backup og meta

เท้าเหม็น จนแทบสลบ เกิดจากอะไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 25/09/2020

    เท้าเหม็น จนแทบสลบ เกิดจากอะไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

    การมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ไม่ใช่เรื่องตลก โดยเฉพาะกับ กลิ่นเท้า ที่เหม็นหนักมาก ถอดรองเท้าออกมาทีกลิ่นแทบจะพาคนรอบข้างสลบ หรือต่อให้ไม่ถอดรองเท้าก็ยังได้กลิ่นเล็ดลอดออกมาอยู่ดี นี่เป็นปัญหาสุขภาพที่ทำให้ใครหลายคนหมดความมั่นใจกันมานักต่อนักแล้ว และถ้าใครที่กำลังประสบกับปัญหา เท้าเหม็น อยู่ล่ะก็ วันนี้ Hello คุณหมอ มีวิธีป้องกันเท้าเหม็นและเคล็ดลับการดูแลเท้ามาฝากค่ะ

    ทำไมถึง เท้าเหม็น

    อาการเท้าเหม็น (Bromodosis) เป็นปัญหาทั่วไปที่เกิดขึ้นได้กับใครหลายคน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่เหงื่อออกบริเวณเท้า ยิ่งเหงื่อออกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของอาการเท้าเหม็นมากเท่านั้น โดยเหงื่อที่ออกมานั้นก็จะทำให้เกิดอาการอับชื้น เมื่อเกิดการอับชื้นขึ้นที่เท้า ก็จะเป็นการกระตุ้นให้แบคทีเรียที่ผิวหนังบริเวณเท้ามีการเจริญเติบโตมากขึ้น แบคทีเรียที่เพิ่มจำนวนขึ้นมานั้นก็จะเข้าไปจัดการสลายสสารในเหงื่อ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นที่ไม่ถึงประสงค์ออกมา

    ดังนั้นผู้ที่มีแนวโน้มของอาการเหงื่อออกมากกว่าปกติ ก็จะมีแนวโน้มที่จะมี กลิ่นเท้า เหม็น มากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในวัยรุ่น หรือสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางฮฮร์โมนอยู่ตลอดเวลา และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายก็มีผลทำให้มีเหงื่อออกมากกว่าปกติ นอกจากนี้ผู้ที่รับประทานยารักษาโรคบางชนิด ตัวยาบางชนิดก็อาจมีผลข้างเคียงทำให้มีเหงื่อออกมากขึ้นได้เหมือนกัน

    เท้าเหม็น-สาเหตุ-วิธีป้องกัน

    มีวิธีป้องกันเท้าเหม็นอย่างไรบ้าง

    ปัญหาเรื่องของกลิ่นไม่ว่าจะเป็นกลิ่นตัว กลิ่นเท้า หรือกลิ่นปาก ความสะอาดเป็นวิธีสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้ โดยเฉพาะถ้ามีเหงื่อออกที่เท้ามาก หรือมีอาการเท้าเหม็น ยิ่งต้องใส่ใจกับความสะอาดของเท้า และดูแลเอาใจใส่เท้าดังต่อไปนี้

    • ล้างทำความสะอาดเท้า ด้วยสบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่มีคุณสมบัติต้านหรือลดแบคทีเรียอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
    • อย่าปล่อยให้เท้าเปียก หากเท้าเปียกรีบทำให้เท้าแห้ง โดยเฉพาะช่วงง่ามนิ้วเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าเกิดความอับชื้น
    • เปลี่ยนรองเท้าเสียบ้าง หากเป็นไปได้พยายามหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าคู่เดิมติดต่อกัน ควรเว้นระยะการใช้งานรองเท้าคู่หนึ่งเพื่อให้รองเท้าได้มีเวลาในการระบายความอับชื้น หรือลดความเปียกชื้นของรองเท้าบ้าง
    • เปลี่ยนถุงเท้าเป็นประจำ และควรเลือกใช้ถุงเท้าที่มีเนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี
    • ตัดเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ และตะไบผิวหนังส่วนที่แตกหรือแห้งออกไป เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย
    • ใช้ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเป็นคนที่มีเหงื่อออกมากกว่าปกติ คุณอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่น ดังนี้
    • ควรพกสเปรย์หรือผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นติดตัวไว้เสมอ หากรู้สึกไม่สบายใจกับ กลิ่นเท้า ของตนเอง สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นได้ทันที
    • ลองใช้วิธีการติดแผ่นยาแปะเท้าหรือแผ่นยาแปะรองเท้า (Medicated insoles) ที่มีฤทธิ์ในการดับกลิ่
    • ใช้ผลิตภัณฑ์แป้งที่มีคุณสมบัติดับกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • เลือกสวมถุงเท้าซับเหงื่อโดยเฉพาะ หรือถุงเท้าสำหรับนักกีฬาบางประเภทที่มีคุณสมบัติในการซับเหงื่อและระบายอากาศได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่คับหรือแน่นจนเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้เหงื่อออกมากขึ้น และเกิดการกักเก็บความชื้นจากเหงื่อ
  • รักษาความสะอาดของรองเท้าที่สวมอยู่เสมอ เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียในรองเท้า และลดปัญหา กลิ่นเท้า หรือกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์จากรองเท้าด้วย
  • เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    โดยทั่วไปแล้วปัญหาเรื่องของ กลิ่นเท้า หรือเท้าเหม็น สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เพียงรักษาความสะอาด ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ลดแบคทีเรีย หรือผลิตภัณฑ์สำหรับดับกลิ่น ก็สามารถช่วยลดอาการเท้าเหม็นได้ อย่างไรก็ตาม หากอาการเท้าเหม็นทำให้รู้สึกไม่สบายใจ หรือทดลองหลายวิธีแล้วก็ยังไม่หายเท้าเหม็น สามารถไปพบคุณหมอเพื่อขอรับคำแนะนำและการรักษาได้

    นอกจากนี้ถ้าหากมีแผลที่บริเวณเท้าแล้วแผลไม่หายสักที ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียในรองเท้า หรือเกิดการสะสมของแบคทีเรียจากเหงื่อที่เท้าจนทำให้แผลติดเชื้อ ควรไปพบคุณหมอ หรือถ้าหากมีปัญหาเหงื่อออกมากผิดปกติ สามารถไปพบคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำหรือขอรับยาที่มีฤทธิ์ระงับอาการเหงื่อออกมากผิดปกติได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 25/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา