backup og meta

สูตรถั่วลันเตาผัดเบคอน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 11/09/2020

    สูตรถั่วลันเตาผัดเบคอน

    ถั่วลันเตา เป็นถั่วที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเบตาแคโรทีน (Beta-carotene) วิตามินบี ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเอาถั่วลันเตามาผัดน้ำมันแล้วก็ใส่เนื้อสัตว์ตามที่เรา ส่วนใหญ่ที่มักจะเห็นตามร้านอาหารก็จะเป็นหมู หรือกุ้ง แต่วันนี้ Hello คุณหมอ มี สูตรถั่วลันเตาผัดเบคอน เมนูผักที่เด็ก ๆ ก็สามารถรับประทานได้ ไปดูกันเลยค่ะ ว่ามีวิธีการทำอย่างไรบ้าง

    สูตรถั่วลันเตาผัดเบคอน

    ส่วนผสม

    ถั่วลันเตาหวาน 100 กรัม
    เบคอนหั่นชิ้น 50 กรัม
    กระเทียมสับละเอียด 2 ช้อนชา
    ซอสหอยนางรม 2 ช้อนโต๊ะ
    ซอสปรุงรส 1 ช้อนชา
    น้ำปลา 1 ช้อนชา
    น้ำเปล่า 3 ช้อนโต๊ะ
    น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
    น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา

    วิธีทำถั่วลันเตาผัดเบคอน

  • ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืชพอร้อน นำกระเทียมสับลงเจียว พอหอมเหลือง ใส่เบคอนผัดพอเหลือง
  • ใส่ถั่วลันเตา ปรุงรสด้วย ซอสหอยนางรม ซอสปรุงรส น้ำตาลทราย น้ำปลา เติมน้ำเปล่า ผัดจนเข้ากันดี ยกลงตักใส่จานจัดเสิร์ฟ
  • ประโยชน์เน้น ๆ ที่มาจาก “ถั่วลันเตา”

    ถั่วลันเตา เป็นไม้เลื้อยที่ไม่จัดว่าเป็นผัก เพราะพวกมันจัดอยู่ในพืชตระกูลถั่ว ซึ่งเป็นพืชที่มีฝักและมีเมล็ดอยู่ภายในฝัก เช่น ถั่วลิสง ถั่วลูกไก่ ถั่วฝักยาว เป็นต้น

    ถั่วลันเตา เป็นถั่วที่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย นอกจากนี้ถั่งลันเตายังเป็นถั่วที่มีปริมาณแคลอรี่ที่ต่ำ ถั่วลันเตา 170 กรัม ให้พลังงานแคลอลี่เพียง 62 กิโลแคลอรี่เท่านั้น ซึ่งแคลอรี่ร้อยละ 70 ของถั่วลันเตานั้นมาจากคาร์โบไฮเดรต ส่วนที่เหลือก็มาจากโปรตีน และไขมันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่สำคัญไปกว่านั้นถั่วลันเตายังมีวิตามินและเกลือแร่ที่เป็นประโยชน์อีกมากมาย แถมยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์และมีประโยชน์ต่อสุขภาพดังนี้

    ถั่วลันเตา

    ถั่วลันเตามีคุณสมบัติในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

    ถั่วลันเตา เป็นถั่วที่มีดัชนีน้ำตาลน้อย  (Glycemic index หรือ GI) ซึ่งดัชนีน้ำตาลเป็นตัวจัดความเร็วของระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร ซึ่งอาหารที่มีระดับดัชนีน้ำตาลน้อยนั้นจะมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี

    นอกจากนี้ถั่วลันเตายังอุดมไปด้วยไฟเบอร์และโปรตีน ซึ่งไฟเบอร์ยังไปช่วยลดอัตราการดูดซึมของคาร์โบไฮเดรตของร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ ไม่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่า การบริโภคอาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูงยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย

    ช่วยระบบย่อยอาหาร

    ไฟเบอร์ ถือเป็นแหล่งอาหารที่ดีของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ เมื่อแบคทีเรียที่ดีเหล่านั้นได้รับอาหารที่เพียงพอก็จะมีการเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งการที่ลำไส้มีแบคทีเรียชนิดที่ดีมากๆ ก็จะช่วยลดปริมาณแบคทีเรียชนิดไม่ดีในลำไส้ได้ ซึ่งการมีแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้มาก ๆ ก็จะมีส่วนช่วยในการลดปัญหาระบบย่อยอาหารและระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้อักเสบ หรือมะเร็งลำไส้เป็นต้น

    ช่วยบำรุงหัวใจ

    ถั่วลันเตามีแร่ธาตุที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ เช่น แมกนีเซียม (Magnesium) และแคลเซียม (Calcium) ซึ่งสารอาหารเหล่านั้นมีประโยชน์ในการป้องกันความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงส่วนที่สำคัญที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจได้  นอกจากนี้ถั่วลันเตายังมีปริมาณไฟเบอร์สูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดปริมาณคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจได้อีกด้วย

    ถั่วลันเตายังมีฟลาโวนอล (Flavonols) แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) และวิตามินซี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากสารต่าง ๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติในการป้องกันเซลล์จากการถูกทำลาย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 11/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา