backup og meta

มลพิษทางอากาศ ไม่ใช่แค่ปอดพัง แต่ทำร้ายยันหัวใจและหลอดเลือด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 08/02/2021

    มลพิษทางอากาศ ไม่ใช่แค่ปอดพัง แต่ทำร้ายยันหัวใจและหลอดเลือด

    มลพิษ ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ ที่ส่งผลเสียต่อทั้งสภาพแวดล้อม การดำรงชีวิต และสุขภาพของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มลพิษทางอากาศ เพราะเราต้องหายใจเอาอากาศเข้าร่างกายทุกวัน เมื่ออากาศเป็นพิษ ฝุ่นละอองปกคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ นั่นเท่ากับว่า เราสูดเอาอากาศเป็นพิษเข้าร่างกาย มลพิษทางอากาศที่เราสูดดมเข้าไปนั้น ไม่ได้ส่งผลเสียกับแค่อวัยวะ หรือระบบใดระบบหนึ่งในร่างกาย แต่ทำร้ายร่างกายเราได้แทบทุกส่วน ยิ่งหากเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก อย่างฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 (PM2.5) ที่เล่นงานเราหนักขึ้นทุกวัน ก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้นไปอีก

    มลพิษทางอากาศ คืออะไร

    มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) คือ ภาวะอากาศที่มีฝุ่นละออง (Particulate Matter) สารเคมี สารประกอบ โมเลกุลชีวภาพ หรือวัตถุที่เป็นพิษเจือปนอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ พืช และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือวัสดุต่างๆ

    สารเจือปนในอากาศ หรือมลพิษทางอากาศที่พบอาจอยู่ในรูปของก๊าซ หยดของเหลว หรืออนุภาคของแข็ง มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ฝุ่นละอองจากลมพายุ ภูเขาไฟระเบิด ไฟไหม้ป่า และเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ฝุ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ การสูบบุหรี่ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศมากที่สุดก็คือ การใช้ยานพาหนะ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การทำการเกษตร และกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของมนุษย์ทั้งสิ้น

    ผลเสียต่อร่างกาย… มีมากกว่าแค่ที่ปอด

    ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในแต่ละปี มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 7 ล้านราย หนึ่งในสามของการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งปอด และโรคหัวใจก็มีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ ความจริงแล้ว ฝุ่นละออง ควันพิษ และมลพิษทางอากาศรูปแบบต่างๆ ที่เรารับเข้าไปในร่างกาย ไม่ได้ทำร้ายแค่ปอดอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่เป็นภัยต่ออวัยวะหลายส่วน และก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย เช่น

    • ทำให้เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ และวิตกกังวล
    • ทำให้ปอดต้องทำงานหนักขึ้น
    • ทำให้เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบ
    • สร้างความเสียหายให้กับหัวใจและหลอดเลือด
    • ทำให้ดวงตา จมูก และลำคอระคายเคือง
    • ทำลายอวัยวะและระบบสืบพันธุ์
    • ทำร้ายตับ ม้าม และเลือด
    • ทำลายระบบประสาท

    อากาศเป็นพิษ ใครบ้างที่ต้องระวังเป็นพิเศษ

    • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี และผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
    • ผู้ที่เป็นโรคปอด เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
    • สตรีมีครรภ์
    • ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง หรือนอกอาคาร
    • ผู้สูงอายุ
    • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี
    • ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นประจำ

    มลพิษทางอากาศมากมาย… ป้องกันสุขภาพอย่างไรดี

    การรับมลพิษทางอากาศเข้าสู่ร่างกาย สามารถทำร้ายสุขภาพได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คุณจึงไม่ควรชะล่าใจ และควรป้องกันสุขภาพด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

    • ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เพราะการผลิตกระแสไฟฟ้าถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่สร้างมลพิษทางอากาศ เมื่อมลพิษน้อยลง ก็เท่ากับความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพลดลงไปด้วย
    • ตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศรายวันในพื้นที่ จากเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชัน ก่อนออกจากบ้าน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง
    • หลีกเลี่ยงการเดินริมถนน ในช่วงเวลาที่มีการจราจรหนาแน่น หรือหากจำเป็นและมีเด็กไปด้วย ควรอุ้มเด็กให้อยู่สูงกว่าระดับท่อไอเสียรถยนต์
    • งดทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงเวลา  และบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศสูง และไม่ปล่อยให้ลูกหลานใช้เวลาอยู่นอกบ้านนานเกินไป
    • ไม่ออกกำลังกายในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น เช่น พื้นที่ว่างตามสี่แยกไฟแดง เพราะถึงแม้ข้อมูลคุณภาพอากาศรายวันจะแจ้งว่าคุณภาพอากาศในพื้นที่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย แต่การจราจรที่คับคั่ง ก็สามารถสร้างและกระจายมลพิษไปได้ในรัศมีกว่า 500 เมตร
    • ใช้ขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว หรืออาจเลือกเดิน ปั่นจักรยาน หากจุดหมายปลายทางอยู่ใกล้ๆ
    • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือต้องสัญจรผ่านพื้นที่ที่มีฝุ่นละออง

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 08/02/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา