backup og meta

5 เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ การรักษาเส้นเลือดขอด ด้วยวิธีการฉีดยา

เขียนโดย ดร.พญ. ชนิศา เกียรติสุระยานนท์ · โรคผิวหนัง · สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    5 เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ การรักษาเส้นเลือดขอด ด้วยวิธีการฉีดยา

    คุณเคยได้ยินเรื่องการฉีดยารักษาเส้นเลือดขอด (sclerotherapy) หรือไม่ การฉีดยารักษาเส้นเลือดขอดเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับเส้นเลือดขอดและเส้นเลือดฝอยที่ขา (varicose andspider veins) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยๆ ส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอกและอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิตที่รุนแรง ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลพื้นฐานที่คุณจำเป็นต้องทราบ ก่อนเลือกวิธีการฉีดยาเพื่อ การรักษาเส้นเลือดขอด

    การฉีดยารักษาเส้นเลือดขอดช่วยอะไรได้บ้าง

    การรักษาเส้นเลือดขอดโดยวิธีการฉีดยา เป็นวิธีที่เหมาะกับเส้นเลือดขอดที่มีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร ที่เป็นแขนงบริเวณผิวหนัง โดยยังไม่ปรากฏความผิดปกติของลิ้น (valve)ในเส้นเลือดดำส่วนตื้น หรือเป็นเส้นเลือดขอดเล็กๆ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ หลังจากการผ่าตัดเส้นเลือดขอด การฉีดยารักษาเส้นเลือดขอด นอกจากจะทำให้รูปร่างลักษณะภายนอกของเส้นเลือดขอดดีขึ้นแล้ว ยังสามารถทำให้อาการและภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดีขึ้นได้อีกด้วย เช่น บรรเทาอาการเจ็บปวด อาการบวม ตะคริวหรือเหน็บชาได้

    การฉีดยารักษาเส้นเลือดขอดทำอย่างไร

    เมื่อเริ่มดำเนินการ แพทย์จะทำความสะอาดพื้นที่เป้าหมายด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ แล้วใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็กฉีดสารละลายเข้าไปยังเส้นเลือดขอด ยาที่ใช้เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการทำลายผนังของเส้นเลือดขอด (endothelium) โดยฉีดเข้าไปในเส้นเลือดดำที่ขอด เพื่อทำให้ผนังเส้นเลือดบวม และติดกันจนเลือดไม่สามารถไหลผ่านไปได้ และเกิดการแข็งตัวจนตีบตันในที่สุด เพียง 2-3 สัปดาห์เส้นเลือดขอดที่เคยโป่งพองก็จะยุบและจางหายไป โดยยาหรือสารเคมีที่แพทย์นำมาใช้ฉีดก็มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ชนิดที่ใช้บ่อยๆ จะมีชื่อว่า “เอธอกซีสเครอล” (Aethoxysklerol) ซึ่งมีความเข้มข้นตั้งแต่ 0.5-3% สารละลายนี้จะส่งผลต่อผนังชั้นในของเส้นเลือด ซึ่งเป็นการขัดขวางกระแสเลือดที่ไปหล่อเลี้ยง เส้นเลือดขอดจะกลายเป็นแผลเป็น ที่จะค่อยๆ หายไปในที่สุด ทำให้เลือดสามารถไหลไปยังเส้นเลือดที่แข็งแรงกว่าได้ ภายหลังการฉีด คุณอาจมีอาการเจ็บและไม่สบายตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ดี หากรู้สึกเจ็บมากเกินไปควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

    คุณสามารถใช้วิธีการนี้ได้หรือไม่

    ถึงแม้ว่าการฉีดยารักษาเส้นเลือดขอดจะเป็นหัตถการที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ผู้ที่มีภาวะบางประการอาจไม่สามารถเข้ารับการรักษาเส้นเลือดขอดด้วยวิธีนี้ได้ เช่น ผู้ที่มีประวัติการแพ้สารที่ใช้ฉีด มีประวัติเส้นเลือดอักเสบ เส้นเลือดขอดมีขนาดใหญ่ร่วมกับปัญหาเส้นเลือดดำส่วนลึก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือเคยมีประวัติลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น จึงควรนัดหมายแพทย์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับภาวะร่างกายและพิจารณาว่า การฉีดยารักษาเส้นเลือดขอดเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับคุณหรือไม่

    ผลที่ได้รับเป็นอย่างไร

    การรักษาด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง และต้องทำหลายครั้ง โดยเฉลี่ยคือประมาณ 3-4 ครั้งขึ้นไป แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1.5-2 เดือน ยกเว้นในผู้ป่วยที่เป็นมาก อาจต้องฉีดจำนวนครั้งมากกว่านี้ (แต่ในกรณีที่เป็นเส้นเลือดขอดใหญ่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด) และหลังการฉีดเสร็จแต่ละครั้งผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาที่ไม่หายขาด เส้นเลือดขอดใหม่อาจเกิดขึ้นได้ จึงควรเข้ารับการติดตามผลทุกเดือนกับแพทย์ที่ทำการรักษา เพื่อดูว่าการฉีดยารักษาเส้นเลือดขอดได้ผลหรือไม่ หรือจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเพิ่มเติมหรือไม่

    ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

    เช่นเดียวกับหัตถการอื่นๆ การฉีดยารักษาเส้นเลือดขอดอาจมีผลข้างเคียงได้ แต่พบได้ไม่บ่อย

    ผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง

    • อาการปวด บวมแดงบริเวณที่ฉีด
    • กรณีฉีดไม่เข้าเส้นเลือด ผิวหนังบริเวณนั้นอาจเปลี่ยนสีคล้ำขึ้น หรืออาจเกิดเป็นแผลได้
    • กรณีแพ้ยาที่ฉีดแบบไม่รุนแรงอาจเกิดรอยแดง มีอาการคันหรือมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง
    • มีจุดเลือดออกหรือรอยจ้ำเขียวที่ผิวหนัง

    ผลข้างเคียงชั่วคราวเหล่านี้มักจะหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา ภายในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ จนถึงหลายเดือน

    ผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น (แต่พบไม่บ่อย)

    • การแพ้สารที่ฉีดจนเกิดภาวะช็อค
    • ลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำส่วนลึก (deep vein thrombosis)
    • การติดเชื้อ
    • หลอดเลือดอักเสบ

    ดังนั้น ก่อนพิจารณาเลือกการรักษาโดยวิธีนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกครั้ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    เขียนโดย

    ดร.พญ. ชนิศา เกียรติสุระยานนท์

    โรคผิวหนัง · สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


    แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา