backup og meta

ฟันเหลืองไม่ได้เเปลว่าฟันไม่ดี ฟันขาวสะอาดก็ไม่ได้แปลว่าสุขภาพฟันดีเช่นกัน เป็นเพราะอะไรกันนะ?

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ฟันเหลืองไม่ได้เเปลว่าฟันไม่ดี ฟันขาวสะอาดก็ไม่ได้แปลว่าสุขภาพฟันดีเช่นกัน เป็นเพราะอะไรกันนะ?

    นอกจากการมีฟันที่เรียงสวยเป็นระเบียบแล้ว การมีฟันขาว สะอาด ก็มีส่วนช่วยให้เรายิ้มออกมาได้อย่างมั่นใจและมีความสุข แต่ภาพนั้นอาจต้องสะดุดเมื่อพบว่าสีฟันของคุณไม่ได้ขาวใส แต่กลับเหลืองจนน่าเศร้าใจ การมีฟันเหลืองเป็นปัญหาทางสุขภาพหรือเปล่า? แล้วจริงหรือที่ว่า ฟันเหลืองไม่ได้เเปลว่าฟันไม่ดี และฟันขาวสะอาดก็ไม่ได้แปลว่าสุขภาพฟันดีเช่นกัน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มาหาคำตอบได้ในบทความนี้จาก Hello คุณหมอ

    สีของฟันตามธรรมชาติคือสีอะไร

    การมีฟันขาวใสนั้นเป็นความฝันของคนแทบจะทุกคน และด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ถูกคิดค้นเพื่อนำมาแก้ไขข้อบกพร่องของมนุษย์นั้นได้ก้าวหน้าไปมาก บางครั้งมีกระบวนการฟอกสีฟันให้ขาว หรือการแปะฟันให้ขาว แต่หลายครั้งก็ทำให้สีของฟันขาวสว่างจนผิดธรรมชาติของสีฟัน หรือเรียกได้ว่าขาวจนเกินจริง เพราะที่จริงแล้วสีฟันของคนเรานั้นจะไม่ใช่สีขาวสว่างแบบโฆษณาในโทรทัศน์

    แต่สีฟันธรรมชาติจะมีสีขาวมุก ค่อนไปทางเทา หรือออกเหลืองเล็กน้อย โดยชั้นแรกสุดของฟันจะเป็นชั้นเคลือบฟันซึ่งมีสีฟ้าอมขาว ถัดมาจึงเป็นชั้นเนื้อฟัน ซึ่งมีสีที่เข้มกว่า และเนื่องจากเคลือบฟันนั้นมีลักษณะโปร่งแสง จึงทำให้มองเห็นเนื้อฟันที่มีสีเข้มกว่า และออกเหลือง เราจึงเห็นฟันเป็นสีขาว

    ฟันขาวไม่ได้แปลว่าสุขภาพฟันดีเสมอไป

    การมีฟันขาวสะอาด เปล่งประกาย มีออร่า ยิ้มทีไรทำให้โลกสดใสขึ้นมาทันที เป็นการโฆษณาเรื่องของสีฟันที่ขาวใสมาอย่างเนิ่นนาน จนทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า การมีเนื้อฟันที่ขาวใสนั้นหมายถึงการมีสุขภาพฟันที่ดีตามไปด้วย ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ไม่สามารถที่จะการันตีได้อย่างแน่นอนว่า การมีฟันสีขาวหมายถึงการมีสุขภาพฟันที่ดี เพราะหลายครั้งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพของฟันก็มาจากผู้ที่มีฟันขาวสว่างสดใส บางคนฟันผุทั้ง ๆ ที่มีสีฟันขาว ในขณะที่บางคนมีปัญหาเกี่ยวกับเหงือก หรือบางครั้งอาจมีกลิ่นปาก ดังนั้น จึงไม่สามารถการันตีได้ว่า มีฟันขาวจะเท่ากับฟันดี

    ฟันเหลืองไม่ได้เเปลว่าฟันไม่ดี เสมอไป

    สำหรับผู้ที่มีปัญหาฟันเหลือง เรียกได้ว่าแทบจะเป็นฝันร้ายเลยทีเดียว ทำให้ไม่กล้ายิ้ม ขาดความมั่นใจ เขินอาย จนแทบจะไม่อยากยิ้มอีกเลย แต่แท้จริงแล้วการมีฟันสีเหลืองไม่ได้แปลว่าคุณมีสุขภาพฟันที่แย่เสมอไป แต่เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือลักษณะนิสัยในการกินบางอย่างที่เป็นสาเหตุของการกัด กร่อน สารเคลือบฟันที่มีอยู่ เมื่อสารเคลือบฟันเหล่านั้นถูกทำลายลงไป จึงทำให้สีของฟันเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แม้คุณจะทำความสะอาดฟันทั้งตอนเช้าและก่อนเข้านอนแล้วก็ตาม แต่สีของฟันก็ยังไม่กลับมาขาวใสดังเดิม อย่างไรก็ตาม มีหลายคนที่มีฟันเหลือง แต่ไม่ประสบปัญหาฟันผุ หรือการมีเหงือกร่น หรือมีปัญหาสุขภาพช่องปากอื่น ๆ ดังนั้นแล้ว การมี ฟันเหลืองไม่ได้เเปลว่าฟันไม่ดี เสมอไป

    พฤติกรรมใดบ้างที่ทำให้ฟันเหลือง

    แล้วพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไหนบ้างล่ะ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันเหลือง? เรียกได้ว่ามีหลากหลายพฤติกรรมเลยทีเดียวที่ส่งผลให้ฟันของเรามีสีเหลือง บางกรณีอาจเป็นพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำจนชิน หรืออาจเป็นพฤติกรรมที่ทำโดยไม่ได้รู้ตัวว่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปาก ดังนี้

    • การนอนกัดฟัน
    • การแปรงฟันด้วยถ่านกัมมันต์ หรือที่รู้จักกันในชื่อชาโคล
    • การแปรงฟันด้วยน้ำมะนาว หรือเบคกิ้ง โซดา
    • การแปรงฟันแรงเกินไป
    • การใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็ง ไม่อ่อนนุ่มหรือเหมาะสำหรับฟัน
    • การดื่มเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ โซดา
    • การสูบบุหรี่
    • การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นกรดมากจนเกินไป

    หมดปัญหาฟันเหลืองด้วยวิธีนี้

    การมีฟันเหลืองอาจไม่ได้หมายถึงความเสี่ยงทางด้านสุขภาพเสมอไป แต่ถ้าคุณอยากที่จะยิ้มและหัวเราะอย่างมั่นใจมากกว่าเดิม คุณควรหยุดพฤติกรรมเสี่ยงของการเกิดฟันเหลือง ดังนี้

    • เลิกสูบบุหรี่
    • หลีกเลี่ยง หรือลดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่เสี่ยงจะทำให้ฟันเหลือง เช่น ชา หรือกาแฟ
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
    • เลือกใช้แปรงสีฟันที่เหมาะกับฟัน
    • เลือกใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์
    • ตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอ หรือทุก  6 เดือน ครั้ง
    • ไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษาเรื่องของการนอนกัดฟัน
    • ไปพบคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการฟอกสีฟัน หรือการทำวีเนียร์ ในกรณีที่พยายามเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วแต่ฟันยังคงเหลืองอยู่

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา