backup og meta

ติดมือถือทำร้ายชีวิตรัก อาการติดมือถือกำลังบ่อนทำลายชีวิตรักของคุณอยู่หรือเปล่า

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ติดมือถือทำร้ายชีวิตรัก อาการติดมือถือกำลังบ่อนทำลายชีวิตรักของคุณอยู่หรือเปล่า

    แฟนเรียกไม่ได้ยินเพราะกำลังแชทอยู่กับเพื่อน แฟนนั่งอยู่ข้างๆ แต่ตาเอาแต่จ้องหน้าจอโทรศัพท์ ระวังจะเสียคนรักโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากมีงานวิจัยหลายงานวิจัยที่ให้ข้อมูลว่าการ ติดมือถือทำร้ายชีวิตรัก ของคุณ

    ติดมือถือทำร้ายชีวิตรัก เราได้อย่างไร

    งานวิจัยพบว่า การใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบเลอร์ (Baylor University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สำรวจชาวอเมริกัน วัยผู้ใหญ่ 450 คน ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักหรือไม่

    ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มที่ไม่ได้รับความสนใจจากคู่รักมีมากกว่า 46% กลุ่มที่บอกว่า อาการติดโทรศัพท์มือถือสร้างความขัดแย้งให้คู่รัก มีจำนวน 23% กลุ่มที่บอกว่าพวกเขารู้สึกหดหู่บางครั้ง มีจำนวน 37% และมี 32% ที่บอกว่าโทรศัพท์มือถือไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์

    เจมส์ โรเบิร์ต ศาสตราจารย์ภาคการตลาด หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า สิ่งที่งานวิจัยค้นพบคือ การติดมือถือจนไม่สนใจคนรัก จะทำให้เกิดความขัดแย้งและความไม่พอใจกัน ผลเสียของอาการติดมือถือคือ บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก และอาจยังส่งผลให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจในตัวเอง ซึ่งนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด

    คู่สามีภรรยากับอาการติดมือถือ

    ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ได้ศึกษาพฤติกรรมการใช้ โซเชียลมีเดีย ของคู่สมรส ชาวยุโรป 24,000 คน พบว่าการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค ส่งผลต่อความพึงพอใจในชีวิตสมรสของคู่รัก โดยคู่รักมีแนวโน้มที่จะดูชีวิตของคนในโซเชียล มีเดีย และเอามาเปรียบเทียบกับคนรักของตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดความไม่พึงพอใจต่อคนรัก และยังมีการสำรวจที่พบว่า โทรศัพท์มือถือทำให้คู่รักห่างกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ หลายคู่ทะเลาะกันเพราะไม่ไว้ใจ และรู้สึกสงสัยว่าแฟนกำลังคุยกับใครในโทรศัพท์ การติดมือถือจึงทำให้คนรักไม่ไว้ใจกัน และไม่พึงพอใจกันและกันอีกด้วย

    การติดมือถือสร้างความไม่พอใจในความสัมพันธ์

    งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Applied Social Psychology ให้ข้อมูลว่า การติดโทรศัพท์มือถือ สร้างความไม่พอใจให้กับความสัมพันธ์ในระดับเกือบจิตใต้สำนึก โดยการติดโทรศัพท์มือถือจะสร้างระยะห่างทางอารมณ์ระหว่างคู่รัก กลุ่มตัวอย่างที่เป็นคู่รักได้รับการสังเกตปฏิกิริยาขณะดูวิดีโอความยาว 3 นาที โดยพวกเขาจินตนาการว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนา และเมื่อคู่สนทนาไม่สนใจอย่างมาก ไม่สนใจบางส่วน หรือไม่สนใจเลย ผลการวิจัยพบว่า การติดโทรศัพท์จนไม่สนใจคู่สนทนา มีผลลัพธ์ทางด้านลบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพการสนทนาและความพึงพอใจด้านความสัมพันธ์

    โซเชียลมีเดียส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์

    การศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิสซูรี (University of Missouri) ในสหรัฐฯ ได้สัมพันธ์กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใช้งานเว็บไซต์ Facebook หลายร้อยคน อายุระหว่าง 18-82 ปี ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อว่า การใช้เฟสบุ๊คของคู่รัก เพิ่มความขัดแย้งในความสัมพันธ์ นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่าการใช้ Facebook ส่งผลต่อความอิจฉาของพวกเขา ซึ่งนำไปสู่การเลิกรากับคู่รัก การนอกใจ และการหย่าร้างในที่สุด

    แต่การใช้เฟสบุ๊คก็มีผลในแง่ดีต่อความสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน โดยดร.คีธ แฮมทัน (Keith Hampton) รองศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารและการสื่อสารนโยบายสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาแล้วพบว่า เฟสบุ๊คทำให้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าผู้ใช้เฟสบุ๊คกว่า 9% สามารถไว้วางใจและพูดคุยเรื่องสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ และส่งข้อความโต้ตอบกันในทันที จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น

    แก้ปัญหาก่อนสายเกินไป

    โทรศัพท์ควรเป็นเครื่องมือที่เพิ่มเข้ามา เพื่อให้ชีวิตสะดวกสบาย และทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น ไม่ใช่มีโทรศัพท์เพื่อแทนที่ความสัมพันธ์ดีๆ ในชีวิต เวลาอยู่กับคนรัก จึงอาจทำดังนี้

    • ก่อนเข้านอนให้เอาโทรศัพท์ไว้นอกห้องนอน หากต้องตั้งนาฬิกาปลุก ให้ใช้นาฬิกาปลุก แทนการใช้โทรศัพท์
    • เวลาอยู่กับคนรักให้เปิดโหมดเครื่องบิน หรือ Airplane mode อย่างน้อย 20 นาที เพื่อให้ได้พูดคุยกับคนรัก โดยไม่มีสิ่งใดขัดจังหวะ ก็จะทำให้ได้สบตาและพูดคุยกับคู่รักมากขึ้น
    • ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก ความสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว ก็เป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ ไม่มีใครอยากถูกเมิน หากนั่งอยู่ด้วยกัน ดังนั้นเวลาอยู่กับคนอื่น อาจต้องฝึกตัวเองให้เก็บโทรศัพท์ไว้ก่อนและพูดคุยกับผู้อื่น

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา