หรือ แอสคอร์บิล แอซิด ทู กลูโคไซด์ (Ascorbic Acid-2-Glucoside)
  • ผลลัพธ์ของวิตามินซี ทาหน้า

    หากเลือกใช้วิตามินซี ทาหน้า ได้เหมาะสม จะยิ่งให้ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้น เพราะวิตามินซีมีคุณสมบัติที่ดีต่อผิวพรรณหลายประการ  ดังนี้

    • สร้างเซลล์ผิวใหม่ ชะลอการเกิดริ้วรอย วิตามินซีออกฤทธิ์ในการช่วยเสริมสร้างเซลล์ผิวใหม่ เพื่อทดแทนเซลล์ผิวเก่าที่ตายหรือโดนทำร้าย ซึ่งกระบวนการสร้างเซลล์ผิวใหม่นี้ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัย รวมไปถึงช่วยให้ริ้วรอยแห่งวัยดูดีขึ้นในระดับหนึ่ง 
    • ต้านเมลานิน วิตามินซีอาจมีส่วนช่วยในต้านการผลิตเม็ดสีหรือเมลานิน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผิวหน้าหมองคล้ำ เกิดฝ้า กระ จุดด่างดำ จากการสร้างเมลานินที่มากเกินไป 
    • เร่งกระบวนการรักษาแผล วิตามินซีสามารถช่วยเร่งกระบวนการรักษาแผล โดยเฉพาะแผลไฟไหม้ที่เกิดจากน้ำร้อนลวกให้สภาพผิวดีขึ้นได้เป็นอย่างดี 
    • กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน วิตามินซีช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ชั้นผิวได้ ซึ่งคอลลาเจนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผิวหน้ามีความยืดหยุ่น นุ่มฟู ดูเป็นผิวที่มีสุขภาพดี เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น การผลิตคอลลาเจนของร่างกายจะลดลง ดังนั้น การเติมสารอย่างวิตามินซีที่ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนจะยิ่งดีต่อสุขภาพผิว
    • ปกป้องผิวที่ถูกทำร้ายด้วยแสงยูวี วิตามินซีมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องเซลล์ผิวจากความเสียหายได้ และช่วยปกป้องผิวจากการถูกทำร้ายด้วยแสงแดดได้

    ความเข้มข้นของวิตามินซีระดับใดที่ได้ผล

    ความเข้มข้นของวิตามินซี มีผลต่อการออกทธิ์บนผิว โดยความเข้มข้นของวิตามินซี ที่ทำให้เห็นผลชัดเจนต่อผิวพรรณ อยู่ที่ประมาณ 5 – 20 เปอร์เซ็นต์ หากใช้ผลิตภัณพ์ที่มีส่วนผสมของวิตามินซีต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ อาจไม่สามารถเห็นผลได้ทันที

    แต่ในขณะเดียวกัน หากใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามินซีเข้มข้นมากว่า 20 เปอร์เซ็นต์ อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวได้ง่าย ดังนั้น ก่อนเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามินซีควรอ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด เพื่อตรวจสอบดูว่ามีส่วนผสมของวิตามินซีมากพอที่จะได้ผลหรือใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือมีมากเกินไปจนอาจทำให้เกิดระคายเคืองได้

    รูปแบบของวิตามินซีที่ใช่

    ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีส่วนผสมของวิตามินซีนั้นมีหลายรูปแบบ โดยสามารถแบ่งรูปแบบของวิตามินซีออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ แบบครีม แบบเซรั่ม/ซีรั่ม และ แบบผง ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีลักษณะการใช้งาน ข้อบ่งใช้ และประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน ดังนี้

    • รูปแบบเซรั่ม/ซีรั่ม เป็นการผสมวิตามินซีทั้งรูปแบบแอสคอร์บิก แอซิด และอนุพันธุ์ของวิตามินซีรูปแบบอื่น ๆ ร่วมกับสารละลายหรือสารออกฤทธิ์อื่น อยู่ในรูปแบบของเหลวที่มีลักษณะไม่ข้นมาก ออกฤทธิ์ได้ในระดับดี และมีความเสถียรของผลิตภัณฑ์ค่อนข้างมาก จึงสามารถเก็บรักษาได้ในระยะยาวกว่า
    • รูปแบบครีม เป็นการผสมวิตามินซีทั้งรูปแบบแอสคอร์บิก แอซิด และอนุพันธุ์ของวิตามินซีรูปแบบอื่น ๆ ร่วมกับสารละลาย สารออกฤทธิ์ หรือสารให้ความชุ่มชื้นอื่น ในลักษณะของเหลวที่มีลักษณะข้นหนืดมากกว่าเซรั่ม/ซีรั่ม เน้นหนักไปในด้านให้ความชุ่มชื้น 
    • รูปแบบผง เป็นรูปแบบล่าสุดของวิตามินซี แบบแอสคอร์บิก แอซิด ซึ่งกำลังได้รับความนิยม เพราะบริษัทเครื่องสำอางอ้างว่า จะมีประสิทธิภาพดีกว่า เพราะมีความเสถียรกว่า และมีโอกาสโดนแสงที่ทำให้เสื่อมประสิทธิภาพลงได้น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความจริงที่ว่า การที่วิตามินซีจะซึมซาบลงสู่ผิวได้ดีนั้น ต้องอาศัย “พาหนะ” ในการนำพาให้วิตามินซีซึมซาบลงสู่ผิว การผสมวิตามินซีกับส่วนผสมอื่นที่เหมาะสมจึงเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะบ่งบอกได้ว่าวิตามินซีจะทำงานได้ผลหรือเปล่า โดยผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังมักแนะนำให้ผสมวิตามินซีแบบผง กับซีรั่มที่ใช้เป็นปกติ เพื่อช่วยในการซึมซาบเข้าสู่ผิว นอกจากนั้น ปริมาณที่ใช้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรเลือกวิตามินซีผงที่แบ่งเป็นโดสสำหรับใช้ในหนึ่งวัน แทนการซื้อเป็นจำนวนมาก แล้วตักแบ่งใช้เอง เพราะอาจเสี่ยงต่อการใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจสร้างความระคายเคืองผิวได้

    ค่า pH ของวิตามินซี สำคัญอย่างไร

    โดยปกติแล้วการที่วิตามินซีจะสามารถซึมซาบลงสู่ผิวได้ดี ต้องมีค่าพีเอช (pH) ที่ค่อนข้างเป็นกรด (ราว 3.5) แต่ก็เป็นค่าพีเอชที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ผิวบอบบางแพ้ง่าย อาจเกิดอาการ คัน แสบ แดง หรือเป็นผื่น จึงมีการคิดค้นอนุพันธ์ของวิตามินซี เพื่อเพิ่มความเสถียรและลดความเป็นกรด

    วิตามินซีที่มีค่า pH อยู่ที่ราว 4.5 – 5.5 จะอ่อนโยนแต่ผิวมากกว่า แต่ก็อาจจะให้ประสิทธิภาพน้อยกว่าเช่นกัน ดังนั้น ควรเลือกรูปแบบของวิตามินซีที่มีค่า pH ที่เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองจะดีที่สุด ซึ่งควรจะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนัง ก่อนการเลือกใช้วิตามินซีทาหน้า

    บรรจุภัณฑ์ของวิตามินซี เลือกอย่างไร

    การสังเกตการเสื่อมสภาพของวิตามินซีสามารถทำได้จากการสังเกตสีเนื้อผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนไป  โดยการเสื่อมสภาพของวิตามินซีเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากแสงแดด อากาศ และระยะเวลา ทำให้วิตามินซีเสื่อมสภาพได้ค่อนข้างง่าย โดยวิตามินซีเสื่อมสภาพมักมีสีเปลี่ยนไปคือเริ่มเข้มขึ้น จากสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม

    จึงควรเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ปกป้องวิตามินซีภายในเอาไว้ให้ได้มากที่สุด โดยควรเป็นบรรจุภัณฑ์แบบทึบแสง หรือหลอดอะลูมิเนียมแบบเดียวกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมยา ส่วนลักษณะของบรรจุภัณฑ์ควรเป็นในรูปแบบหลอดหรือขวดปั๊ม เพื่อช่วยให้เนื้อผลิตภัณฑ์สัมผัสกับอากาศน้อยที่สุด และคงประสิทธิภาพไว้ได้ยาวนานยิ่งขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 20/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา