backup og meta

ขันทิเบต (Tibetan Singing Bowl) คลื่นเสียงบำบัด เพื่อการผ่อนคลายจิตใจ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 07/12/2020

    ขันทิเบต (Tibetan Singing Bowl) คลื่นเสียงบำบัด เพื่อการผ่อนคลายจิตใจ

    การใช้คลื่นเสียงบำบัด เป็นศาสตร์การแพทย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมกันมาอย่างยาวนาน เพื่อเชื่อกันว่าคลื่นเสียงเหล่านี้จะสามารถช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายและสงบได้มากขึ้น วันนี้ Hello คุณหมอ เลยนำเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ขันทิเบต หนึ่งในอุปกรณ์สำหรับการทำคลื่นเสียงบำบัด มาฝากทุกคนกันค่ะ

    ขันทิเบต คืออะไร

    ขันทิเบต (Tibetan Singing Bowls) หมายถึงขันที่ทำขึ้นจากเหล็กผสมทองเหลือง มีเสียงก้องกังวาล เมื่อใช้ไม้ถูวนรอบ ๆ เป็นขันที่พระสงฆ์ในทิเบตใช้เพื่อทำสมาธิประกอบพิธีการสวดมนต์ เพราะเชื่อว่าคลื่นเสียงของขันทิเบตนี้จะช่วยทำให้ผู้ฟังรู้สึกสงบใจได้เร็วขึ้น

    ในปัจจุบันขันทิเบตได้ถูกนำมาใช้ในแพทย์ทางเลือก อย่าง คลื่นเสียงบำบัดจากขันทิเบต (Singing Bowl Therapy) เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น

    • ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
    • ช่วยบรรเทาอาการปวด
    • ช่วยในการนอนหลับ
    • ช่วยบรรเทาความรู้สึกโศกเศร้า
    • ช่วยปรับอารมณ์ ทำให้รู้สึกสงบ
    • ช่วยปรับจังหวะการหายใจ
    • ช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้น

    การใช้เสียงบำบัดนั้นเป็นการแพทย์ทางเลือกที่มีมาตั้งแต่โบราณ และใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในพิธีกรรมทางศาสนา หรืองานประเพณีต่าง ๆ นอกจากนี้ยังอาจนำมาใช้ร่วมกับการออกกำลังกายบางชนิด เช่น การใช้ขันทิเบตเพื่อช่วยกำหนดลมหายใจในระหว่างการเล่นโยคะ เป็นต้น

    งานวิจัยพบอะไรเกี่ยวกับการใช้ขันทิเบต

    แม้ว่าจะมีการใช้ขันทิเบตกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่โบราณ แต่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลทางวิทยาศาสตร์ของการใช้ขันทิเบตนั้นยังคงมีค่อนข้างน้อย

    มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Research in Complementary Medicine จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มีปัญหาเกี่ยวกับอาการปวดเรื้อรังเนื่องจากกระดูกสันหลังกว่า 54 ราย โดยได้แบ่งกลุ่มตัวอย่าง ให้กลุ่มหนึ่งเข้ารับการทำคลื่นบำบัดโดยใช้ขันทิเบต กลุ่มหนึ่งทำการรักษาด้วยยาหลอก และอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับการรักษาใด ๆ เลย

    งานวิจัยนั้นพบว่า กลุ่มที่เข้ารับการรักษาด้วยการใช้ขันทิเบตนั้น รู้สึกว่าอาการปวดของตัวเองลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาใด ๆ เลย แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ทำการรักษาด้วยยาหลอกนั้นก็ได้ผลคล้ายคลึงกับกลุ่มที่ทำการรักษาด้วยขันทิเบตเช่นกัน จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการใช้ขันทิเบตนั้นสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้จริงหรือไม่

    นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัย ที่ได้ทำการศึกษาผลของการใช้ขันทิเบตเพื่อช่วยบรรเทาความวิตกกังวล ช่วยปรับอารมณ์ และช่วยบรรเทาอาการปวดทางกาย ผลการวิจัยนั้นพบว่า การใช้ขันทิเบตอาจสามารถช่วยทำให้กลุ่มผู้ทดลองมีอารมณ์ที่ดีขึ้น และมีความรู้สึกโดยรวมดีขึ้นได้ แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อศึกษาเกี่ยวกับผลของการใช้ขันทิเบตให้ลึกยิ่งขึ้น

    ข้อควรคำนึงในการใช้ขันทิเบต

    แม้ว่าในปัจจุบันอาจจะยังไม่มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายของการใช้ขันทิเบตอย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีปัจจัยบางอย่างที่เราควรคำนึงก่อนการตัดสินใจเลือกใช้ขันทิเบต นั่นก็คือ

    ไม่ควรใช้เพื่อรักษาโรค

    การใช้ขันทิเบตเพื่อหวังผลในการช่วยสงบจิตใจนั้นอาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากคุณคาดหวังผลในการรักษา เช่น ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด หรือช่วยบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ การใช้ขันทิเบตอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะในปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่า การใช้ขันทิเบตนั้นสามารถช่วยบรรเทาอาการปวด หรือมีผลทางกายภาพได้จริงหรือไม่ หากคุณต้องการที่จะใช้บันทิเบตเพื่อการรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์และหาทางเลือกอื่นน่าจะดีกว่า

    อาจจะไม่เหมาะกับบางคน

    ใช่ว่าทุกคนจะสามารถใช้ขันทิเบตเพื่อช่วยให้รู้สึกสงบใจได้เสมอไป เพราะผลของคลื่นเสียงจากขันทิเบต อาจส่งผลแตกต่างกันออกไปตามแต่ละคน บางคนที่ได้ยินเสียงจากขันทิเบต อาจจะรู้สึกรำคาญ หงุดหงิด อารมณ์ฉุนเฉียว หรืออาจทำให้ปวดหัวได้เมื่อฟังไปนาน ๆ หากคุณลองใช้ขันทิเบตดูแล้วพบว่าไม่ชอบ หรือรู้สึกแย่มากกว่าเดิม ควรหลีกเลี่ยงการใช้ขันทิเบตจะดีกว่า

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 07/12/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา