backup og meta

ตะคริวตอนกลางคืน สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พิมพร เส็นติระ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ตะคริวตอนกลางคืน สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่

    กล้ามเนื้อหดเกร็ง (Muscle spasm) เช่น ตะคริว ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงกลางคืนเป็นที่รู้จักในชื่อ ตะคริวตอนกลางคืน ซึ่งพบบ่อยบริเวณขา ภาวะนี้ตามปกติจะรบกวนการนอนหลับในตอนกลางคืน โดยอาจเกิดขึ้นในขณะที่คุณยังนอนไม่หลับ หรือขณะที่หลับไปแล้วก็ได้

    ตะคริวตอนกลางคืน (Nocturnal Leg Cramps) สามารถเกิดได้ที่บริเวณของขาในหลายตำแหน่ง เช่น กล้ามเนื้อน่อง ต้นขา และเท้า ภาวะหดเกร็งก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด และทำให้กล้ามเนื้อส่วนที่เกิดอาการรู้สึกแน่นหรืออึดอัด อาการนี้อาจเกิดนานหลายวินาทีจนถึงหลายนาที แม้ว่าอาการนี้มักจะพบบ่อยกว่าในวัยผู้ใหญ่อายุมากกว่า 50 ปี แต่ก็อาจเกิดขึ้นกับเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยกว่าได้ และเกิดได้ทั้งในเพศหญิงและชาย

    สาเหตุของ ตะคริวตอนกลางคืน

    มีการศึกษาหลายชิ้นแนะนำว่า อาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อเป็นสาเหตุหลักของตะคริวที่ขา ตัวอย่างเช่น การศึกษาเกี่ยวกับนักกีฬาประเภทที่ใช้ความทนทาน แสดงให้เห็นว่าตะคริวที่ขาเกิดขึ้นเมื่อนักกีฬาออกกำลังกายโดยใช้แรงมากกว่าปกติ การที่ร่างกายเกิดความความอ่อนล้า ขาดออกซิเจน ซึ่งทำให้เกิดการสะสมของเสียภายในร่างกายตลอดทั้งวัน และทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งและเป็นตะคริวได้ในตอนกลางคืน

    ไม่เพียงแต่การออกกำลังกายเท่านั้น การออกแรงมากเกินไปหรือทำกิจกรรมติดต่อกันนานเกินไป เช่น การนั่งเป็นระยะเวลานานๆ การยืนหรือเดินบนพื้นคอนกรีต หรือการนั่งไม่ถูกท่าก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าคนที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติทางโครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบน จะเกิดตะคริวที่กล้ามเนื้อได้มากกว่าคนทั่วไป

    บางครั้งอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อตอนกลางคืน ยังเป็นสัญญาณแสดงของปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ ได้แก่ ภาวะเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น พาร์กินสัน หรือความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ เช่น โรคเบาหวาน และ ภาวะขาดไทรอยด์ ความไม่สมดุลของระดับอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย รวมทั้งผู้ที่เกิดภาวะขาดน้ำ หรือผู้ที่เข้ารับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ทั้งหมดข้างต้นก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดตะคริวได้เช่นกัน

    การใช้ยาบางชนิด ก็มีความเกี่ยวข้องกับอาการตะคริวที่ขาตอนกลางคืนด้วยเช่นกัน ซึ่งได้แก่ ยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มสแตตินและสารในกลุ่มบีตา-อะโกนิสต์ (Beta-Agonist)

    หญิงตั้งครรภ์ มีโอกาสเกิดตะคริวที่ขาและเท้าตอนกลางคืนได้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สาม เหตุผลอาจเกิดจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น การขาดน้ำ การขาดสารอาหาร โดยเฉพาะแมกนีเซียม รวมทั้งการใช้ยาและปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่

    การรักษาภาวะตะคริวตอนกลางคืน

    การยืดเหยียดกล้ามเนื้อและการนวดจนถึงเนื้อเยื่อชั้นลึก เป็นวิธีการที่มีประโยชน์ และอาจช่วยได้เมื่อคุณเป็นตะคริวที่ขาตอนกลางคืน วิธีเบื้องต้นในการบรรเทาอาการคือ ให้เหยียดกล้ามเนื้อก่อน โดยยืดขาและเกร็งส้นเท้าและให้หันหัวแม่เท้าและนิ้วเท้าเข้าหาหน้าแข้ง แล้วจึงนวดบริเวณนั้นเพื่อคลายกล้ามเนื้อ คุณอาจใช้วิธีประคบร้อนหรือครีมบรรเทาปวดทาบริเวณนั้นเพื่อบรรเทาอาการ ทางที่ดีที่สุดคือ คุณควรหาสาเหตุที่เป็นไปได้ของการเกิดตะคริว รวมทั้งป้องกันการเกิดอาการด้วยการดื่มน้ำเยอะๆ หลีกเลี่ยงอย่าให้เกิดอาการกล้ามเนื้อฉีกขาดรุนแรงในระหว่างวัน และปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นและวิธีดูแลรักษา

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พิมพร เส็นติระ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา