backup og meta

สูตร น้ำทับทิมซ่า

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 16/07/2020

    สูตร น้ำทับทิมซ่า

    เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองร้อน ไม่ว่าจะฤดูไหน ร้อน ฝน หนาว อากาศก็ร้อนอบอ้าวเสียเป็นส่วนใหญ่ แถมเวลารับประทานอาหาร เรายังชอบรับประทานอาหารไทยรสชาติจัดจ้าน เผ็ดร้อน เลยยิ่งทำให้เรารู้สึกร้อนทั้งกายทั้งใจง่ายยิ่งขึ้นไปอีก

    แต่เราก็สามารถบรรเทาความร้อนได้ด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็น เปิดพัดลม เปิดแอร์ หรือดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ ชื่นใจสักแก้ว วันนี้ Hello คุณหมอ เลยอยากมานำเสนอ สูตรเครื่องดื่มอร่อยๆ อย่าง น้ำทับทิมซ่า ที่ไม่ใช่แค่ได้ความหวานหอมจากน้ำทับทิม แต่ยังแอบซ่านิดๆจากน้ำโซดา บอกเลยว่างานนี้ อากาศร้อนแค่ไหนก็สู้ตาย!

    สูตร น้ำทับทิมซ่า

    ส่วนผสม

    (สำหรับ 2 ที่)

    • น้ำทับทิมคั้นสด 1 ถ้วย (หากไม่มีให้ใช้น้ำทับทิมกล่อง 100% ได้)
    • น้ำเชื่อม 2-2½ ช้อนโต๊ะ
    • น้ำมะนาว หรือน้ำเลมอน 1 ช้อนโต๊ะ
    • เมล็ดทับทิม ½  ถ้วย
    • โซดาและน้ำแข็งก้อนเล็กน้อย
    • เลมอนหรือมะนาวหั่นเสี้ยวสำหรับตกแต่ง

    วิธีทำ

    1. ผสมน้ำทับทิม น้ำเชื่อม น้ำมะนาวให้เข้ากัน
    2. เทใส่แก้วที่มีน้ำแข็งประมาณ ¾ ของแก้ว เติมโซดาเล็กน้อย คนให้เข้ากัน
    3. โรยหน้าด้วยเมล็ดทับทิม ตกแต่งด้วยเลมอน
    4. พร้อมเสิร์ฟ

    ใช้เวลาแค่ชั่วอึดใจ เราก็ได้น้ำทับทิมซ่าสีแดงสวย หวานเย็นชื่นใจไว้ดื่มแก้ร้อนกันแล้ว เราแนะนำให้ใช้น้ำทับทิมคั้นสดจะดีที่สุด แต่หากใครหาไม่ได้ ก็สามารถใช้น้ำทับทิมกล่องแบบ 100% ได้ และเวลาเลือกซื้อควรดูฉลากโภชนาการและส่วนผสมข้างกล่องให้ดี เลือกแบบที่มีน้ำตาลหรือส่วนประกอบอื่นน้อยที่สุด หรือไม่มีได้เลยยิ่งดีและเฮลตี้สุดๆ ส่วนน้ำเชื่อมหากใครอยากลดปริมาณให้น้อยลงก็ได้ รสชาติไม่เสียแถมได้สุขภาพด้วย

    ทับทิมผลแดง… ที่มาพร้อมประโยชน์สุขภาพนานา

    ทับทิม เป็นพืชตระกูลเบอร์รี่ และจัดเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพที่สุดในโลก ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นเผยว่า ทับทิมมีประโยชน์สุขภาพมากมาย และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้หลายโรคด้วย

    ประโยชน์สุขภาพของทับทิม

    ทับทิมมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์นานาชนิด เมล็ดทับทิม 1 ถ้วย (ประมาณ 174 กรัม) ให้พลังงาน 144 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยไฟเบอร์ 7 กรัม โปรตีน 3 กรัม โฟเลต 16% โพแทสเซียม 12% วิตามินซี 30% และวิตามินเค 36% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

    นอกจากจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่เรารู้จักกันทั่วไปแล้ว ทับทิมยังมีสารประกอบ 2 ชนิด ได้แก่ พูนิคาลาจิน (Punicalagin) และกรดเอลลาจิก (Punicic Acid) ที่ชื่ออาจไม่คุ้นหู แต่มีสรรพคุณที่น่าทึ่งมาก

    พูนิคาลาจิน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นยอดที่พบได้ในเปลือกและน้ำทับทิม ส่วนกรดเอลลาจิก ก็เป็นกรดไขมันหลักของเมล็ดทับทิม พบได้ในน้ำมันเมล็ดทับทิม และมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน

    ทับทิมมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ จึงช่วยลดการเกิดโรคที่เป็นผลมาจากการอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคอ้วน ผลการศึกษาที่ให้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคเบาหวานดื่มน้ำทับทิมทุกวัน วันละ 250 มิลลิลิตร เป็นเวลาติดต่อกัน 12 สัปดาห์ พบว่า ตัวบ่งชี้ของการอักเสบอย่างซี-รีแอคทีฟ โปรตีน (CRP)  และอินเตอร์ลิวคิน 6 (interleukin-6) ลดลงถึง 32% และ 30% ตามลำดับ

    นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ชี้ว่า น้ำทับทิมดีต่อผู้ชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก อาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ อีกทั้งน้ำทับทิมยังอาจช่วยลดความดันโลหิต ช่วยต่อสู้กับอาการปวดข้อต่อและข้ออักเสบ รวมถึงช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา ร่างกายจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าวน้อยลง

    ไม่ใช่แค่นั้น…ทับทิมยังอุดมไปด้วยไนเตรท ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต จึงอาจมีส่วนช่วยให้เพิ่มสมรรถภาพร่างกาย ทำให้คุณเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายได้ดีขึ้น

    สูตร น้ำทับทิมซ่า

    อย่างไรก็ดีแม้ทับทิมจะมีประโยชน์มหาศาล แต่ก็อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน ผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตต่ำอาจต้องดื่มน้ำทับทิมทั้งแบบคั้นสด น้ำทับทิมกล่อง หรือน้ำทับทิมซ่าสูตรเด็ดที่เรานำมาฝากอย่างระมัดระวัง เพราน้ำทับทิมมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต จึงอาจทำให้ความดันโลหิตของคุณลดลงจนเป็นอันตรายได้

    หากใครกำลังจะเข้ารับการผ่าตัด ก็ควรงดบริโภคทับทิมไปก่อนอย่างน้อย 2 อาทิตย์ก่อนผ่าตัด เพราะอาจส่งผลต่อความดันโลหิตทั้งก่อนและหลังผ่าตัดได้ และใครมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น ท้องอืดบ่อย มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ก็ควรบริโภคน้ำโซดาแต่น้อย เพราะอาจส่งผลให้ท้องอืดท้องเฟ้อ จนนำไปสู่โรคลำไส้แปรปรวนได้

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 16/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา