backup og meta

ภาวะแมเนีย (Mania) อีกหนึ่งอาการพบบ่อยในผู้ป่วยไบโพลาร์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 24/09/2020

    ภาวะแมเนีย (Mania) อีกหนึ่งอาการพบบ่อยในผู้ป่วยไบโพลาร์

    เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคไบโพลาร์ (Bipolar) เกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์  ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์จึงมักมีอารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย บทจะดีก็อารมณ์ดีตื่นตัวผิดปกติ บทจะร้ายก็ก้าวร้าว มีอารมณ์รุนแรง หรืออาจมีอาการซึมเศร้าอย่างหนัก บทความนี้ Hello คุณหมอ ขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ  ภาวะแมเนีย หรือที่เรียกว่า ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ เป็นอีกหนึ่งภาวะทางอารมณ์ของโรคไบโพลาร์ จะมีลักษณะและอาการอย่างไร ติดตามอ่านในบทความนี้ค่ะ

    ทำความรู้จัก ภาวะแมเนีย (Mania)

    ภาวะแมเนีย (Mania หรือ Hypomania) หรือ ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ โดยเกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ดีผิดปกติ มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

    สำหรับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ที่อยู่ในภาวะแมเนีย อาจเกิดขึ้นสลับกับภาวะซึมเศร้า หรือมีอารมณ์ก้าวร้าว รุนแรง หากปล่อยไว้เนิ่นนานโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันแล้วยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอีกด้วย

    ภาวะแมเนียเกิดจากสาเหตุอะไร  

    ถึงแม้ว่าภาวะแมเนีย อาจเป็นภาวะหนึ่งในอาการของโรคไบโพลาร์ แต่ภาวะแมเนียอาจเกิดจากสาเหตุและปัจจัยอื่น ๆ ได้ดังนี้

    • การใช้แอลกอฮอล์หรือยาเสพติด
    • การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการนอนหลับ
    • อาการซึมเศร้า
    • มีระดับความเครียดสูง
    • ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด

    อาการของภาวะแมเนีย ในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์

    ภาวะแมเนียส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ดีผิดปกติ มีการตื่นตัวตลอดเวลา รวมถึงอาการอื่น ๆ  ดังนี้

    • มีพลังมากมาย
    • ฟุ้งซ่านได้ง่าย
    • พูดเร็ว ตัดสินใจเร็ว ขนาดการยับยั้งชั่งใจ มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดผลกระทบภายหลัง
    • พูดเยอะผิดปกติ หรือมีความรู้สึกกดดันว่าต้องพูดต่อไป
    • นอนน้อยกว่าปกติ มีพลังมาก ไม่รู้สึกง่วงนอน
    • มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น การพูดคำหยาบ การแต่งกาย
    • รู้สึกมีแรงผลักดันอย่างมาก ในการทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตนเอง
    • ไวต่อความรู้สึก เช่น การดมกลิ่น การสัมผัส
    • ใช้จ่ายโดยประมาท เช่น การซื้อรถยนต์โดยที่ตนเองไม่สามารถจ่ายชำระค่างวดรถได้

    แนวทางในการรักษา

    การรักษาทางการแพทย์

    ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติและอาการของผู้ป่วย มุ่งเน้นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วย โดยมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของผู้ป่วย และอาจมีการจ่ายยา เช่น ยารักษาอาการทางจิต เช่น ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ยาลิเทียม (Lithium) กรดวาลโปรอิก (Valproic)

    การรักษาแบบองค์รวม

    นอกจากนี้การรักษาทางการแพทย์แล้ว ยังมีแนวทางการรักษาแบบองค์รวม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมอาการและบรรเทาความรุนแรงของภาวะแมเนีย ดังนี้

    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน
    • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานที่เป็นสารกระตุ้นภาวะแมเนีย เช่น คาเฟอีน น้ำตาล

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 24/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา