backup og meta

ปวดเฉียบพลัน VS ปวดเรื้อรัง ความแตกต่างในความเหมือน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 16/10/2020

    ปวดเฉียบพลัน VS ปวดเรื้อรัง ความแตกต่างในความเหมือน

    ความปวดเป็นอาการที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยประสบ ความปวดทำให้เรารู้สึกไม่สบายตัว บางครั้งส่งผลกระทบต่อจิตใจ หากปวดบ่อยๆ หรือรุนแรง อาจส่งผลเสียกับการทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วย อาการปวดนั้นสามารถจำแนกได้หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ การจำแนกตามระยะเวลาในการเกิดอาการ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ปวดเฉียบพลัน และ ปวดเรื้อรัง วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลเรื่องนี้มาให้อ่านกันค่ะ

    ปวดเฉียบพลัน คืออะไร

    อาการปวดเฉียบพลัน (Acute pain) คือ อาการปวดที่เกิดขึ้นกะทันหัน รวดเร็วและรุนแรง เป็นปฏิกิริยาตอบสนองจากระบบประสาท ที่คอยเตือนว่าร่างกายเราอาจกำลังได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่เกิดจากเนื้อเยื่อ เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ หรืออวัยวะถูกทำลาย เพราะโรคภัยไข้เจ็บหรืออุบัติเหตุบางประการ เช่น กระดูกหัก ปวดแผลผ่าตัด มีดบาด ฆ้อนตกใส่เท้า ถือเป็นความปวดที่มีสาเหตุแน่ชัด มีระยะเวลาที่แน่นอน ส่วนใหญ่จะเป็นไม่เกิน 6 เดือน และจะหายไปเมื่อรักษาโรคหรืออาการบาดเจ็บที่เป็นสาเหตุให้ปวดจนหายดีแล้ว

    ปวดเรื้อรัง คืออะไร

    อาการปวดเรื้อรัง (Chronic pain) คือ อาการปวดที่เกิดขึ้นนานกว่า 3 เดือน ส่วนใหญ่มักจะพัฒนามาจากอาการปวดเฉียบพลันที่รักษาแบบไม่ถูกวิธี เมื่อโรคหรืออุบัติเหตุที่เป็นสาเหตุของการปวดหายดีแล้ว อาการปวดจึงไม่หายตาม แต่กลับกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังแทน อาการปวดเรื้อรังส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น

    • เส้นประสาทถูกทำลาย
    • โรคเบาหวาน
    • โรคมะเร็ง
    • โรคข้ออักเสบ
    • ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome)
    • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
    • โรคไฟรโบมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังทั่วร่าง
    • กลุ่มโรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease) ได้แก่ โรคลำไส้อักเสบตลอดทั้งลำไส้ หรือโรคโครห์น (Crohn’ s disease) และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล (Ulcerative colitis)
    • โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง (Interstitial Cystitis)
    • ภาวะปวดปากช่องคลอดเรื้อรัง (vulvodynia)

    ความปวดเรื้อรังสามารถเกิดได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย อาจปวดมากหรือน้อย ปวดเป็นพักๆ  หรือปวดต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ปวด มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนล้า กล้ามเนื้อตึง ซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่อยากอาหาร ความปวดเรื้อรังที่พบบ่อย ได้แก่

    • ปวดศีรษะ
    • ปวดหลัง
    • ความปวดเรื้อรังหลังผ่าตัด
    • ความปวดที่เกิดจากโรคมะเร็ง
    • ความปวดที่เกิดจากโรคข้ออักเสบ
    • ความปวดประสาทจากเส้นประสาทถูกทำลาย
    • ความปวดที่เกิดจากสภาพจิตใจ

    ความปวดชนิดนี้มักเกิดกับผู้สูงอายุ แต่หากคุณเคยประสบอุบัติเหตุ เคยเข้ารับการผ่าตัด เป็นผู้หญิง หรือน้ำหนักตัวเกิน ก็อาจทำให้เสี่ยงมีอาการปวดเรื้อรังมากกว่าปกติได้

    ปวดเฉียบพลัน ปวดเรื้อรัง แตกต่างกันอย่างไร

    ลักษณะของอาการปวดเฉียบพลันและปวดเรื้อรังที่สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ได้แก่

    อาการปวดเฉียบพลัน

    • มีอาการไม่เกิน 3 เดือน
    • มีสาเหตุแน่ชัด และรักษาได้
    • รักษาได้หลายวิธี
    • วิธีการรักษาส่วนใหญ่ปลอดภัย

    อาการปวดเรื้อรัง

    • มีอาการนานเกิน 3 เดือน และบางครั้งอาจนานเป็นปี
    • ส่วนใหญ่ไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด หรือเป็นสาเหตุที่รักษาไม่ได้
    • มีวิธีรักษาน้อย
    • วิธีรักษาบางวิธีอาจเป็นอันตรายได้

    วิธีบรรเทาความปวดเรื้อรัง

    บรรเทาปวดด้วยยา

    ยาที่สามารถลดอาการปวดเรื้อรังได้มีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน ที่นิยมใช้ได้แก่

    • ยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน หรือที่เรียกว่า พาราเซตามอล และยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) เช่น แอสไพริน ยาไอบูโพนเฟน (ibuprofen) ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
    • ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (opioid) เช่น มอร์ฟีน โคเอดีน (codeine) ไฮโดรโคโดน (hydrocodone) ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น
    • ยาที่มีฤทธิ์ส่งเสริมการระงับปวด เช่น ยาต้านซึมเศร้า (antidepressants) ยากันชัก (Anticonvulsants)

    รักษาด้วยหัตถการทางการแพทย์

    หัตถการที่นิยมใช้เพื่อรักษาอาการปวดเรื้อรังในปัจจุบัน เช่น การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า การฉีดยาชาระงับความรู้สึก การผ่าตัด รวมไปถึงวิธีทางการแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม การจัดกระดูกสันหลัง การนวดบำบัด ซึ่งควรทำโดยแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เชื่อถือได้เท่านั้นเพื่อความปลอดภัย

    รักษาด้วยกายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัด

    กายภาพบำบัดจะมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูกล้ามเนื้อจากการบาดเจ็บ ช่วยให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นและแข็งแรงขึ้น ส่วนกิจกรรมบำบัดจะมุ่งเน้นไปที่การฝึกทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยให้คุณดำเนินชีวิตได้สะดวกและปวดน้อยลง เช่น การขึ้นลงบันได การเปิดฝากระปุกเครื่องปรุง การก้าวขึ้นลงรถยนต์

    ดูแลสุขภาพกายใจให้แข็งแรง

    อาการปวดเรื้อรังไม่เพียงแต่ทำให้ร่างกายของคุณไม่แข็งแรง แต่ยังสามารถส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เช่น ทำให้เครียด โมโหร้าย ซึมเศร้าได้อีกด้วย การออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมผ่อนคลาย จะช่วยให้สุขภาพกายใจของคุณแข็งแรงขึ้น อาการปวดเรื้อรังลดลง อย่างไรก็ตาม คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าการออกกำลังกายประเภทใดที่ปลอดภัย และเหมาะสมกับคุณ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 16/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา