backup og meta

หนังปลา มีประโยชน์ต่อสุขภาพไหม กินบ่อยๆ จะดีหรือเปล่า?

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 06/10/2020

    หนังปลา มีประโยชน์ต่อสุขภาพไหม กินบ่อยๆ จะดีหรือเปล่า?

    หนังปลาทอดกรอบ หรือ หนังปลาอบกรอบ ของว่างเรียกน้ำย่อยที่ใครหลายต่อหลายคนติดอกติดใจ เพราะทั้งกรอบ ทั้งอร่อย แต่…เราเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า หนังปลา ที่กินกันอยู่ทุกวันนี้เนี่ย จริงๆ แล้วเราควรกินรึเปล่า หรือกินแล้วจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพบ้างไหม ถ้าเกิดสงสัยล่ะก็ เรามาหาคำตอบไปพร้อมกันกับ Hello คุณหมอ ที่บทความนี้กันเลยค่ะ

    เราสามารถกิน หนังปลา ได้หรือเปล่า?

    หนังปลา คือ ส่วนที่อยู่ภายนอกสุดของเนื้อปลาหลังจากที่ทำการขอดเกล็ดปลาออกไปแล้ว ซึ่งเป็นส่วนที่ขึ้นอยู่กับความชอบและไม่ชอบส่วนบุคคล เพราะบางคนก็ชอบกินหนังปลา แต่บางคนก็ไม่ชอบ และเหตุผลที่ชอบหรือไม่ชอบนั้นก็มักจะแตกต่างกันไปด้วย

    อย่างไรก็ตาม อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วหนังปลาสามารถกินได้หรือเปล่า? กินแล้วจะเป็นอันตรายไหม? ก่อนอื่นต้องกล่าวถึงก่อนว่าเนื้อปลาเป็นแหล่งของสารอาหารสำคัญสำหรับร่างกาย ทั้งโปรตีน กรดไขมันที่มีประโยชน์ รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุจำเป็นอีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่า หนังปลาก็เป็นส่วนที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์เช่นเดียวกันกับเนื้อปลา แต่อาจจะอยู่ในปริมาณที่น้อยกว่าเนื้อปลา

    นอกเหนือไปจากสารอาหารที่มีประโยชน์แล้ว สิ่งที่อาจจะปนเปื้อนอยู่ในเนื้อปลาและหนังปลาก็คือสารพิษต่างๆ ทั้งจากแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา จากแหล่งซื้อขายหรือส่งออกปลา ที่อาจจะทำให้มีการปนเปื้อนสารพิษได้ แต่…ถ้าเนื้อปลาและหนังปลาผ่านการล้างทำความสะอาดเป็นอย่างดี และผ่านกรรมวิธีการปรุงสุกอย่างเหมาะสม เราก็สามารถรับประทานทั้งเนื้อปลาและหนังปลาได้อย่างปลอดภัย

    ประโยชน์ของ หนังปลา

    ทั้งเนื้อปลาและหนังปลาต่างก็อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ปลาที่ต่างชนิดกันก็อาจจะให้สารอาหารที่แตกต่างกันบ้าง ซึ่งโดยมากแล้วไม่ว่าจะเป็นปลาชนิดไหนทั้งเนื้อปลาและหนังปลามักจะให้สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพคล้ายกัน ดังนี้

  • โปรตีน
  • กรดไขมันโอเมก้า 3
  • วิตามินดี
  • วิตามินอี
  • ไอโอดีน
  • ซีลีเนียม
  • ทอรีน 
  • ซึ่งแน่นอนว่าจากสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการนี้ ก็จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพดี อย่างเช่น

  • โปรตีน ก็จะช่วยในการสร้างมวลกล้ามเนื้อ เสริมพลังงาน 
  • กรดไขมันโอเมก้า 3 ก็จะช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ เสริมการทำงานของระบบประสาทและสมอง
  • วิตามินดี ช่วยเสริมสร้างการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง
  • ไอโอดีน ช่วยเสริมสร้างการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคคอพอก
  • นอกเหนือไปจากคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ในปัจจุบันนี้เรายังอาจผ่านหูผ่านตากับการนำหนังปลามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์เพื่อใช้รักษาและบรรเทาบาดแผลที่ถูกไฟไหม้ โดยจากผลการทดลองของดร.เจมี่ เพย์ตัน (Dr. Jamie Peyton) หัวหน้าฝ่ายบริการทางการแพทย์แบบผสมผสานแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากทีมนักวิจัยในบราซิลที่ริเริ่มนำเอาหนังปลานิลมาใช้เพื่อรักษาแผลไฟไหม้

    ดร.เจมี่จึงได้ทดลองนำหนังปลานิลมาทดลองใช้รักษาแผลไฟไหม้ให้กับหมีที่ถูกไฟครอก และหลังจากมีการทดสอบแล้ว พบว่าหนังปลามีส่วนช่วยลดหรือบรรเทาอาการเจ็บปวดของบาดแผลได้ดี หนังปลานิลมีกระบวนการในการส่งผ่านคอลลาเจนเพื่อใช้รักษาบาดแผล ทั้งยังให้ผลการรักษาที่เป็นไปในทางบวกและช่วยสมานแผลได้เร็วขึ้นกว่าที่คาดคิดด้วย

    อย่างไรก็ตาม คุณประโยชน์ของหนังปลาสำหรับใช้ในวงการแพทย์ก็ยังคงได้จะต้องมีการค้นคว้าและศึกษาถึงประโยชน์ต่อไป เพื่อที่ในอนาคตจะได้มีการนำหนังปลามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์กันอย่างกว้างขวาง และแน่นอนว่ากระบวนการรักษาบาดแผลด้วยวิธีนี้ ควรจะได้รับการรักษาผ่านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่สามารถทำได้เองที่บ้าน

    วิธีปรุงหนังปลาให้อร่อยและดีต่อสุขภาพ

    โดยทั่วไปแล้วหนังปลานั้นสามารถนำมาปรุงได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การทอด หรือ การย่าง เพื่อให้ได้รสสัมผัสที่กรอบ ซึ่งหลายคนชอบการปรุงหนังปลาด้วยการทอดมาก เพราะได้ทั้งความกรอบ และได้รสชาติจากเครื่องปรุงที่หมักหรือผสมลงไปในหนังปลา

    นอกจากนี้ก็ยังสามารถนำไปต้ม ไปนึ่ง เพื่อให้ได้สัมผัสที่นุ่ม ซึ่งหลายคนก็ชอบเพราะให้รสสัมผัสที่ละมุนลิ้น แต่หลายคนก็อาจจะไม่ชอบในแง่ที่ว่าหนังปลาเมื่อนำมาต้มหรือนึ่งแล้ว ให้ความรู้สึกลื่น ติดฟัน หรือมีรสสัมผัสที่ไม่ตรงใจเท่าที่ควร

    อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะปรุงหนังปลาด้วยวิธีใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือความสะอาด หนังปลาจะต้องล้างทำความสะอาดอย่างหมดจดเพื่อป้องกันสารพิษตกค้าง รวมถึงยังต้องระวังเรื่องเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง โดยเฉพาะหนังปลาที่นำไปทอด เพราะมักจะใส่เครื่องปรุงจำพวกโซเดียมเยอะ ซึ่งอาจจะทำให้ร่างกายสะสมโซเดียมไว้ในปริมาณที่สูง หากมีการปรุงด้วยเกลือหรือโซเดียมมากเกินไป หรือกินหนังปลาที่ปรุงด้วยโซเดียมเยอะจนเกินไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 06/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา