backup og meta

สัญญาณเหล่านี้อาจบ่งบอกว่าคุณมี อาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 21/01/2021

    สัญญาณเหล่านี้อาจบ่งบอกว่าคุณมี อาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อม

    ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เป็นกลุ่มอาการที่ผู้ป่วยจะมีความคิด การสื่อสาร และความจำบกพร่อง บางครั้งคุณอาจมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ หรือว่าสูญเสียความทรงจำ แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ปัญหาเหล่าเป็นปัญหาภาวะสมองเสื่อม การที่จะมีภาวะสมองเสื่อมจะต้องมีความบกพร่องอย่างน้อย 2 ประเภท ซึ่งปัญหาเหล่านั้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จนต้องเข้ารับการวินิจฉัยจากคุณหมอว่ามีอาการของภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ วันนี้ Hello คุณหมอ มี สัญญาณ อาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อม มาให้อ่านกันค่ะ

    รู้จักกับอาการสมองเสื่อม

    ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เป็นกลุ่มอาการที่ส่งผลความจำ ความคิด และการสื่อสาร ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อผู้ป่วย จนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากโรคอื่น ๆ จนทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ถึงแม้ว่าภาวะสมองเสื่อมนั้นจะเกี่ยวข้องกับการสูญเสียความทรงจำ แต่บางครั้งการที่คุณสูญเสียความทรงจำ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าคุณมีภาวะสมองเสื่อม

    โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) เป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยที่สุด ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ แต่ก็มียังมีสาเหตุและโรคอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคสมองเสื่อม ซึ่งในแต่ละโรคก็จะมีสาเหตุและอาการที่แตกต่างกันออกไป

    สัญญาณ อาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อม

    สำหรับผู้ที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมจากแพทย์ จะต้องมีอาการของภาวะสมองเสื่อมอย่างน้อย 2 ประเภท ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งสัญญาณและอาการเหล่านี้อาจบ่งบอกได้ว่านี่คืออาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อม

    เกิดความเปลี่ยนแปลงกับความจำระยะสั้น

    การมีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำ ถือเป็นปัญหาเริ่มต้นที่มักจะพบในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะความจำระยะสั้น โดยจะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น จำได้ว่าไปกินข้าวที่ไหนมา แต่จำไม่ได้ว่ากินอะไรไปบ้าง นอกจากนี้อาการอื่น ๆ ของการเปลี่ยนแปลงความทรงจำระยะสั้น เช่น ลืมว่าวางของไว้ที่ไหน

    มีปัญหาในการสื่อสาร

    อาการเริ่มต้นภาวะสมองเสื่อมอีกอย่างคือการบกพร่องทางการสื่อสาร ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมมักจะมีปัญหาในการสื่อสารและอธิบายความคิดของตัวเองออกไปให้ผู้อื่นได้รับรู้ได้อย่างยากลำบาก บางครั้งก็เลือกคำที่จะต้องอธิบายความคิดไม่ถูก จึงทำให้ใช้เวลานานกว่าปกติในการสื่อสาร นอกจากนี้ระหว่างสื่อสารอาจหยุดอย่างกะทันหันและลืมไปว่าจะพูดอะไรต่อ

    สับสนเวลาหรือสถานที่

    ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักจะมีปัญหาในการจดจำวันที่ ฤดู และช่วงเวลาต่าง ๆ บางครั้งพวกเขาก็อาจจะลืมไปว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน หรือลืมไปว่ามาที่ตรงนั้นได้อย่างไร

    อารมณ์เปลี่ยนแปลง

    การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไปในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจะไม่สามารถสังเกตหรือรู้ตัวเองว่ามีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ นอกจากการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์แล้ว ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพด้วย เช่น ปกติเป็นคนขี้อาย แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง อาจจะมีความกล้ามากขึ้น

    มีปัญหากับตัวเลข

    การจัดการการเงินหรือเรื่องบัญชี ปกติก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับทุกคนอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม เรื่องการเงินและเรื่องตัวเลขนั้นถือว่าเป็นปัญหาอย่างมาก พวกเขาจะไม่เข้าใจและรู้ได้ว่าตัวเลขเหล่านั้นหมายความว่าอย่างไร

    สูญเสียความสามารถในการรับรู้ระยะทาง

    การกะระยะและการรู้ทิศทางถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่สามารถรับรู้ได้ แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาภาวะสมองเสื่อมมักจะสูญเสียความสามารถในการรับรู้ระยะทางและการดูทิศทาง ทำให้เกิดปัญหาในการขับรถ เช่น กะระยะห่างจากรถคันหน้าไม่ถูก

    ทำซ้ำ ๆ

    การทำเรื่องเดิมซ้ำ ๆ เช่น โกนหนวดซ้ำ แปรงฟันซ้ำ ถามคำถามเดิมซ้ำถึงแม้ว่าจะได้คำตอบไปแล้ว ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม มักลืมสิ่งที่ทำลงไป ทำให้เกิดพฤติกรรมการทำเรื่องเดิมซ้ำ

    กลัวการเปลี่ยนแปลง

    ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมมักจะลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทำให้กลัวการเปลี่ยนแปลงหรือการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ ๆ

    การลืมสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่สัญญาณของภาวะสมองเสื่อม การลืมถือเป็นเรื่องปกติเมื่อเราอายุมากขึ้น แต่ก็ไม่ควรละเลยปัญหาจากการหลงลืมที่เกิดขึ้น หากมีปัญหาหรืออาการต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเข้าปรึกษากับคุณหมอถึงอาการที่เกิดขึ้นเพื่อวินิจฉัยต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 21/01/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา