backup og meta

ยาแคปซูล VS ยาเม็ด มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 11/11/2020

    ยาแคปซูล VS ยาเม็ด มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร 

    หลายคนคงสงสัยว่าทำไมยาบางชนิดจึงมีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะ ยาแคปซูล และ ยาเม็ด แบบธรรมดาที่ไม่มีเปลือกหุ้ม ซึ่งเป็นยาที่ค่อนข้างพบเห็นบ่อยมากที่สุดแทบทุกครั้งที่มีการซื้อยา หรือตามใบสั่งยาจากแพทย์เลยก็ว่าได้ ดังนั้นบทความของ Hello คุณหมอวันนี้ จึงขอนำข้อแตกต่างของยาทั้ง 2 ชนิด มาฝากเป็นความรู้เล็กน้อยให้ทุกคนได้ทราบกันค่ะ

    ยาแคปซูล และ ยาเม็ด แตกต่างกันอย่างไร

    ถึงจะเป็นยาที่ใช้รับประทานเหมือนกัน แต่ก็อาจมีลักษณะที่แตกต่างกัน รวมถึงข้อดี-ข้อเสียบางประการที่ต่างกันอยู่เล็กน้อย ดังต่อไปนี้

    1. ยาแคปซูล (Capsule)

    ยาแคปซูล-ยาเม็ด-ข้อดีและข้อเสีย

    ยาแคปซูล เป็นยาที่มีเปลือกภายนอกห่อหุ้มผงยา หรือตัวยาเอาไว้ภายใน ด้วยวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ในกระเพาะอาหาร ซึ่งแบ่งออกได้อีกเป็นสองประเภทหลัก ๆ นั่นก็คือ แคปซูลปลอกแข็ง (Hard-shelled capsules) และ แคปซูลปลอกนิ่ม (Soft-gel capsules) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า แคปซูลเจล

    โดยความแตกต่างกันอยู่ที่ยาชนิดแคปซูลปลอกแข็งมักมีปลอก 2 ด้านที่บรรจบกัน เพื่อบรรจุผงยาภายใน แต่ส่วนแบบแคปซูลปลอกนิ่มอย่างแคปซูลเจลนั้น จะค่อนข้างมีปลอกหุ้มยาที่มีความโปร่งแสง และบรรจุยาที่เป็นลักษณะของเหลวอยู่ภายในเสียมากกว่า

    ข้อดี

    การทานยาชนิดแคปซูลอาจทำให้ตัวยาภายในนั้นมีการแตกตัวเพื่อไปบรรเทาอาการที่คุณประสบได้รวดเร็ว อีกทั้งรสสัมผัสแรกที่นำเข้าปากนั้นเป็นรสจืด ไม่มีรสขมเหมือนยาเม็ด และยังมีแนวโน้มที่จะทำให้ร่างกายของเราดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือดได้ไวยิ่งขึ้น

    ข้อเสีย

    ยาชนิดแคปซูลอาจมีการบรรจุตัวยาภายในได้ปริมาณที่น้อยกว่าการอัดแน่นของยาเม็ด พร้อมทั้งมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างสั้น ส่งผลให้คุณนั้นเก็บไว้รับประทานได้ไม่นานมากนัก และสามารถเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อสภาพอากาศชื้นได้ค่อนข้างไว จึงอาจทำให้ยาเสื่อมสภาพได้ไวกว่าเดิม

    2. ยาเม็ด (Tablets)

    ยาแคปซูล-ยาเม็ด-ข้อดีและข้อเสีย

    ยาเม็ด เป็นยาอีกชนิดที่ค่อนข้างพบได้บ่อยตามร้านขายยาทั่วไป หรือตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งยาเม็ดประกอบด้วนผงยาที่นำไปผ่านกระบวนการบีบอัดให้แน่นจนเกิดเป็นเม็ดขึ้นโดยไม่มีปลอก หรือซอฟต์เจลห่อหุ้มเหมือนแคปซูล อีกทั้งยังมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของขนาด รูปทรง เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม เป็นต้น

    ข้อดี

    อย่างแรกคงต้องเป็นเรื่องของราคาที่ไม่แพงมากนักเพราะมีต้นทุนในการผลิตน้อย และสามารถรองรับปริมาณของยาได้มากขึ้น พร้อมทั้งมีอายุการใช้งานได้นานกว่าแคปซูลเมื่อคุณเก็บรักษาอย่างถูกวิธี

    นอกจากนี้หากคุณรู้สึกว่าเม็ดยามีขนาดที่ใหญ่จนเกินไปจนส่งผลให้คุณรับประทานได้ยากลำบาก คุณสามารถมีการตัดแบ่งเพื่อให้ตนเองทานยาได้ง่ายขึ้นได้ แต่ควรเป็นกรณีที่ทำการปรึกษาแพทย์ และแพทย์อนุญาติแต่เพียงเท่านั้น

    ข้อเสีย

    ยาเม็ดที่รักษาสภาวะโรคบางชนิดอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองแก่ลำคอ เนื่องจากขนาดเม็ด และรสสัมผัสแรกที่ค่อนข้างขม อีกทั้งยาเม็ดมีการแตกตัวของยาได้ช้ากว่าชนิดแคปซูล จึงอาจส่งผลให้ร่างกายมีการดูดซึมยาที่แตกตัวออกมาไม่สม่ำเสมอกัน ทำให้สิ่งที่คุณคาดหวังในการบรรเทาอาการอาจไม่มีประสิทธิภาพได้ดีเท่าที่ควร หรือบรรเทาอาการได้ช้ากว่านั่นเอง

    เคล็ดลับวิธีเปลี่ยน การกินยายาก ให้ง่ายขึ้น

    เมื่อแพทย์ หรือเภสัชกรได้จัดยารักษาสภาวะโรคที่คุณประสบค่อนข้างขนาดใหญ่ให้ จนบางครั้งอาจทำให้คุณรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าสามารถจะกลืนลงลำคอไปได้ ซึ่งวิธีการง่าย ๆ ที่จะทำให้คุณทานยาไม่ว่าจะชนิดใดได้สะดวก และลื่นไหลมากขึ้นนั้น มีดังต่อไปนี้

    • ใส่เม็ดยาลงไปในอาหารที่สามารถช่วยให้คุณกลืนได้อย่างสะดวก
    • อมน้ำไว้ในปากจำนวนหนึ่ง และนำยาเข้าใส่ลงในปากของคุณจากนั้นให้กลืนลงไปพร้อมกันน้ำ
    • โน้มตัวลงไปข้างหน้าเล็กน้อยขณะกลืนยา
    • ดื่มน้ำจากขวดโดยปากขวดอาจจำเป็นต้องมีช่องดื่มที่แคบ ซึ่งเทคนิคนี้อาจขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล

    หากตัวยาชนิดใดที่มีตัวเลือกรูปแบบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แบบชงละลายน้ำ แบบน้ำ คุณอาจสามารถรับประทานยารูปแบบนี้ทดแทนได้ แต่ควรได้รับการอนุญาตจากแพทย์ หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน เพราะยาประเภทอื่น ๆ นั้นอาจมีข้อกำจัดทางด้านอายุ หรือปัญหาทางสุขภาพที่ไม่เหมาะสมในการรักษาต่อสภาวะโรคของคุณ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 11/11/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา