backup og meta

ตากระตุก เป็นลาง...ว่าคุณอาจมีปัญหาสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    ตากระตุก เป็นลาง...ว่าคุณอาจมีปัญหาสุขภาพ

    อาการ ตากระตุก หรือ ตาเขม่น หลายคนอาจคิดว่านี่เป็นเรื่องของโชคลาง หรือลางบอกเหตุอะไรบางอย่าง แม้เราจะไม่รู้แน่ชัดว่าอาการตากระตุกนี้เป็นลางบอกเหตุจริงหรือไม่ แต่อย่างหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ อาการตากระตุกที่เกิดขึ้น อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าสุขภาพของคุณกำลังมีปัญหาซึ่งคุณไม่ควรละเลย

    ตากระตุกคืออะไร

    ตากระตุก หรือ หนังตากระตุก (eyelid twitch) ที่หลายคนเรียก “ตาเขม่น” นั้น ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะกล้ามเนื้อหนังตากระตุก (Blepharospasm) เกิดจากการส่งกระแสประสาทมาหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อออบิคูลารีสออรีส (orbicularis oris muscle) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่เรียงอยู่รอบเปลือกตาหรือหนังตาบนและล่างมากเกินไป ทำให้เปลือกตากระตุกเองแบบไม่สามารถควบคุมได้ มักเกิดกับเปลือกตาบน และเป็นที่ตาข้างเดียว โดยเปลือกตาจะกระตุกยิบๆ ต่อเนื่องเป็นพักๆ ส่วนใหญ่จะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางคนอาจมีอาการยาวนานเป็นปี

    ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะ ตากระตุก

    ตากระตุกส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพร้ายแรง และมักมาจากสิ่งกระตุ้นเหล่านี้

    • ความเครียดและความวิตกกังวล
    • ความเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย
    • อาการตาล้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการตาล้าที่เกิดจากการจ้องหน้าจอเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เป็นเวลานาน
    • สภาพแวดล้อม เช่น ลม แสงสว่าง แสงแดด มลภาวะทางอากาศ
    • การอดนอน
    • การสูบบุหรี่
    • การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำอัดลม
    • อาการภูมิแพ้ขึ้นตา
    • การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม วิตามินบี 12 วิตามินดี
    • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคลมชัก ยารักษาอาการวิกลจริต

    แต่หากตาของคุณกระตุกไม่หายและมีอาการอื่นร่วมด้วย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังมีปัญหาสุขภาพ ดังนี้

    ปัญหาสุขภาพตา เช่น

    • เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis)
    • กระจกตาถลอก (Corneal abrasion)
    • ภาวะตาแห้ง
    • ภาวะหนังตาม้วนเข้าใน
    • โรคต้อหิน

    ความผิดปกติทางระบบประสาทและสมอง เช่น

    • ภาวะกล้ามเนื้อคอเกร็งตัว
    • ภาวะกล้ามเนื้อเต้นกระตุกชนิดธรรมดา (Benign Fasciculation Syndrome / BFS)
    • ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งกระตุก (dystonia)
    • โรคอัมพาตใบหน้า
    • โรคปลอกประสาทอักเสบชนิดเอ็มเอส (multiple sclerosis / MS)
    • โรคพาร์กินสัน
    • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (Amyotrophic Lateral Sclerosis / ALS) หรือที่เรียกว่า โรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม (Motor neurone disease / MND)

    ทำอย่างไรตาจึงจะหายกระตุก

    ตากระตุกส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 2-3 วัน หรือบางรายอาจใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ แต่หากทำตามคำแนะนำเหล่านี้อาจช่วยให้อาการตากระตุกของคุณดีขึ้นได้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ประคบตาด้วยผ้าอุ่นเพื่อบรรเทาอาการตาล้า
  • ทำกิจกรรมคลายเครียด เช่น เล่นโยคะ ฟังเพลง นั่งสมาธิ ฝึกควบคุมลมหายใจ ใช้เวลากับเพื่อน หรือสัตว์เลี้ยง
  • ลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ชอกโกแลต น้ำอัดลม รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วย
  • หากต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ควรใช้กฎ 20-20-20 นั่นคือ จ้องหน้าจอ 20 นาที มองไปที่ไกลๆ อย่างน้อย 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาทีหรือนานกว่านั้น
  • หยอดน้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาเพื่อให้ตาชุ่มชื้นอยู่เสมอ
  • หากคุณสงสัยว่าอาการตากระตุกที่เกิดขึ้นเป็นเพราะยาบางชนิดที่กินอยู่ ไม่ควรหยุดยาเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ทันที
  • อย่ากังวลเกินเหตุ เพราะภาวะตากระตุกส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายและหายได้เอง หากกังวลมากไปอาจทำให้อาการยิ่งแย่ลง
  • การรักษา

    หากใช้วิธีข้างต้นแล้วอาการตากระตุกของคุณยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้คุณรักษาด้วยวิธีเหล่านี้

    • การใช้ยา เช่น โคลนาซีแพม (Clonazepa) ลอราซีแพม (Lorazepam) ไตรเฮกซีเฟนิดิล (Trihexyphenidyl) ซึ่งต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น
    • การฉีดโบท็อกซ์ (Botulinum toxin / Botox) ซึ่งการฉีดแต่ละครั้งจะช่วยให้ตาหายกระตุกได้ประมาณ 3-4 เดือน
    • การผ่าตัด ในกรณีที่ตากระตุกรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอากล้ามเนื้อและเส้นประสาทบางส่วนที่เปลือกตาออกไป

    หากเป็นแบบนี้ ควรปรึกษาแพทย์

    หากตาของคุณกระตุกเรื้อรัง นานแล้วไม่หายสักที นั่นอาจเป็นสัญญาณของอาการทางสมองหรือระบบประสาทร้ายแรง เมื่อตากระตุกไม่หายร่วมกับอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

    • ตาบวม แดง หรือมีของเหลวไหลออกจากตา
    • หนังตาตก
    • ตากระตุกแรงจนหนังตาบนและล่างปิดสนิท
    • ตากระตุกติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์
    • มีอาการกระตุกที่กล้ามเนื้อในหน้าหรือกล้ามเนื้อในส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา