backup og meta

การศัลยกรรมลดขนาดเต้านม สำหรับผู้ที่มีหน้าอกใหญ่เกินไป

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 17/03/2023

    การศัลยกรรมลดขนาดเต้านม สำหรับผู้ที่มีหน้าอกใหญ่เกินไป

    การศัลยกรรมลดขนาดเต้านม (Breast reduction surgery) เป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่จะช่วยลดขนาดเต้านมและปรับรูปร่างของเต้านมให้สอดคล้องกับรูปร่างของร่างกายของผู้หญิง นอกจากนี้ ยังอาจช่วยการลดขนาดเต้านมสามารถช่วยลดอาการเจ็บปวดที่เกี่ยวกับน้ำหนักของเต้านมที่มากเกินไป รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะที่เกี่ยวกับเต้านม เช่น การติดเชื้อ มะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้ารับการศัลยกรรมลดขนาดเต้านมควรศึกษาข้อมูลและปรึกษาคุณหมอ เพื่อพูดคุยถึงความต้องการของตัวเอง แนวทางการรักษา และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

    การศัลยกรรมลดขนาดเต้านม คืออะไร

    การศัลยกรรมลดขนาดเต้านมเป็นกระบวนการผ่าตัดอย่างหนึ่ง ที่มีจุดมุ่งหมายในการลดขนาดของเต้านม โดยการกำจัดเอาไขมัน เนื้อเยื่อ และผิวหนังส่วนเกินในบริเวณเต้านมออก ทำให้เต้านมมีขนาดเล็กลง และดูกระชับมากขึ้น

    การศัลยกรรมลดขนาดเต้านมนั้นนอกจากจะสามารถช่วยลดขนาดของเต้านมให้มีขนาดที่ต้องการได้แล้ว ยังอาจใช้เพื่อรักษาภาวะผิดปกติของเต้านมบางอย่าง เช่น ภาวะเต้านมโตผิดปกติ หรือช่วยลดความไม่สบายตัวที่เกิดขึ้นจากการมีหน้าอกใหญ่ เช่น ปัญหาปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ การเคลื่อนไหวไม่สะดวก

    นอกจากนี้ การศัลยกรรมลดขนาดเต้านมยังอาจช่วยกระชับหน้าอก แก้ปัญหาการหย่อนยานของเต้านม ทำให้เกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

    ศัลกรรมลดขนาดเต้านมเหมาะกับใครบ้าง

    โดยปกติ ผู้หญิงอาจจะพิจารณาทำการศัลกรรมลดขนาดเต้านมเมื่อขนาดของเต้านมนั้นใหญ่จนทำให้เกิดปัญหา ทั้งทางสภาพร่างกายและทางสภาพจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดและไม่สบายตัวต่าง ๆ ปัญหาการเคลื่อนไหวไม่สะดวก หรือการไม่มีความมั่นใจเนื่องจากขนาดของหน้าอกที่มีมากเกินไป

    การศัลยกรรมลดขนาดเต้านม อาจเหมาะสมกับผู้ที่มีขนาดหน้าอกใหญ่ และมีภาวะดังต่อไปนี้

    • ปวดคอ ปวดไหล่ และปวดหลังเรื้อรัง เนื่องจากมีหน้าอกใหญ่ และอาจจำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวด
    • ระคายเคือง หรือผดผื่นในบริเวณใต้ฐานราวนมเป็นเวลานาน
    • ปวดเส้นประสาท ในบริเวณเต้านม
    • รู้สึกไม่มั่นใจในรูปร่างหน้าตา เนื่องจากมีขนาดหน้าอกใหญ่เกินไป
    • ไม่สามารถหาเสื้อชั้นในหรือเสื้อที่เหมาะสมใส่ได้
    • ภาวะเต้านมโตผิดปกติ

    นอกจากนี้ คุณหมออาจจะไม่แนะนำให้ทำการศัลกยกรรมลดขนาดเต้านม หากมีสภาวะดังต่อไปนี้

  • สูบบุหรี่
  • มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • มีน้ำหนักตัวเยอะ และมีความตั้งใจที่จะลดน้ำหนักตัว เพราะการลดน้ำหนักอาจส่งผลกระทบต่อขนาดของเต้านมได้
  • มีความตั้งใจที่จะมีลูก หรือเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะการศัลยกรรมลดขนาเต้านมอาจส่งผลกระทบต่อการให้นมลูกได้
  • ข้อควรพิจารณาก่อนการศัลยกรรมลดขนาดเต้านม

    ก่อนการตัดสินใจทำการศัลยกรรมลดขนาดเต้านม มีหลายปัจจัยที่ควรจะพิจารณา เพื่อให้มั่นใจว่าเหมาะสมกับความต้องการหรือไม่ เพราะนอกจากการผ่าตัดนี้จะส่งผลกระทบอย่างถาวรต่อร่างกายแล้ว ยังอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อีกด้วย

    สำหรับสิ่งที่ควรพิจารณาก่อนการศัลยกรรมลดขนาดเต้านม อาจมีดังนี้

    • ความเสี่ยงและผลข้างเคียง เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่น ๆ การศัลยกรรมลดขนาดเต้านมอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงและผลข้างเคียงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแผลเป็น การติดเชื้อ ลิ่มเลือด การรับความรู้สึกในบริเวณเต้านม รูปร่างของเต้านม การตกเลือด และความเสี่ยงจากการใช้ยาสลบ เป็นต้น
    • ขนาดของเต้านม ขนาดของเต้านมหลังจากการศัลยกรรม อาจไม่ได้ตรงตามความต้องการเสมอไป  ซึ่งคุณหมอจะช่วยแนะนำการขนาดของเต้านมอย่างเหมาะสม โดยคำนึงจากขนาดของเต้านม ลักษณะของเต้านม และจุดประสงค์ในการศัลยกรรมนั้น ๆ โดยปกติแล้วคุณหมอมักจะแนะนำให้ลดขนาดของเต้านมลงไป 1-2 คัพจากขนาดเดิม
    • การให้นมลูก การศัลยกรรมเพื่อลดขนาดเต้านมอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเนื้อเยื่อภายในเต้านม และส่งผลต่อการผลิตน้ำนม หรือการให้นมลูกได้ หากมีความตั้งใจว่าจะมีลูก และจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรปรึกษาคุณหมอให้ดีก่อนการผ่าตัด

    การศัลยกรรมลดขนาดเต้านมแม้ว่าอาจจะดูแปลกสำหรับใครหลายคน แต่จริง ๆ แล้วก็มีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความต้องการจริง ๆ อยู่ไม่น้อย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ก่อนการพิจารณาเลือกการผ่าตัดหรือศัลยกรรมใด ๆ อย่าลืมปรึกษาคุณหมอก่อนเสมอเพื่อดูว่าตัวเองเหมาะสมกับกระบวนการศัลยกรรมนั้น ๆ หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาด และต้องเสียใจในภายหลัง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 17/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา