backup og meta

ไขข้อสงสัย อาหารกระป๋อง ไม่ดีต่อสุขภาพจริง ๆ หรือ?

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 17/12/2020

    ไขข้อสงสัย อาหารกระป๋อง ไม่ดีต่อสุขภาพจริง ๆ หรือ?

    ในปัจจุบัน การรับประทานอาหารที่บรรจุกระป๋องนั้น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่สามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ยังราคาถูก และสะดวกต่อการรับประทาน แต่อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คนอาจยังคงมีความกังวลว่า อาหารกระป๋องอาจจะไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งความจริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่ อาหารกระป๋อง ไม่ดีต่อสุขภาพจริงหรือ ลองมาหาคำตอบพร้อมกันกับ Hello คุณหมอ กันเลยค่ะ

    อาหารกระป๋อง คืออะไร

    อาหารกระป๋อง หมายถึงอาหารที่บรรจุภัณฑ์ลงในกระป๋อง เพื่อช่วยถนอมอาหาร และยืดอายุของอาหารนั้น ๆ ให้อยู่ได้นานขึ้น ในอดีตอาหารกระป๋องนั้นถูกพัฒนาขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องเสบียงอาหารของทหาร ในช่วงที่มีสงคราม เมื่อสมัยศตวรรษที่ 18 เนื่องจากอาหารกระป๋องนั้นจะอยู่ได้นานกว่าอาหารปกติอย่างน้อย 1-5 ปี

    กระบวนการในการผลิตอาหารกระป๋องนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไป แต่มักจะมีขั้นตอนหลักร่วมกันอยู่ 3 ประการ คือ

  • กระบวนการแปรรูป โดยนำอาหารมาผ่านการแปรรูป เช่น ปรุงอาหาร ปอกเปลือก แกะเมล็ด หรือผ่าเป็นชิ้น
  • กระบวนการปิดผนึก เพื่อซีลอาหารให้อยู่ในกระป๋องอย่างแน่นหนา ไม่ให้รั่วไหล
  • กระบวนการให้ความร้อน เป็นการใช้ความร้อนสูงเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อาจเป็นอันตรายหรือทำให้อาหารเน่าเสียออกไป ทำให้ช่วยยืดอายุของอาหารได้นานขึ้น
  • อาหารกระป๋องนั้นรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ทั้งปลากระป๋อง เนื้อกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป ตลอดไปจนถึงผักและผลไม้ต่าง ๆ ที่ผ่านการผ่าและปอกเปลือกมาเรียบร้อย พร้อมให้เรารับประทานได้ทันทีที่เปิดกระป๋อง

    อาหารกระป๋อง มีสารอาหารน้อยกว่าปกติ จริงหรือ

    หลายคนอาจจะเข้าใจว่า อาหารกระป๋องนั้นจะมีคุณค่าทางสารอาหารน้อยกว่า และมีความสดน้อยกว่าอาหารสดทั่ว ๆ ไป แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ใช่แบบนั้น

    มีงานวิจัยที่พบว่า สารอาหารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และพวกวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ จะไม่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการแปรรูปอาหารกระป๋องนั้น ในทางกลับกัน สารอาหารบางชนิด เช่น ไลโคปีน (Lycopene) ก็อาจจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเมื่อผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นอาหารกระป๋องนี้

    บางงานวิจัยถึงกับพบว่า อาหารกระป๋องนั้นอาจจะมีคุณค่าทางสารอาหารมากกว่าอาหารสดที่หาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาด เพราะอาหารกระป๋องนั้นจะถูกนำมาแปรรูปทันทีหลังจากเก็บเกี่ยว แต่อาหารที่ขายตามท้องตลาดอาจต้องใช้เวลาในการขนส่งนานหลายวัน และทำให้สูญเสียคุณค่าทางสารอาหารบางส่วนไปแล้ว

    อย่างไรก็ตาม สารอาหารบางอย่าง เช่น วิตามินซี และวิตามินบี ที่ไม่ทนต่อความร้อน อาจจะได้รับผลกระทบจากความร้อนในกระบวนการแปรรูป ทำให้เสียหายและสลายไปบางส่วนได้ แต่สารอาหารเหล่านั้นก็มักจะได้รับผลกระทบจากการปรุงอาหารตามปกติเช่นกัน

    ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับอาหารกระป๋อง

    อาจมีสารก่อมะเร็ง

    สาร BPA หรือสารบิสฟีนอล เอ (Bisphenol-A) คือสารเคมีที่นิยมใช้ในการบรรจุภัณฑ์อาหาร รวมไปจนถึงอาหารกระป๋อง ซึ่งมีงานวิจัยที่พบว่า สาร BPA นี้อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น

  • ปวดหัวไมเกรน
  • โรคหัวใจ
  • โรคเบาหวานประเภทที่ 2
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมะเร็งเต้านม
  • การรับประทานอาหารกระป๋องนั้น อาจทำให้เราได้รับสาร BPA เข้าสู่ร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเหล่านี้ได้

    เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย

    อาหารกระป๋องที่ไม่ได้มาตรฐานในการผลิต อาจทำให้มีปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียอันตราย ที่อาจนำไปสู่โรคโบทูลิซึม (Botulism) ที่ทำให้เกิดอาการอัมพาต และอาจทำให้เสียชีวิตได้

    อาหารกระป๋องอาจจะมีสารปรุงแต่งมากเกินไป

    พวกอาหารแปรรูปอย่างอาหารกระป๋องนั้น มักจะมีการใส่สารปรุงแต่ง เช่น เกลือ น้ำตาล หรือสารกันบูด เพิ่มเข้าไปในระหว่างกระบวนการแปรรูป ซึ่งการรับประทานอาหารที่ใส่สารปรุงแต่งเหล่านี้ในปริมาณมาก ก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไต หรือโรคหัวใจได้

    จึงอาจสรุปได้ว่า แม้ว่าอาหารกระป๋องนั้นอาจจะมีคุณค่าทางสารอาหารมากกว่าอาหารสดตามปกติ แต่การรับประทานอาหารกระป๋องก็ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ คุณจึงควรเลือกรับประทานอาหารกระป๋องที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพดี และมีปริมาณของสารปรุงแต่งน้อย หรือทางที่ดีที่สุดจึงควรเลือกอาหารปรุงสุกสดใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัย และไร้สารปนเปื้อนที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณจะดีกว่าค่ะ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 17/12/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา