backup og meta

5 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการ เล่นกล้าม ที่เราควรทำความเข้าใจเสียใหม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 30/10/2020

    5 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการ เล่นกล้าม ที่เราควรทำความเข้าใจเสียใหม่

    การเล่นเวท ยกน้ำหนัก ฝึกฝนกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อในจุดที่ต้องการนั้นกระชับสวย ดูแข็งแรง กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ๆ แต่ก็ยังคงมีความเชื่อผิด ๆ บางอย่างเกี่ยวกับการเล่นกล้าม ที่แม้แต่ผู้ที่เล่นกล้ามมาเป็นเวลานานแล้วก็อาจจะยังไม่ทราบได้ วันนี้ Hello คุณหมอ จะมานำเสนอเกี่ยวกับ ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการเล่นกล้าม ให้เราได้ทำความเข้าใจกันเสียใหม่ค่ะ

    ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการเล่นกล้าม ที่ควรรู้

    ความเชื่อที่ 1 อยากเล่นกล้าม ต้องไปที่ยิมเท่านั้น เพราะว่าใช้อุปกรณ์เยอะ

    บางคนที่อยากจะเริ่มต้นเล่นกล้าม อาจจะรู้สึกเป็นกังวล เกี่ยวกับการเตรียมอุปกรณ์สำหรับการฝึกกล้ามเนื้อ เพราะคิดว่าคงจะต้องใช้อุปกรณ์เยอะ และควรจะไปเล่นที่ยิมจะดีกว่า แต่จริง ๆ แล้ว คุณสามารถเริ่มฝึกกล้ามเนื้อได้อย่างง่าย ๆ โดยใช้อุปกรณ์เพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น เช่น ยางยืดต้านแรง หรือลูกบอลออกกำลังกาย ก็เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ช่วยในการฝึกกล้ามเนื้อ ที่ไม่กินที่มาก และสามารถหาซื้อได้ง่าย ตามร้านขายอุปกรณ์กีฬาทั่วไป ขอเพียงแค่คุณออกกำลังกายด้วยท่าที่เหมาะสมกับอุปกรณ์เหล่านั้น คุณก็จะสามารถเพาะกล้ามได้เองที่บ้าน โดยไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์มากมายเลย

    ความเชื่อที่ 2 การเล่นกล้ามเหมาะแค่กับคนหนุ่มสาวเท่านั้น

    หลายคนจะติดภาพจำว่า คนที่เล่นกล้ามนั้นมีแต่คนวัยหนุ่มสาว ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ เพราะต้องออกแรงหนัก เสี่ยงอันตราย แต่ความจริงแล้ว การฝึกกล้ามเนื้ออย่างการเล่นกล้ามนี้เหมาะสมกับคนทุกวัย แม้แต่กับผู้สูงอายุ แถมการเล่นกล้ามนั้นยังมีประโยชน์กับผู้สูงอายุอีกด้วย เพราะสามารถช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ และช่วยลดการสูญเสียความหนาแน่นของกระดูก แถมยังช่วยเพิ่มความมั่นในในตัวเอง เรียกได้ว่าดีต่อทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตเลยค่ะ

    ความเชื่อที่ 3 การเล่นกล้ามไม่เหมาะกับผู้หญิง

    หนึ่งในความเชื่อผิด ๆ ที่เราอาจจะเคยได้ยินกันมานาน ก็คือความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงไม่ควรเล่นกล้าม เพราะจะทำให้แขนขาใหญ่ ดูน่าเกลียด แถมผู้หญิงยังมีแรงน้อย ไม่เหมาะกับการเล่นกล้ามที่ต้องใช้แรงมาก

    แต่จริง ๆ แล้ว การเล่นกล้ามนั้นมีประโยชน์ต่อทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน เพราะการล่นกล้ามสามารถช่วยฝึกกล้ามเนื้อ ให้มีความแข็งแรง กระชับ แถมยังช่วยเผาผลาญไขมันส่วนเกิน ทำให้รูปร่างของคุณดูสมส่วนและกระชับมากขึ้น และการมีแขนขาใหญ่เพราะกล้ามเนื้อนั้นก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายและเล่นกล้าม ซึ่งหากคุณมีความกังวลเกี่ยวกับขนาดของกล้าม ก็มีวิธีในการฝึกกล้ามเนื้อแบบอื่น ๆ ที่จะไม่ทำให้กล้ามมีขนาดใหญ่มากเกินไป ขอเพียงแค่เล่นกล้ามได้อยากถูกต้อง และตรงตามที่คุณต้องการก็พอ

    ความเชื่อที่ 4 หากอยากจะลดขนาดกล้าม ให้ใช้หนัก “น้ำหนักเบา จำนวนครั้งเยอะ”

    แม้ว่าจะเล่นกล้าม แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะอยากได้กล้ามใหญ่ ๆ เสมอไป บางคนอาจจะอยากเพียงแค่กระชับกล้ามเนื้อ ให้มีขนาดเล็ก ไม่หย่อนคล้อย เลยเลือกที่จะใช้วิธีการยกน้ำหนักโดยใช้หลัก “น้ำหนักน้อย จำนวนครั้งเยอะ” หมายถึงการยกน้ำหนักโดยใช้ดัมเบลล์ขนาดเล็ก น้ำหนักระหว่าง 2-5 กิโลกรัม แทนการยกน้ำหนักด้วยเครื่องยกน้ำหนักขนาดใหญ่ ที่เรามักจะเห็นได้ในยิม และเน้นที่ความถี่ในการยกน้ำหนักให้บ่อยครั้ง เพราะเชื่อว่าการทำแบบนี้จะไม่ทำให้กล้ามใหญ่ แถมยังช่วยเผาผลาญไขมันได้มากกว่าอีกด้วย

    ในความเป็นจริงนั้น การยกน้ำหนักด้วยวิธีการนี้ ไม่ได้ช่วยเพิ่มการเผาผลาญมากกว่าปกติ แถมไม่สามารถช่วยลดขนาดของกล้ามเนื้อได้ แต่ที่บางคนอาจจะสังเกตเห็นว่ากล้ามเล็กลง นั่นเป็นเพราะว่าร่างกายสูญเสียไขมันจากการเผาผลาญพลังงานออกไปมาก จนทำให้บางส่วนดูมีขนาดเล็กลงนั่นเอง

    ความเชื่อที่ 5 การเล่นกล้ามนั้นอันตราย

    หลายคนอาจจะมีความกังวลเกี่ยวกับการเล่นกล้ามว่า เป็นการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงหนัก แถมเวลายกน้ำหนักก็มีความเสี่ยง กลัวว่าจะเกิดอาการเอวเคล็ด กล้ามเนื้อฉีก หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แต่ความจริงแล้ว การเล่นกล้ามนั้นเป็นการออกกำลังกายที่ปลอดภัย หากปฏิบัติอย่างถูกต้องและเหมาะสม เช่นเดียวกับการออกกำลังกายประเภทอื่น ๆ การออกกำลังกายไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็ตาม หากปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง ก็ล้วนแต่จะมีความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บด้วยกันทั้งสิ้น

    สิ่งที่สำคัญคือคุณจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่คุณทำ และควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น เทรนเนอร์ประจำตัว เพื่อให้มั่นใจว่าคุณฝึกกล้ามเนื้อได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับร่างกายของคุณ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 30/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา