backup og meta

สูตร (ไม่ลับ) สำหรับการปฐมพยาบาล กล้ามเนื้อฉีก ด้วยตนเอง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พิมพร เส็นติระ · แก้ไขล่าสุด 12/03/2021

    สูตร (ไม่ลับ) สำหรับการปฐมพยาบาล กล้ามเนื้อฉีก ด้วยตนเอง

    กล้ามเนื้อฉีก (Muscle Strain) หรือ กล้ามเนื้อกระตุก (Pulled Muscle) เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อเกิดการยืดตัวมากเกินไปหรือเกิดการฉีกขาด มีสาเหตุเกิดมาจากความเหนื่อยล้า การใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป หรือการใช้กล้ามเนื้ออย่างไม่เหมาะสม โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับร่างกายทุกส่วน แต่พบได้บ่อยที่สุดบริเวณหลังส่วนล่าง คอ ไหล่ และเอ็นร้อยหวาย

    เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ ใยกล้ามเนื้อ และเอ็นที่ยึดกับกล้ามเนื้อ จะทำให้ กล้ามเนื้อฉีกขาด โดยอาจเกิดขึ้นทั้งหมดหรือเป็นบางส่วน กล้ามเนื้อฉีกขาด สามารถส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดฝอย ทำให้เกิดเลือดออกภายใน ซึ่งจะปรากฏให้เห็นเป็นรอยฟกช้ำ และอาจรู้สึกเจ็บปวดที่บริเวณนั้นได้

    อาการของ กล้ามเนื้อฉีก

    อาการของกล้ามเนื้อฉีกขาด ได้แก่

    • บวม ฟกช้ำ หรือแดง เนื่องจากได้รับบาดเจ็บ
    • ยังรู้สึกปวดแม้จะอยู่เฉย ๆ
    • รู้สึกปวดเมื่อใช้กล้ามเนื้อเฉพาะส่วนหรือข้อต่อที่เชื่อมกล้ามเนื้อส่วนนั้น
    • กล้ามเนื้อหรือเอ็นยึดกล้ามเนื้ออ่อนแรง
    • ใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นไม่คล่องเหมือนปกติ

    ในภาวะ กล้ามเนื้อฉีกขาด ที่ไม่รุนแรง คุณยังสามารถใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นได้อยู่ แม้จะขาดความยืดหยุ่นและความคล่องตัวไปบ้าง ในกรณีที่ กล้ามเนื้อฉีกขาด อย่างรุนแรง จะทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมากจนแทบไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

    กล้ามเนื้อฉีกขาด เล็กน้อย หรือปานกลางจะหายไปได้เอง เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 สัปดาห์ ขณะที่ภาวะ กล้ามเนื้อฉีกขาด อย่างรุนแรงอาจใช้เวลานานหลายเดือน

    สาเหตุของอาการ กล้ามเนื้อฉีก

    กล้ามเนื้อฉีกขาด มักเกิดขึ้นโดยทันทีทันใด การได้รับบาดเจ็บหรือเกิดบาดแผล อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อฉีกขาดได้ โดยมีปัจจัยหลายประการที่มักพบว่าเป็นสาเหตุของ กล้ามเนื้อฉีกขาด ได้แก่

    • ไม่อบอุ่นร่างกายก่อนเริ่มออกกำลังกาย
    • มีความยืดหยุ่นร่างกายไม่เพียงพอ
    • มีการใช้งานกล้ามเนื้อหนักเกินไป

    มีความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า การออกกำลังกายหนัก ๆ และการออกกำลังกายที่ใช้แรงมากจะทำให้ กล้ามเนื้อฉีกขาด ได้ จริง ๆ แล้ว สถานการณ์ต่อไปนี้ อาจทำให้คุณเสี่ยงเกิด กล้ามเนื้อฉีกขาด ได้ด้วยเช่นกัน

    • ลื่นล้มหรือเสียการทรงตัว
    • กระโดด
    • วิ่ง
    • โยนของ
    • ยกของหนัก
    • ยกของเมื่ออยู่ในท่าที่ไม่ถนัด

    การฉีกขาดของกล้ามเนื้อแบบฉับพลันยังเกิดขึ้นบ่อยในอากาศหนาว ซึ่งเป็นเพราะกล้ามเนื้อจะเกิดตะคริวได้ง่ายกว่าในสภาพอากาศเย็น ดังนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่คุณควรจะต้องอบอุ่นร่างกายอย่างเหมาะสม

    การปฐมพยาบาลสำหรับกล้ามเนื้อฉีกขาด

    กล้ามเนื้อฉีกขาด ส่วนมากสามารถรักษาได้ด้วยตัวคุณเอง

    อาการบวมหรือการเกิดเลือดออกภายในกล้ามเนื้อ (จากหลอดเลือดที่ฉีกขาด) ควรได้รับการปฐมพยาบาลเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยการใช้ถุงน้ำแข็งประคบ และจัดให้บริเวณที่มีอาการอยู่ในท่าที่สบาย จากนั้นจึงจะใช้การประคบร้อนเมื่อกล้ามเนื้อเริ่มดีขึ้นหรือความรุนแรงเริ่มบรรเทาลงแล้ว การใช้ความร้อนประคบตั้งแต่เริ่มทำให้อาการบวมและความเจ็บปวดรุนแรงมากกว่าเดิมได้

    หรือคุณอาจใช้สูตร PRICE ซึ่งประกอบด้วย การปกป้อง (Protection) การพัก (Rest) น้ำแข็ง (Ice) การรัด (Compression) และการยกสูง (Elevation) ซึ่งจะทำให้รักษา กล้ามเนื้อฉีกขาด ได้ผล ก่อนอื่นให้ถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับทั้งหมดในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ จากนั้น ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

    • ปกป้อง (Protection) ปกป้องกล้ามเนื้อฉีกไม่ให้เกิดการบาดเจ็บต่อไปอีก
    • การพัก (Rest) ให้บริเวณที่เกิดการบาดเจ็บได้พัก หลีกเลี่ยงการใช้กล้ามเนื้อนั้นสัก 2-3 วัน
    • น้ำแข็ง (Ice) ประคบน้ำแข็งทันทีหลังจากกล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ เพื่อลดอาการบวม ประคบประมาณ 20 นาทีต่อวัน
    • การรัด (Compression) สามารถใช้ผ้ารัดได้ ให้ห่อหุ้มบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บด้วยผ้าพันแผลแบบยืดได้จนกว่าอาการบวมจะยุบลง แต่อย่ารัดแน่นเกินไป เนื่องจากอาจส่งผลกับการไหลเวียนโลหิตได้
    • การยกสูง (Elevation) ถ้าเป็นไปได้ ให้ยกกล้ามเนื้อบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บขึ้นให้สูงกว่าระดับหัวใจ

    หมายเหตุ : ไม่ควรประคบน้ำแข็งหรือประคบร้อนที่ผิวหนังโดยตรง ให้วางก้อนน้ำแข็งหรือน้ำร้อนบนผ้าหรือผ้าขนหนูพับเป็นทบบนผิวเพื่อปกป้องผิวหนัง และอย่าทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เจ็บปวดเพิ่มขึ้น หรือใช้งานกล้ามเนื้อที่มีอาการ

    ควรขอความช่วยเหลือจากแพทย์เมื่อใด

    กรณีที่รุนแรงจะต้องได้รับการรักษาอย่างมืออาชีพจากแพทย์ ถ้าการบาดเจ็บไม่ดีขึ้นหลังจากทำการเยียวยาตัวเองโดยวิธีต่าง ๆ แล้ว ให้ขอความช่วยเหลือจากแพทย์

    การป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ

    • หลีกเลี่ยงไม่ให้ปวดกล้ามเนื้อด้วยการออกกำลังกายทุกวัน
    • อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายและเหยียดกล้ามเนื้อหลังจากนั้นด้วย
    • อย่านั่งท่าเดียวนาน ๆฝ
    • ยืนหรือนั่งในท่าที่เหมาะสม
    • ยกของอย่างระมัดระวัง
    • สวมรองเท้าที่ใส่สบาย

    ตามปกติแล้ว ด้วยการรักษาที่ถูกต้อง คนส่วนใหญ่จะสามารถหายจากอาการ กล้ามเนื้อฉีกขาด ได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนในกรณีที่ซับซ้อนขึ้นก็ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดโดยปราศจากผลข้างเคียง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พิมพร เส็นติระ · แก้ไขล่าสุด 12/03/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา