backup og meta

ประจำเดือนไม่มา แต่ผลตรวจครรภ์เป็นลบ มีสาเหตุจากอะไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 20/12/2023

    ประจำเดือนไม่มา แต่ผลตรวจครรภ์เป็นลบ มีสาเหตุจากอะไร

    ประจำเดือนไม่มา แต่ผลตรวจครรภ์เป็นลบ อาจมีสาเหตุมาจากสภาวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ การใช้ยาบางชนิด หรือแม้แต่การที่ผลตรวจครรภ์ออกมาผิดพลาด หากสังเกตพบว่ามีอาการประจำเดือนไม่มาตามปกติ ควรตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด และทำการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาในภายหลัง

    ประจำเดือนไม่มา แต่ผลตรวจครรภ์เป็นลบ เป็นเพราะอะไร

    การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy)

    แม้ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกจะเป็นภาวะที่พบได้ยาก แต่ก็เกิดขึ้นได้ และอาจสามารถทำให้ผลตรวจครรภ์ออกมาเป็นลบได้ หากผลตรวจครรภ์ออกมาเป็นลบ แต่มีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังมีภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก

    • ปวดท้องน้อย หรือปวดท้องข้างเดียวอย่างรุนแรง
    • เวียนศีรษะ
    • เลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ หรือเลือดออกกะปริบกะปรอยจากช่องคลอด
    • คลื่นไส้ และอาเจียน

    ฮอร์โมน HCG ต่ำ

    หากประจำเดือนไม่มา แต่ผลตรวจครรภ์ออกมาเป็นลบ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้ตั้งครรภ์เสมอไป เพราะอาจอยู่ในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ ทำให้ฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin; HCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ยังอยู่ในระดับต่ำเกินไป จนทำให้ที่ตรวจครรภ์ไม่สามารถตรวจจับได้ ผลตรวจครรภ์เลยออกมาเป็นลบ

    งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ระดับฮอร์โมน HCG ในร่างกายจะต้องสูงกว่า 25 mIU/ml ที่ตรวจครรภ์ด้วยตัวเองจึงจะสามารถตรวจจับฮอร์โมน HCG ได้ และให้ผลทดสอบที่มีความแม่นยำถึง 99% หากมีฮอร์โมนนี้ไม่เกิน 12.4 mIU/ml ผลทดสอบจะมีความแม่นยำประมาณ 95% ยิ่งระดับฮอร์โมน HCG ต่ำเท่าไหร่ ผลทดสอบการตั้งครรภ์จากที่ตรวจครรภ์ด้วยตัวเองก็จะยิ่งแม่นยำน้อยลงเท่านั้น

    หากประจำเดือนไม่มา ตรวจครรภ์แล้วผลเป็นลบ ควรรออีกสัก 2-3 วัน ค่อยตรวจครรภ์อีกรอบ หากผลยังออกมาว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่ประจำเดือนก็ยังไม่มา แนะนำให้รีบปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจเป็นเพราะปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้

    อยู่ในช่วงให้นมบุตร

    การให้นมบุตรสามารถรบกวนรอบประจำเดือนปกติ จนประจำเดือนไม่มา หรือประจำเดือนมาผิดปกติได้ คุณแม่ให้นมบุตรส่วนใหญ่อาจจะต้องรอสักพัก กว่าประจำเดือนจะกลับมาเป็นปกติ นอกจากนี้ เมื่อทารกค่อย ๆ เติบโตขึ้นจนทำให้พฤติกรรมการกินนมเปลี่ยนแปลง เช่น ทารกบางคนอาจกินนมแม่ในตอนกลางคืนบ่อยขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อรอบเดือนของคุณแม่ได้

    การใช้ยารักษาโรค

    การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ภูมิแพ้ ยาลดความดันโลหิต ยาคุมกำเนิด อาจทำให้รอบเดือนเปลี่ยนแปลงไป เช่น ประจำเดือนมาเร็วกว่าปกติ ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ ประจำเดือนไม่มา ควรปรึกษาคุณหมอหากสงสัยว่ายาที่ใช้อยู่อาจทำให้ประจำเดือนไม่มา คุณหมออาจจะปรับขนาดยาหรือสั่งยาชนิดอื่นที่เหมาะสมกว่าให้

    ปัญหาสุขภาพบางประการ

    ปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ มักทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนมาน้อยมาก ประจำเดือนมามาก หรือทำให้ประจำเดือนไม่มาเลยก็ได้

    นอกจากนี้ ผู้หญิงที่กำลังจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน (อายุประมาณ 50 ปี) หรือจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด (ก่อนอายุ 40 ปี) ก็อาจประสบกับภาวะประจำเดือนไม่มาได้ หากประจำเดือนไม่มานานเกิน 90 วัน และไม่ได้ตั้งครรภ์ แนะนำให้ไปปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้

    ผลตรวจครรภ์ออกมาผิดพลาด

    การที่ประจำเดือนไม่มา แต่ผลตรวจครรภ์ออกมาเป็นลบ อาจเป็นเพราะผลตรวจครรภ์ผิดพลาด ซึ่งกรณีนี้มักมีสาเหตุมาจากการใช้ที่ตรวจครรภ์ด้วยตัวเองผิดวิธี เช่น ไม่อ่านผลการทดสอบตามเวลาที่กำหนด ฉะนั้น หากต้องการให้ผลการตรวจครรภ์ออกมาแม่นยำที่สุด แนะนำให้ใช้ที่ตรวจครรภ์ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากไม่แน่ใจหรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาเภสัชกรให้เข้าใจแน่ชัดก่อนใช้งาน

    ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป

    ปัจจัยในการใช้ชีวิต เช่น ความเครียด ภาวะทุพโภชนาการหรือการขาดสารอาหาร การบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป สามารถส่งผลให้ประจำเดือนมาผิดปกติ หรือประจำเดือนไม่มาได้ นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์กะทันหัน เช่น การออกกำลังกายหักโหม การทำงานกะดึก ก็สามารถส่งผลต่อการมีประจำเดือนได้เช่นกัน

    หากคุณปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น ออกกำลังกายอย่างพอดี ทำกิจกรรมคลายเครียด กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับอย่างเพียงพอ แต่ประจำเดือนก็ยังผิดปกติ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ เพราะปัญหานี้อาจเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้

    ที่ตรวจครรภ์ด้วยตัวเองแม่นยำแค่ไหน

    โดยปกติแล้ว หากใช้ที่ตรวจครรภ์ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และรออย่างน้อย 1 สัปดาห์หลังจากวันที่ประจำเดือนควรมาเป็นวันแรก ผลที่ได้มักจะมีความแม่นยำค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม บางครั้งผลตรวจครรภ์ก็อาจออกมาเป็นเท็จหรือผิดพลาดได้ หากมีปัจจัย ดังต่อไปนี้

    ตรวจครรภ์เร็วเกินไป

    ที่ตรวจครรภ์ด้วยตัวเองจะทำงานโดยการตรวจจับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ “เอชซีจี” (HCG หรือ Human Chorionic Gonadotropin) ที่ถูกสร้างจากรก ซึ่งปนอยู่ในปัสสาวะ แต่หากตรวจครรภ์เร็วเกินไป ฮอร์โมน HCG ยังมีน้อยอยู่ ก็อาจทำให้ผลตรวจออกมาว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ ทั้ง ๆ ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ก็เป็นได้

    ระดับฮอร์โมนเอชซีจีต่ำเกินไป

    การที่ประจำเดือนไม่มา แต่ผลตรวจครรภ์เป็นลบ อาจเป็นเพราะการตรวจครรภ์ในช่วงเวลาที่ระดับฮอร์โมน HCG ต่ำเกินไป หากอยากให้ผลการตรวจครรภ์ด้วยตัวเองออกมาแม่นยำขึ้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรตรวจครรภ์หลังตื่นนอนตอนเช้าจะดีที่สุด เพราะน้ำปัสสาวะในช่วงนี้ค่อนข้างเข้มข้นกว่าในช่วงเวลาอื่น ทำให้ที่ตรวจครรภ์สามารถตรวจจับฮอร์โมน HCG ได้ง่ายขึ้น ผลการตรวจจึงแม่นยำขึ้นตามไปด้วย

    ประจำเดือนไม่มา แบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ

    หากประจำเดือนไม่มาติดต่อกันเกิน 3 รอบเดือน และผลตรวจออกมาเป็นลบ ควรปรึกษาคุณหมอโดยเร็วที่สุด เพราะหากสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มี เป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพ คุณหมอจะได้วินิจฉัยและหาวิธีรักษาที่เหมาะสมให้ได้โดยเร็วที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 20/12/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา